...แล้วเต่าทะเลล่ะ!
ประโยคชวนคิดย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นการ “เลิกใช้หลอด” เพราะภาพเต่าทะเลตัวหนึ่งที่เคยเป็นไวรัล เนื่องจากมีหลอดพลาสติกเสียบในจมูกและได้รับการช่วยเหลือโดยมนุษย์ด้วยการใช้คีมดึงออกมาพร้อมกับความเจ็บปวด วันนี้ภาพจำในวันวานกำลังจะเป็นแค่เรื่องราวในอดีต
กำเนิดหลอด
จากทองคำ ต้นหญ้า สู่กระดาษ และพลาสติก
มาร์วิน สโตน บิดาแห่งหลอดดูดน้ำ ผู้ให้กำเนิดเจ้าสิ่งประดิษฐ์เล็กๆ นี้เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ปี 1880 ขณะที่สโตนกำลังดื่มคอกเทลด้วยลำต้นของหญ้าไรย์ แล้วมีเศษของหญ้าปะปนมา บวกกับกลิ่นอายของหญ้าที่อบอวลเวลาดูด นั่นทำให้เขาคิดค้น “Modern Straw” หลอดที่ดีกว่าต้นหญ้า โดยการใช้ “กระดาษ“
สโตนทดลองม้วนกระดาษรอบแท่งดินสอ จากนั้นเขาก็ทากาวเชื่อมติดให้เป็นรูปทรงหลอด ก่อนเคลือบด้วยไขพาราฟิน (ขี้ผึ้ง) อีกที และจดสิทธิบัตรผลงานในปี 1888 ต่อมา ในปี 1890 โรงงานผลิตหลอดกระดาษของเขาก็ก่อตั้งขึ้น
ปี 1930 ก็มีคนต่อยอดหลอดกระดาษแบบตรงเป็น “หลอดแบบงอ” โดย Joseph Friedman จดสิทธิบัตรในชื่อบริษัท Flex-Straw สินค้าของเขาเป็นที่นิยมอย่างมาก และตอบโจทย์ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ต้องประสบกับความยากลำบากในการดื่มน้ำ เพราะหลอดแบบบิดงอช่วยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำได้โดยไม่ต้องลุกนั่งเมื่ออยู่บนเตียง

ผ่านไปในปี 1969 บริษัท Flex-Straw ขายกิจการให้กับ Maryland Cup Corporation ในเมืองบัลติมอร์ และต่อยอดเป็นการผลิต “หลอดพลาสติก” ที่หลากหลายรูปแบบ จนในที่สุดก็กลายเป็นบริษัทผลิตหลอดพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ต่อมาในปี 1983 Fort Howard Corporation ซื้อกิจการของ Maryland Cup Corporation ต่ออีกทอด และยังคงเดินหน้าผลิตสินค้าจากพลาสติกต่อไป เพราะมันดีกว่า ถูกกว่า และพลาสติกคือสินค้าคุณภาพเยี่ยมแห่งยุคนั้น ชนิดที่ไม่มีใครคาดคิดว่าในอนาคตมันจะก่อผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม
ทว่า ก่อนหน้านั้นนับหลายพันปี ชาวสุเมเรียนโบราณก็เคยมีหลอดยุคโบราณสำหรับดูดเบียร์ที่ทองคำหรือโลหะ โดยมีผลการศึกษาพบหลอดสีทองและสีเงินเรียวยาว ถูกสร้างขึ้นในยุคสำริด สันนิษฐานว่าเป็นหลอดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีอายุราว 5,500 ปี
หลอดกับอรรถรสของการดื่ม
กินง่าย ได้รสชาติ ไม่เสียวฟัน และฟันไม่เหลือง นี่คือคำตอบของคนส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนสอบถาม ซึ่งก็เป็นความจริง ถึงขั้นมีการทำวิจัยเพื่อหาว่าความกว้างของหลอดแค่ไหน เหมาะกับเครื่องดื่มแบบไหน (จริงจังไหมล่ะ)
ขนาดก็มีผล
