“ในที่สุดเราก็พบกับปรากฏารณ์ลานีญา” Erica Grow นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศของ NOAA กล่าวกับ USA Today
หลังจากที่อุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์ลานีญา มีโอกาส 60% ที่จะเกิดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2024 และมีโอกาส 70% ที่จะเกิดขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2024 แม้ว่าจะล่าช้าไปหลายเดือน แต่ล่าสุด สำนักงานบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ได้เผยแพร่รายงานว่า ขณะนี้ปรากฏการณ์ “ลานีญา” ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยจะมีผลทำให้น้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเย็นลง
![[ECO EYES - News] มาช้ากว่ากำหนด ‘ลานีญา’ เริ่มแล้ว-SPACEBAR-Photo01.jpg](/_next/image?url=https%3A%2F%2Fcdn.spacebar.th%2FECO_EYES_News_SPACEBAR_Photo01_c6257bb0a1.jpg&w=3840&q=75)
ลานีญาคืออะไร?
ลานีญา เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรการหมุนเวียนกระแสอากาศและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก (Eastern Tropical Pacific Ocean) ที่เรียกว่า El Niño – Southern Oscillation (ENSO) หรือเรียกสั้นๆ ว่าวัฏจักรเอนโซ ซึ่งเป็นวงจรธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่าง “เอลนีโญ” (El Niño หรือปรากฏการณ์น้ำทะเลอุ่น) และ “ลานีญา” (La Niña หรือปรากฏการณ์น้ำทะเลเย็น) ในมหาสมุทรแปซิฟิก
เมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลในบริเวณตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก “ลดลง” ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 0.5 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน จะถือว่าเกิด “ลานีญา”
ในทางกลับกัน “เอลนีโญ” เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเล “สูงกว่า” ค่าเฉลี่ย 0.5 องศาเซลเซียส โดยทั้งสองปรากฏการณ์นี้มีผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลก
![[ECO EYES - News] มาช้ากว่ากำหนด ‘ลานีญา’ เริ่มแล้ว-SPACEBAR-Photo02.jpg](/_next/image?url=https%3A%2F%2Fcdn.spacebar.th%2FECO_EYES_News_SPACEBAR_Photo02_197b96af86.jpg&w=3840&q=75)
ทำไมลานีญาจึงเกิดช้ากว่าที่คาด
ปรากฏการณ์ลานีญารอบนี้เริ่มปรากฏตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และถูกมองว่าเป็น “ลานีญาที่อ่อนกำลัง” โดยคาดว่าจะอยู่จนถึงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม 2025 เท่านั้น ก่อนที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สถานะกลางของวัฏจักรเอนโซ ในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2025 แม้ผลกระทบจากการเย็นตัวของน้ำทะเลในแปซิฟิกจะไม่รุนแรงเท่ากับเหตุการณ์ก่อนหน้า แต่ก็ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลกในหลายพื้นที่
“ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมปรากฏการณ์ลานีญาจึงเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และมันจะต้องกลายเป็นหัวข้อการวิจัยอีกหลายเรื่องอย่างแน่นอน”
Michelle L’Heureux หัวหน้าทีมวิจัยเอลนีโญของ NOAA กล่าว
ผลกระทบของลานีญา
เปโดร ดีเนซิโอ จาก University of Colorado at Boulder กล่าวว่า ปรากฏการณ์ลานีญายังมีแนวโน้มที่จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกลดลงด้วย แม้ว่าผลกระทบของการเย็นลงนี้จะแปรผันตามความรุนแรงของเหตุการณ์ แต่อุณหภูมิในส่วนต่างๆ ของโลกจะยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ดี
แม้ว่าลานีญาครั้งนี้จะค่อนข้างอ่อนแอและมีระยะเวลาไม่นาน แต่ผลกระทบจากมันยังคงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ บางภูมิภาคในเอเชียและแอฟริกาใต้ อาทิ
![[ECO EYES - News] มาช้ากว่ากำหนด ‘ลานีญา’ เริ่มแล้ว-SPACEBAR-Photo03.jpg](/_next/image?url=https%3A%2F%2Fcdn.spacebar.th%2FECO_EYES_News_SPACEBAR_Photo03_cc6fdd5718.jpg&w=3840&q=75)
สหรัฐอเมริกา ภูมิภาคทางตอนใต้และตะวันตกของประเทศ ประสบกับสภาพอากาศแห้งแล้ง ส่วนภาคเหนือและตะวันตกของประเทศ มีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย สภาพแห้งแล้งในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ช่วยกระตุ้นการเกิด “ไฟป่า” ในแคลิฟอร์เนียใต้ รวมถึง Los Angeles County ที่อยู่ในช่วงภาวะแล้ง
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย อาจมีฝนตกหนักมากถึง 90% อุณหภูมิจะลดลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากเมฆและฝนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ความเข้มของแสงแดดที่ส่องเข้ามาลดลง
แอฟริกาใต้ ภูมิภาคนี้อาจมีฝนตกมากขึ้นในบางพื้นที่ ขณะเดียวกันบางส่วนของแอฟริกาใต้ก็อาจเผชิญกับภัยแล้ง
ผลกระทบในระยะยาวและสถิติ
การที่ลานีญาเกิดขึ้นมีผลกระทบต่อการเกษตร การประมง และการจัดการทรัพยากรน้ำในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน อย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ ซึ่งมักประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า หรือภัยแล้ง
ถ้าปรากฏการณ์ลานีญายืดเยื้อออกไป อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในสภาพอากาศทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเกษตรและประมงเป็นหลัก การขาดแคลนน้ำในพื้นที่แห้งแล้งอาจเป็นปัญหาหนักขึ้น และการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากปริมาณฝนที่ตก
ครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ต่างยอมรับว่าการเกิดปรากฏการณ์ลานีญานับว่าไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การที่เกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไปหลายเดือน ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกิดบ่อยนัก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าทำไมการพยากรณ์ในรอบนี้ถึงคลาดเคลื่อนไปมาก ทั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ มีส่วนทำให้เหตุการณ์ล่าช้าหรือไม่เป็นตามที่คำนวณไว้
ปี 2025 อุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง
มีการทำแบบจำลองที่สอดคล้องกันถึงการคาดการณ์ว่าในปีนี้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้นจากการสลับขั้วของวัฏจักรเอนโซ ทำให้ปี 2025 ยังคงเป็นปีที่ร้อน 3 ปีต่อเนื่อง โดยอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 1.5 ℃ ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศมีขีดจำกัดในการฟื้นตัว ช่วงเวลาคลื่นความร้อนมีแนวโน้มยาวและรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ ยุโรปใต้ และอเมริกาตอนบน รวมถึงปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban heat island) ที่จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในเขตชุมชนเมืองที่มีประชากรหนาแน่น