โลกร้อนทำวัยรุ่นวุ่นใจ เมื่ออุณหภูมิไม่ใช่แค่ความร้อน แต่ซ่อนความเครียด 

26 พ.ย. 2567 - 03:00

  • เมื่อโลกร้อนทำวัยรุ่นรู้สึกเหมือนอนาคตตัวเองกำลังจะ “มอดไหม้” ไปด้วย 

  • Climate Anxiety ถ้าโลกร้อนแล้วร้อนใจ แก้ไขอย่างไรได้บ้าง 

ecoeyes-mental-health-climate-anxiety-SPACEBAR-Hero.jpg

ปี 2024 อุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่ได้ทำให้แค่เหงื่อไหลไคลย้อย แต่ยังทำให้หัวใจบางดวง “ร้อน” ขึ้น 

ยิ่งได้ยินข่าว “โลกเดือด” บ่อยขึ้น ทั้งพายุถล่ม น้ำท่วมในไทย ภูเขาไฟฟูจิหิมะตกช้าสุดในรอบ 130 ปี สเปนเจอพายุถล่มเลวร้ายสุดในยุโรปในรอบกว่า 50 ปี ทะเลทรายซาฮาราเกิดน้ำท่วม ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในดินแดนที่ร้อนที่สุดในโลก และอากาศร้อนที่ยาวนานจนเกิด #ประเทศไทยจะหนาวกี่โมง (ถ้าไม่ได้หนาวจากแอร์)

โลกร้อนทำวัยรุ่นรู้สึกเหมือนอนาคตตัวเองกำลังจะ “มอดไหม้” ไปด้วย

มีการสำรวจระดับโลกแสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลอย่างมากในคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเกือบร้อยละ 60 รู้สึกกังวลมากถึงกังวลมากที่สุด

ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 45 ระบุว่า ความรู้สึกเกี่ยวกับสภาพอากาศส่งผลต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต (Mental Health) ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งรื่องนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาที่คิดมาลอยๆ แต่ได้การยอมรับแล้วว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิต ที่ควรให้ความสำคัญมากๆ

ecoeyes-mental-health-climate-anxiety-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: โลกร้อนทำวัยรุ่นวุ่นใจ เมื่ออุณหภูมิไม่ใช่แค่ความร้อน แต่ซ่อนความเครียด

Climate Anxiety ความกังวลใจที่ไม่ได้มาเล่นๆ

Climate Anxiety หรือ Eco-Anxiety เป็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาวะนี้ไม่ใช่อาการป่วยทางจิต (อย่าเพิ่งไปคิดว่าคนที่วิตกกังวลเรื่องโลกร้อนเป็นโรคประสาทนะ!) แต่เป็นความวิตกกังวลที่เกิดจากความไม่แน่นอนของอนาคต และมักตามมาพร้อมความรู้สึกเศร้า โกรธ รู้สึกผิด รวมถึงความละอายใจ ที่ล้วนส่งผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม และความคิดของผู้คน ทำให้บางครั้งเกิดความกลัวหรือสับสน จนบางคนถึงขั้นนอนไม่หลับ เพราะคิดวนแต่เรื่อง “โลกจะแตกไหมนะ?” หรือ “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่ทำอะไรเลย?” หรือเกือบจะเขียนจดหมายลาโลกไปแล้ว

มีลูกหนึ่งคนจนไป 7 ปี...แต่ตอนนี้ไม่มีดีกว่า

ในหลายประเทศมีการพูดถึงเรื่องการมีลูก ไม่ใช่แค่เรื่องการต้องทำงานหนักหรือกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่เป็นการกลัวว่าโลกจะไม่ปลอดภัยพอสำหรับลูกหลานที่จะเกิดมา และหลายคนอาจเริ่มคิดว่า “จะมีลูกดีไหม? ถ้าโลกมันร้อนขนาดนี้...พวกเขาจะโตมาได้ยังไง?”  

Climate Anxiety เมื่อโลกร้อนแล้วร้อนใจ แก้ไขอย่างไรได้บ้าง?