อย่างที่เราเห็นว่ามีการผลิตหลอดขึ้นมาหลายขนาด เพื่อให้ผู้ดื่มได้ลิ้มรสสัมผัสของเครื่องดื่มที่มีรสชาติต่างกันไป (ในแง่ความรู้สึก)
- หลอดเล็ก ขนาด 3-6 มิลลิเมตร ผลิตมาเพื่อให้ผู้ดื่มได้รับสัมผัสรสชาติเครื่องดื่มอย่างช้าๆ เพิ่มอรรถรสในการดื่ม ดื่มได้ยาวนานมากขึ้น
- หลอดกลางขนาด 8 มิลลิเมตร มักใช้สำหรับแก้วขนาดกลาง-ใหญ่ 20 ออนซ์ขึ้นไป
- หลอดใหญ่ขนาด 10 มิลลิเมตรขึ้นไป ใช้กับเครื่องดื่มที่ใส่ไข่มุก มีท็อปปิ้ง หรือเมนูปั่นต่างๆ อาจไม่เหมาะกับเมนูเครื่องดื่มทั่วไป
จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนสนในเรื่อง “หลอด”
ในปี 2011 นโยบายลดใช้หลอดพลาสติกในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้นโดยเด็กวัย 9 ขวบ ในรัฐเวอร์มอนต์ แต่เริ่มเป็นกระแสที่สนใจทั่วโลกในปี 2015 เมื่อปรากฏคลิปเต่าทะเลมีหลอดพลาสติกแทงในรูจมูก และเมื่อคนพยายามดึงหลอดออก ก็ทำให้เลือดเต่าไหล สร้างความสะเทือนใจให้ผู้ชมทั่วโลก
จากนั้นบรรดาคนดังต่างออกมาสนับสนุนแคมเปญ #StopSucking โดยมุ่งเป้าให้หลอดพลาสติกกลายเป็นศัตรูสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นร้านอาหารและคาเฟ่หลายพันแห่งในสหรัฐฯ ก็เริ่มลดใช้หลอดพลาสติก บางแห่งเปลี่ยนไปใช้หลอดกระดาษที่ย่อยสลายได้ หลอดไม้ หลอดพกพา หรือหลอดโลหะที่ใช้ซ้ำได้ ขณะที่บางแห่งเปลี่ยนมาใช้ระบบให้ลูกค้ารีเควสก่อนถึงจะให้ หรือเก็บเงินค่าหลอดเพิ่มเมื่อลูกค้าต้องการ
และความจริงจังในเรื่องการลดใช้หลอดพลาสติกก็เข้มข้นขึ้น เดือนกรกฎาคม 2018 เมืองซีแอตเทิล ของสหรัฐฯ เป็นเมืองใหญ่เมืองแรกที่ประกาศ “แบนหลอดพลาสติก” กระตุกต่อมรักษ์โลกทำให้แบรนด์ใหญ่หันมาใส่ใจเรื่องนี้ เช่น แมคโดนัลด์ สายการบินอลาสกาแอร์ไลน์ เป็นต้น จากนั้นเมืองและรัฐอื่นๆ ก็เริ่มออกกฎหมายจำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น แคลิฟอร์เนีย, นิวเจอร์ซีย์, ออริกอน, โรดไอแลนด์, เวอร์มอนต์ และวอชิงตัน โดยกำหนดให้สามารถให้หลอดพลาสติกกับลูกค้าเฉพาะเมื่อมีการร้องขอเท่านั้น
หลอดกับเรื่องที่คนกังวล
อันดับแรก แน่นอนว่าเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะหลอดเป็นพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) ไม่ย่อยสลาย รีไซเคิลได้ยาก และมักถูกทิ้งไม่ถูกที่ จนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอย่างนกและสัตว์ในมหาสมุทร ซ้ำร้ายแตกตัวเป็น “ไมโครพลาสติก” รวมทั้งมีสารเคมีตลอดกาล (PFAS)
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป ในเบลเยียม พบว่าหลอดหลายชนิดต่างก็มีสารเคมีตลอดกาล หรือสารเพอร์ฟลูออโรอัลคิลและโพลีฟลูออโรอัลคิล (PFAS) ซึ่งจะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายทศวรรษ ไม่ใช่เฉพาะหลอดพลาสติก แต่ใน “หลอดกระดาษ” ก็มี PFAS มากกว่าหลอดชนิดอื่นหลายเท่า
