หรือที่อารมณ์แปรปรวน เพราะโลกรวนเป็นเหตุ!

18 เม.ย. 2568 - 01:24

  • โลกรวนกวนสุขภาพจิต ไม่ใช่เรื่องคิดไปเอง ล่าสุดงานวิจัยยืนยันชัดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติโลกรวน กำลังกวนจิตใจมนุษย์โลก

  • หากเราไม่สามารถควบคุมภาวะโลกร้อนได้ ภายในปี 2050 ตัวเลขผู้ป่วยสุขภาพจิต ซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว อาจเพิ่มขึ้น 49%

ecoeyes-mood-swings-due-to-global-warming-SPACEBAR-Hero.jpg

สถานการณ์โลกร้อน สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) และคลื่นความร้อน ไม่ใช่แค่ตัวการที่ทำให้เหงื่อไหลไคลย้อยเท่านั้น เพราะล่าสุดงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอดิเลด ในออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่าความร้อนที่รุนแรงขึ้นจากวิกฤติโลกร้อน กำลังแทรกซึมถึงสุขภาพจิตของชาวออสซี่

เราเคยนำเสนอเรื่อง “โลกร้อนทำวัยรุ่นวุ่นใจ เมื่ออุณหภูมิไม่ใช่แค่ความร้อน แต่ซ่อนความเครียด” เพราะวัยรุ่นยุคนี้กำลังรู้สึกเหมือนอนาคตตัวเองกำลังจะ “มอดไหม้” ไปด้วย โดยการสำรวจระดับโลกแสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลอย่างมากในคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกือบร้อยละ60 รู้สึกกังวลมากถึงกังวลมากที่สุด ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 45 ระบุว่า ความรู้สึกเกี่ยวกับสภาพอากาศส่งผลต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต (Mental Health) ทั้งทางตรงและทางอ้อม

อ่านเพิ่มเติมได้ใน Climate Anxiety หรือ Eco-Anxiety เป็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ecoeyes_mental_health_climate_anxiety_SPACEBAR.jpg
Photo: โลกร้อนทำวัยรุ่นวุ่นใจ เมื่ออุณหภูมิไม่ใช่แค่ความร้อน แต่ซ่อนความเครียด 

ล่าสุด มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change เผยแพร่ข้อมูลที่นักวิจัยพบว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน กำลังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตประจำวันของชาวออสเตรเลีย โดยส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว ไปจนถึงการใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด และที่น่าตกใจคือ หากเราไม่สามารถควบคุมภาวะโลกร้อนได้ ภายในปี 2050 ผู้ป่วยโรคเหล่านี้อาจเพิ่มขึ้นเกือบ 49%

ออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในประเทศที่รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน จากการรวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2003-2018 ทั่วประเทศและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิที่สูงเกินเกณฑ์กับจำนวนผู้ป่วยโรคทางจิตและพฤติกรรม (Mental and Behavioral Disorders หรือ MBDs) ทั้งโรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว ไปจนถึงการใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด พบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญ โดยความร้อนเพียงอย่างเดียวทำให้ชาวออสซี่ต้องเสียDALYs (ปีชีวิตที่สูญเสียจากการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร) โดยคิดเป็นประมาณ 1.8% ของภาระโรคทางจิตทั้งหมดในประเทศ

แต่หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังคงสูงขึ้นเทียบเท่าในอัตราปัจจุบัน โดยไม่มีมาตรการจัดการที่จริงจัง ภายในปี 2050 ภาระจากโรค MBDs ที่เกี่ยวข้องกับอากาศร้อนอาจเพิ่มขึ้นมากถึง 49% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยแค่การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรหรือการเข้าสู่สังคมสูงวัยเท่านั้น

ecoeyes-mood-swings-due-to-global-warming-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Climate Change ระบุอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากวิกฤติโลกรวน กำลังกวนสุขภาพจิตผู้คนให้แย่ลง และหากเราไม่สามารถควบคุมภาวะโลกร้อนได้ ภายในปี 2050 ตัวเลขผู้ป่วยสุขภาพจิตอาจเพิ่มขึ้น 49%

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจน คือคลื่นความร้อนในเมืองแอดิเลด เมื่อปี 2008 ที่กินเวลายาวนานถึง 15 วัน ความร้อนระลอกนั้นส่งผลให้เด็กๆ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการทางจิตเพิ่มขึ้นถึง 64% และกลุ่มผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 10% เหตุการณ์แบบนี้บ่งชี้ว่าความร้อนกำลังมีผลต่อ “ใจ” ของผู้คน ไม่ใช่แค่ “กาย” เท่านั้น

แม้ว่าเราจะยังไม่รู้แน่ชัดว่าอุณหภูมิสูงส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างไรในเชิงชีววิทยา แต่มีทฤษฎีที่อธิบายว่าความร้อนอาจส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ลดประสิทธิภาพการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง กระทบวงจรการนอนหลับ และเพิ่มระดับความเครียดโดยรวม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สุขภาพจิตเปราะบางขึ้นโดยไม่รู้ตัว

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ กลุ่มคนที่ดูเหมือนจะเสี่ยงมากที่สุดกลับ “ไม่ใช่ผู้สูงอายุ” อย่างที่เราเคยเข้าใจ แต่เป็น “คนรุ่นใหม่” หรือคนวัยทำงานช่วงต้นถึงกลาง ที่มีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่อายุยังน้อย ประกอบกับการใช้ชีวิตที่อาจอยู่ในสภาพแวดล้อมร้อนจัดหรือทำงานกลางแจ้งมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ทำให้พวกเขาเผชิญกับผลกระทบมากกว่า แม้ในทางสรีรวิทยาจะสามารถทนต่อความร้อนได้ดีก็ตาม

และเมื่อลองมองในภาพรวมของประเทศ นักวิจัยประเมินว่าเกือบครึ่งของประชากรออสเตรเลีย หรือประมาณ 8.6 ล้านคน เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคทางจิตหรือพฤติกรรมอย่างน้อยหนึ่งช่วงในชีวิต แม้อัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลจากความร้อนในกลุ่มนี้ยังถือว่าไม่สูงมากในแต่ละปี แต่หากแนวโน้มโลกร้อนยังเป็นไปในทิศทางเดิม ตัวเลขเหล่านี้อาจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในปี 2050

งานวิจัยนี้ไม่เพียงบ่งชี้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแต่ละคน แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงระดับนโยบายให้เร่งการวางแผนรับมือทั้งเชิงป้องกัน (Mitigation) การปรับตัว (Adaptation) อย่างเร่งด่วน และไม่ควรจำกัดแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือพลังงานอีกต่อไป แต่ต้องครอบคลุมถึง “สุขภาพจิตของคนในสังคม” ด้วย 

เพราะวิกฤตสภาพอากาศ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของน้ำแข็งขั้วโลกหรือพายุรุนแรงเท่านั้น แต่กำลังกัดกร่อนจิตใจคนอย่างช้าๆ โดยเฉพาะในประเทศที่ร้อนจัดอย่างออสเตรเลีย ประเทศไทย และอีกหลายประเทศ ซึ่งหากไม่มีมาตรการป้องกัน สุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่อาจอยู่ในความเสี่ยงที่ยากจะฟื้นคืน

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์