แน่นอนว่าเมื่อเรารู้สึกแบบนี้ การรับมือกับความวิตกกังวลจะช่วยให้เรารอดพ้นจากการ “จมอยู่กับความร้อนในใจ” ได้ แม้ว่าโลกจะร้อนขึ้นทุกวัน แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Yale ในสหรัฐฯ ได้ศึกษาภาวะ Climate Anxiety อย่างละเอียด และพบว่าการกังวลกับปัญหานี้เป็นสิ่งที่ปกติ ถ้าคุณรู้สึกว่ามันกระตุ้นให้คุณตื่นตัวและอยากลงมือทำอะไรบางอย่าง 

แต่ถ้าความวิตกกังวลนั้นกลายเป็นการหมกมุ่นจนทำให้คุณเริ่มคิดว่า “โลกจะจบใน 5 ปีนี้” หรือ “เราจะทำอะไรไม่ได้เลย” นั่นอาจจะเป็นสัญญาณที่ต้องรีบหันมาดูแลจิตใจให้ดีๆ  

ชวนเช็กลิสต์สุขภาพจิต เรากำลังเข้าขั้น Climate Anxiety หรือตกอยู่ในภาวะวิตกกังวลจากโลกร้อนอยู่หรือเปล่า?

  • เมื่อคิดเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้ฉันเสียสมาธิ  
  • เมื่อคิดเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้ฉันนอนไม่หลับ  
  • ฉันฝันร้ายเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน  
  • ฉันร้องไห้เพราะปัญหาภาวะโลกร้อน  
  • ฉันโทษตัวเองที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนได้  
  • ฉันเขียนความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนและวิเคราะห์มัน  
  • ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้ฉันไม่มีความสุขกับครอบครัวหรือเพื่อน  
  • ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนรบกวนการทำงานของฉัน  
  • เพื่อนบอกว่าฉันคิดเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนมากเกินไป

 นี่คือตัวอย่างคำถามจากแบบสอบถามของนักวิจัย Yale หากคำตอบคือ “ใช่” หรือ “บางที” อาจจะถึงเวลาที่เราต้องหาวิธีรับมือแล้ว

ecoeyes-mental-health-climate-anxiety-SPACEBAR-Photo02.jpg

วิธีรับมือกับความกังวล : อย่าให้โลกและใจเราแตกไปพร้อมกัน

1.เสพข่าวสารแบบมีสติ ข้อมูลเกี่ยวกับโลกร้อนมันมีทั้งจริงและมั่วพอๆ กัน บางทีเราอาจจะต้องเลือกรับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และไม่ต้องดูข่าวซ้ำๆ ที่จะทำให้จิตใจเราร้อนกว่าอากาศข้างนอก เราควรจะมีขอบเขตในการเสพข่าวให้เหมาะสม อย่าให้มันกลายเป็นการ “ดูทีวีสยองขวัญ” ทุกวันจนจิตใจช็อก 

2.ทำในสิ่งที่เราควบคุมได้ (อย่ากังวลเรื่องที่แก้ไม่ได้!) โลกร้อนอาจจะไม่สามารถหยุดได้ในพริบตา แต่คุณสามารถทำให้การใช้ชีวิตของคุณมีผลกระทบต่อโลกในทางที่ดีขึ้นได้ เช่น การเดินหรือขี่จักรยานแทนการขับรถที่ปล่อยมลพิษ หรือการหยุดใช้พลาสติกหากไม่จำเป็น แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็เหมือนการกินอาหารเสริมให้ใจเราแข็งแรงขึ้น  

3.ร่วมกิจกรรมเพื่อโลก (จะทำใจให้สงบได้อย่างไร? ไปเก็บขยะสิ!) ลองออกไปทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ ที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน เช่น การปลูกต้นไม้ หรือการทำจิตอาสาในชุมชน การได้เห็นความพยายามของตัวเองที่จะทำให้โลกดีขึ้นมันช่วยให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และยังช่วยลดความวิตกกังวลได้ด้วย  

4.ปล่อยใจให้ไปกับธรรมชาติ อย่าไปคิดว่าการท่องเที่ยวคือการไปนั่งดูหนังในห้างที่มีแอร์เย็นๆ เท่านั้น บางครั้งการไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือการท่องเที่ยวในธรรมชาติจะช่วยให้เราคลายเครียดได้ดี   

โลกยิ่งร้อน เสียง ‘ความยั่งยืน’ ยิ่งดัง แม้บทสรุปของเรื่องโลกร้อนมันจะเป็นเรื่องจริง และเราอาจต้องพึ่งพิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะประชุมโลกร้อน (COP29) ดูเป็นแค่พิธีกรรม และย้ำเตือนว่าหากเราทุกคนร่วมกันลงมือทำอาจสำเร็จมากกว่า อย่างน้อยการทำในสิ่งเล็กๆ อย่างแค่ทิ้งขยะให้ถูกประเภท ลดใช้พลาสติก (Single use) ในชีวิตประจำวัน หรือกินของในชุมชน กินอาหารให้หมดทุกมื้อ เรื่องแบบนี้ถ้าทุกคนทำได้ก็จะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่  

"Small actions, big impact: let's change the world"

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์