โดยนักวิจัยได้ทดสอบหลอดดูดน้ำ 39 ยี่ห้อที่ทำจากวัสดุ 5 ชนิด ได้แก่กระดาษ ไม้ไผ่ แก้ว สแตนเลส และพลาสติก โดยมีทั้งแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและแบบที่ใช้ซ้ำได้ ซึ่งส่วนใหญ่หาซื้อได้จากร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารทั่วไป หลอดทั้งหมดต้องผ่านการทดสอบ 2 รอบเพื่อหาสาร PFAS
พบว่า 27 ใน 39 (ร้อยละ 69) ของยี่ห้อที่ทดสอบในการศึกษานี้ มีสาร PFAS อยู่ทั้งหมด 18 ชนิด โดย “หลอดกระดาษ” มีแนวโน้มสูงที่สุดที่จะมีสาร PFAS ซึ่งพบ 18 ใน 20 (ร้อยละ 90) ของหลอดกระดาษทั้งหมด
ไม้เว้นแม้แต่ “หลอดเยื่อไม้ไผ่” ที่พบ 4 ใน 5 (ร้อยละ 80) ขณะที่ “หลอดพลาสติก” ก็พบ 3 ใน 4 และ “หลอดแก้ว” พบ 2 ใน 5 แต่ สาร PFAS กลับไม่พบใน “หลอดสแตนเลส” หรือ “หลอดแบบโลหะ” เลยสักตัวอย่าง
หลอด Single-use plastic ถูกใช้ไปมหาศาล
ชาวอเมริกันใช้หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งราว 500 ล้านหลอดต่อวัน ซึ่งหากเรานำหลอดเหล่านั้นยัดใส่เข้าไปในรถโรงเรียนจะต้องใช้รถกว่า 125 คันต่อวัน หรือ 46,400 คันต่อปี
หนึ่งในรายงานก่อนหน้าชี้ว่า แต่ละปีมีขยะที่เป็นหลอดพลาสติกมากถึง 8,300 ล้านหลอดถูกทิ้งตามชายหาด และอีก 8 ล้านตันของขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทร โดยขยะจากหลอดพลาสติกคิดเป็นสัดส่วน 0.025 ของจำนวนขยะพลาสติกทั้งหมดในทะเล
นักวิจัยด้านสมุทรศาสตร์ ดร.คาร่า ลาเวนเดอร์ ลอว์ จาก Sea Education Association เผยว่า “หลอดพลาสติกกลายเป็นตัวแทนของปัญหาขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว จากการศึกษาภาคสนาม เราพบว่าพลาสติกที่เล็ดลอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มาจากบรรจุภัณฑ์อาหาร แก้วน้ำ หลอด ไม้คนกาแฟ ฝาขวด และฝาแก้ว”
หลอดกับไบเดน
ยุคแห่งการรณรงค์ไม่ใช้หลอดพลาสติก ในช่วงของรัฐบาลไบเดนมีแผนทยอยยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในการจัดซื้อของหน่วยงานรัฐบาลกลาง โดยจะเริ่มจากการทำงานของฝ่ายบริการด้านอาหาร งานอีเวนต์ และบรรจุภัณฑ์ภายในปี 2027 และจะขยายไปยังการดำเนินงานของรัฐบาลทั้งหมดภายในปี 2035 เพราะรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เป็นผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่ที่สุดในโลก รัฐบาลไบเดนเคยหวังว่านโยบายลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของรัฐจะสร้าง “แรงกระเพื่อม” และช่วยลดการผลิตพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในวงกว้าง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นตัวการโลกร้อน

หลอดกับทรัมป์
“ทรัมป์ไม่แคร์โลกร้อน! ลั่น “หลอดกระดาษ” ชอบยุ่ยในปาก สั่งคนอเมริกันหันมาใช้หลอดพลาสติก”
“กลับไปใช้พลาสติก!”
