‘ความยั่งยืน’ มรดกของพระสันตะปาปาฟรังซิส ประมุขผู้เงียบสงบแต่ส่งเสียงดังก้องโลก

23 เม.ย. 2568 - 04:02

  • ระลึกถึงสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสียงศรัทธาแห่งโลกที่ยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม

ecoeyes-sustainability-pope-francis-legacy-for-the-world-SPACEBAR-Hero.jpg

แด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

“เมื่อเราทำร้ายธรรมชาติ เรากำลังทำร้ายตัวเราเอง” หนึ่งในถ้อยคำจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ที่ยังคงดังก้อง แม้เสียงของพระองค์จะสงบเงียบไปแล้วตลอดกาล

วันที่ 21 เมษายน 2025 โลกสูญเสียผู้นำจิตวิญญาณผู้ยิ่งใหญ่ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส สิ้นพระชนม์ในวัย 88 ปี ท่ามกลางความอาลัยจากชาวคริสต์คาทอลิกนับพันล้านคน และผู้ศรัทธาในความหวังจากทั่วโลก แต่สิ่งที่พระองค์ทิ้งไว้ให้เรายิ่งใหญ่เกินกว่าศาสนา และลึกซึ้งเกินกว่าหลักธรรมคำสอน เพราะพระองค์คือกระบอกเสียงของโลกใบนี้

เสียงที่...กล้าเอ่ยถึงความอยุติธรรมต่อธรรมชาติ

เสียงที่...พูดแทนผู้ยากไร้

และเสียงที่ดังก้องบนเวทีโลกว่า “วิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่มันคือเรื่องของความเป็นธรรม”

ecoeyes-sustainability-pope-francis-legacy-for-the-world-SPACEBAR-Photo01.jpg

ผู้นำทางศีลธรรมในโลกที่เต็มไปด้วยความสับสน 

ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล ข่าวปลอม และผลประโยชน์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส คือแสงสว่างที่มั่นคง พระองค์ทรงเป็นนักคิด นักเปลี่ยนแปลง และนักฟังที่แท้จริง

เมื่อปี 2015 พระองค์ทรงเผยแพร่พระสมณสาสน์ Laudato Si’: On Care For Our Common Home จดหมายอภิบาลความยาว 184 หน้า ที่ไม่ได้เขียนเพื่อชาวคริสต์เท่านั้น แต่เขียนถึง “ประชากรของโลกทุกคน” สิ่งนี้เป็นการเรียกร้องให้มนุษยชาติร่วมมือกันดูแลโลกใบนี้อย่าง “ยั่งยืน” โดยทรงวิจารณ์ลัทธิบริโภคนิยมและการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน พระสมณสาสน์นี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นแรงผลักดันสำคัญที่นำไปสู่การลงนามใน “ความตกลงปารีส” ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

ข้อความในนั้นเต็มไปด้วยความจริงที่เจ็บปวด อาทิ

“โลกกำลังถูกบีบให้แห้งเหือดจากการหลงผิดในลัทธิบริโภคนิยม”

“ผู้คนที่ยากจนที่สุดกลับต้องรับผลจากโลกร้อนมากที่สุด ทั้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ”

นี่ไม่ใช่คำเทศนา แต่เป็น “เสียงเตือนสติ” ที่กึกก้องไปยังการประชุม COP21 ที่กรุงปารีส และกลายเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนสู่ “ข้อตกลงปารีส” วาระสำคัญที่สุดของโลกว่าด้วยการ “ลดโลกร้อน”

“การเมือง สิ่งแวดล้อม และศรัทธา” พระองค์เชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน

สมเด็จพระสันตะปาปาไม่ใช่เพียงประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก ผู้นำจิตวิญญาณทางศาสนา แต่เป็นนักการทูตด้านจริยธรรม พระองค์พบกับประธานาธิบดี CEO ผู้นำรัฐ และนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก เพื่อพูดเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า...“ธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่เราเอาเปรียบได้อีกต่อไป”

พระองค์ทรงเปิดประชุมด้านสภาพภูมิอากาศที่นครวาติกัน จัดวงคุยกับนายกเทศมนตรีจากลอนดอน ปารีส นิวยอร์ก และอีกหลายเมือง เพื่อถามคำถามเรียบง่ายแต่แทงใจว่า 

“วันนี้เราเลือกวัฒนธรรมแห่งชีวิต หรือวัฒนธรรมแห่งความตาย?” 

จากศรัทธาที่แรงกล้า สู่การกระทำที่ยิ่งใหญ่

ในปี 2019 พระองค์ได้ประกาศว่า อีโคไซด์ (Ecocide) หรือการทำลายสิ่งแวดล้อมขั้นรุนแรง ควรเป็น “อาชญากรรมต่อสันติภาพ” เทียบเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นการยกระดับคำว่า ทำลายป่า ทำลายทะเล ให้เป็นเรื่อง “ผิดศีลธรรม” ในระดับที่โลกต้องรับผิดชอบร่วมกัน 

ก่อนการประชุม COP28 ที่ดูไบ ในปี 2023 พระองค์ทรงเผยแพร่ Laudate Deum ที่เปรียบดั่งเป็นภาคต่อและส่วนขยายของ Laudato Si’ เป็นสมณลิขิตที่เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแม้จะทรงประชวรในช่วงท้ายของพระชนมชีพ แต่พระองค์ไม่เคยหยุดส่งเสียงไปยังที่ประชุม COP29 ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน (ประชุมโลกร้อน การต่อรองที่ยืดเยื้อเพื่อเขียน ‘เช็คเปล่า’ ให้กับโลก) ด้วยข้อความที่ชัดเจนว่า “ประเทศร่ำรวย ต้องยอมรับหนี้สินทางนิเวศ” และ “ผู้ที่ปล่อยคาร์บอนมาก ควรชดใช้ต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ”

ecoeyes-sustainability-pope-francis-legacy-for-the-world-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: เอเอฟพี

มรดกของประมุขผู้เงียบสงบ แต่ส่งเสียงดังก้องโลก

ในยุคที่หลายคนใช้ไมค์เพื่อพูดเรื่องตนเอง พระสันตะปาปาฟรังซิสเลือกพูดแทนผู้ที่ไร้เสียง ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่ถูกบีบคั้น ผู้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากวิกฤตโลกร้อน หรือแม้แต่คนธรรมดาที่อยากเห็นโลกดีขึ้น แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน

พระองค์ไม่ได้ทิ้งเราไว้เพียงคำสอน แต่ทิ้งแนวทางการใช้ชีวิต การเห็นคุณค่าของความพอเพียง การเข้าใจว่าเราเป็น “ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ” ไม่ใช่เจ้าของ และการลงมือเปลี่ยนแปลง แม้เพียงเล็กน้อยแต่มั่นคง

“มนุษยชาติคือชุมชนเดียวกัน เมื่อใดที่ชุมชนใดถูกทอดทิ้ง มนุษยชาติก็เสื่อมถอย ทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณ”

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

บทส่งท้ายแทนคำอำลา

ขอบพระคุณสำหรับทุกคำที่พระองค์เปล่งวาจาซึ่งเปรียบดั่งเสียงที่ปลุกให้โลกรู้ว่า ความศรัทธาไม่ควรจบลงที่คำอธิษฐาน แต่ควรเริ่มต้นที่ “การลงมือทำ”

และในวันที่โลกกำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ เสียงของพระองค์อาจเป็นลมเย็นเฮือกสุดท้าย ที่ปลุกเราให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงก่อนจะสายเกินไป

ด้วยรักและอาลัย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์