“เพราะมันชอบยุ่ยในปาก”
“หลอดกระดาษแบบเสรีนิยมที่ใช้งานไม่ได้”
พาดหัวข่าวและวลีที่ถูกแชร์ในโลกโซเชียล หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ยึดอุดมการณ์สานต่อที่หาเสียงก่อนเลือกตั้ง พร้อมลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2024) กำหนดให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ หยุดการจัดซื้อหลอดกระดาษ และกลับมาใช้หลอดพลาสติกอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าหลอดกระดาษมีข้อบกพร่อง เช่น ไม่ทนทาน มีสารเคมีที่อาจเป็นอันตราย และยังถูกห่อด้วยพลาสติกซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดลดขยะ
ทั้งนี้ ดร.แมทธิว เบเกอร์ นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ให้ความเห็นว่า “แม้หลอดกระดาษจะเป็นทางเลือกที่ย่อยสลายได้เร็วกว่า แต่กระบวนการผลิตกลับใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และยังต้องใช้พลาสติกเคลือบเพื่อกันน้ำ ทำให้การรีไซเคิลทำได้ยาก”
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เรียกร้องเพื่อยุติการใช้หลอดกระดาษทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 45 วัน โดยระบุเหตุผลว่า ที่ผ่านมาการรณรงค์ต่อต้านการใช้หลอดพลาสติกเป็นเรื่องไร้เหตุผล และเป็นการบังคับให้ชาวอเมริกันใช้หลอดกระดาษที่ไม่สามารถใช้งานได้ดี
นอกจากนี้ ตามเอกสารข้อเท็จจริง ได้ระบุเหตุผลว่า
- หลอดพลาสติก ถูกแบนตามเมืองและรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ ด้วยแรงกดดันของกลุ่มนักกิจกรรม Wok ที่ให้ลำดับความสำคัญด้านสัญลักษณ์ มากกว่าเหตุผลข้อมูลทางหลักวิทยาศาสตร์
- พบว่ามีการใช้สารเคมี PFAS ในหลอดกระดาษซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- เมื่อเทียบด้านราคา หลอดกระดาษมีราคาแพงกว่าหลอดพลาสติก
- หลอดกระดาษ มิใช่เป็นสินค้าทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้มตามคำกล่าวอ้าง เนื่องจากการศึกษาพบว่า การผลิตหลอดกระดาษมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณมากกว่าหลอดพลาสติก อีกทั้งมีการใช้ปริมาณน้ำในการผลิตมากกว่าหลอดพลาสติก
- หลอดกระดาษแต่ละหลอดถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติก ซึ่งขัดกับข้อโต้แย้งของการใช้หลอดกระดาษเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ มีหลายความเห็นชี้ว่าถ้าทรัมป์ยกเลิกนโยบายลดพลาสติก อุตสาหกรรมน้ำมันอาจได้ประโยชน์ เนื่องจากพลาสติกเกือบทั้งหมดผลิตจากปิโตรเลียม หากทรัมป์ยกเลิกนโยบายลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ก็อาจหมายถึงผลประโยชน์ทางอ้อมแก่กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน
ทางด้านนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมองว่า การโฟกัสแค่หลอดพลาสติกอาจล้าสมัยและเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาที่ใหญ่กว่า โดยข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า ปัจจุบันโลกผลิตพลาสติกประมาณ 460 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับน้ำหนักของวาฬสีน้ำเงิน 300,000 ตัว พลาสติกเหล่านี้กลายเป็นขยะที่ถูกทิ้งลงบนบก ในมหาสมุทร บางชิ้นถูกสัตว์เข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร เมื่อพลาสติกแตกตัวในธรรมชาติ จะเกิดไมโครพลาสติกซึ่งถูกพบในทุกที่รวมถึงในร่างกายมนุษย์!!
สุดท้าย ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคนี่แหละว่าจะเลือกใช้หลอดพลาสติก หลอดกระดาษ หลอดแก้ว หลอดสแตนเลส หลอดพกพาที่ใช้ซ้ำได้ หลอดไบโอ หลอดจากธรรมชาติจากต้นไผ่ ตะไคร้หอม หรือจะหันมาสนับสนุน “หลอดกินได้” ทำจากพืชอย่างมันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด สาหร่ายทะเล ที่ดูดเครื่องดื่มเสร็จก็กินหลอดไปได้เลย
และแม้จะเลือกหลอดแบบไหน ก็ไม่มีอะไรดีเท่าการเลือกที่จะ “ไม่ใช้หลอด” แล้วยกกระดกดื่มแบบเท่ๆ แค่ปรับพฤติกรรมเราง่ายๆ แบบนี้ก็พอ ไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องวัสดุ ขยะ หรือสารเคมีตกค้าง หมดปัญหาดราม่าแค่... “เส้นผมบังภูเขา” นี่เอง