Sustainable Luxury ความหรูหรากับความยั่งยืนไปด้วยกันได้จริงหรือ?

8 ก.พ. 2568 - 00:29

    ecoeyes-sustainable-luxury-SPACEBAR-Hero.jpg

    โลกยิ่งร้อน เสียง “ความยั่งยืน” ยิ่งดัง คำนี้ไม่เกินจริง

    โลกของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน คำว่า “Sustainability” หรือ ความยั่งยืน จึงดูเหมือนจะมีพลังและเป็นมากกว่าคำพูดหรือเทรนด์ คนในปัจจุบันเริ่มตระหนักรู้ (Awareness) และนำไปสู่การลงมือทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่เชื่อมโยงกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์

    ecoeyes-sustainable-luxury-SPACEBAR-Photo01.jpg

    Sustainable Luxury ความหรูหรากับความยั่งยืนไปด้วยกันได้จริงหรือ?

    แนวคิด Wellness เชื่อมโยงคนเมืองกับธรรมชาติ ทำให้เรารู้จักตัวเองและธรรมชาติอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ผ่านศาสตร์การนวดและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Medicine) ด้วยสัมผัสทั้ง 7 ประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จิตวิญญาณ และจินตนาการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ divana (ดีวานา) ที่มุ่งเน้นการรักษาสมดุลของร่างกาย พร้อมลงลึกสู่ภายในจิตใจ (Well-Being) ผสานความหรูหรา (Luxury) ควบคู่กับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อ Wellness for Longevity ผลลัพธ์ที่มีคุณค่า ซึ่งไม่ใช่แค่รักตัวเอง ดูแลตัวเอง แต่ยังรวมถึงการแคร์ธรรมชาติและโลกใบนี้

    “Sustainability ไม่ใช่ทางเลือก หรือ Options แต่มันคือ Function หรือหน้าที่ คือวิถีชีวิตของพวกเราทุกคน เราต้องเริ่มตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราใช้ สิ่งที่เราผลิต ทำอย่างไรให้เกิดคุณค่าสูงสุด แต่ใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด เราใช้แล้วจะนำไปใช้ต่ออย่างไร ใช้ซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดเริ่มจากวิธีคิด เริ่มจากสิ่งเล็กๆ เริ่มที่ตัวเรา”

    ธเนศ จิระเสวกดิลก Co-Founder, divana กล่าว

    ecoeyes-sustainable-luxury-SPACEBAR-Photo02.jpg
    Photo: ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ แฟชั่น ท่องเที่ยว ร่วมแชร์ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองด้าน Sustainable Luxury Beauty & Conscious Living ในหัวข้อ “ธุรกิจ Wellness กับความยั่งยืนไปด้วยกันได้จริงหรือ?”

    Well for Earth Talk

    ด้วยความมุ่งมั่นในแนวคิดเรื่องความยั่งยืน divana จึงชวนทุกคนมาร่วมหาหนทางสู่ความเป็นไปได้ของ Wellness & Sustainability จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ แฟชั่น ท่องเที่ยว ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองด้าน Sustainable Luxury Beauty & Conscious Living กับ Well for Earth Talk ในหัวข้อ “ธุรกิจ Wellness กับความยั่งยืนไปด้วยกันได้จริงหรือ?”

    เริ่มด้วย มะลิ-กมลรัตน์ ชยามฤต เจ้าของธุรกิจร้านดอกไม้ที่เป็นมิตรกับโลกในชื่อร้าน “มะลิบาน” ทายาทนักพฤษศาสตร์ที่ไม่ได้วิ่งตามเทรนด์ แต่เลือกเดินตรงกันข้ามกับอุตสาหกรรมดอกไม้ เพราะคนส่วนใหญ่รู้ถึงผลกระทบจากอุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมอาหาร แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วอุตสาหกรรมดอกไม้ก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพ

    “เราเลือกใช้เฉพาะดอกไม้ที่ปลูกในประเทศไทย รู้แหล่งที่มา ใช้ดอกไม้ที่มีตามฤดูกาล เพราะไม่ต้องพึ่งสารเคมี ลดการนำเข้า ลดการขนส่ง หมายถึงลดใช้พลังงาน เราไม่ใช้พลาสติกเลย และปัญหาหลักของอุตสาหกรรมดอกไม้ คือการใช้โอเอซิสปักดอกไม้ที่เป็นสีเขียว ทำให้หลายคนมองว่าเป็นออร์แกนิก แต่มันคือไมโครพลาสติก และ Phenolic Resin ที่สุดท้ายก็ไหลลงสู่มหาสมุทร

    ecoeyes-sustainable-luxury-SPACEBAR-Photo V01.jpg
    Photo: มะลิ-กมลรัตน์ ชยามฤต

    สำหรับคำว่า Luxury ในแบบของมะลิ ก็คือการที่คนเรามีเวลา ไม่ต้องเร่งรีบ ฝากถึงคนรุ่นใหม่ให้ใช้ชีวิตช้าลงนิดนึง ซึ่งมันอาจจะยากในบริบทของเมือง แต่ถ้าเรามีเวลาที่จะช้าลง เราจะหยุดก่อนตัดสินใจซื้อ จริงๆ แล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการเยียวยาอารมณ์และร่างกายของตนเองจากภายใน ถ้าเราใช้ชีวิตช้าลงนิดนึง พลังเหล่านั้นก็จะมีมากขึ้นในตัวเรา ถ้าเรามีบาลานซ์หรือมีความสมดุลทางอารมณ์ เราก็จะใช้ชีวิตอย่างชัดเจน และ Wellness for Longevity ก็จะมาเอง” มะลิ กล่าว

    ทางด้าน พล-อมรพล หุวะนันทน์ CEO ผู้ก่อตั้ง Moreloop ธุรกิจที่เกิดจากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กล่าวถึง Sustainability Trends ในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มุ่งสู่ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ปัญหาที่ Moreloop เจอคือผ้าที่ค้างสต๊อกและนอนเหงาอยู่ในโรงงาน เราจึงเป็นสื่อกลางในการรวบรวมผ้าเหลือ คล้าย Airbnb ที่เอาห้องเหลือมารวมกันและปล่อยเช่า แต่เราใช้ผ้าที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดการปลูก ปั่น ทอ ฟอก ย้อม ทุกกระบวนการทำผ้าที่ใช้น้ำและทรัพยากรมหาศาล 

    ต้องขอขอบคุณ divana ที่เห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ และเปลี่ยนผ้าเหงาๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่ได้อยู่ในธุรกิจ Wellness Luxury ระดับโลก ทั้งชุดยูนิฟอร์มและอื่นๆ โดยจากการที่ divana เลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ช่วยให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ 10 ตันคาร์บอนเทียบเท่า (TCO2e) เท่ากับการขับรถเป็นระยะทาง 80,000 กิโลเมตร หรือเทียบเท่าการขับรถรอบโลกถึง 2 รอบ

    ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ Founder, Local Alike ธุรกิจเพื่อสังคมที่พัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ผู้ผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวยั่งยืน เผยว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เปราะบางมากจากประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโควิด-19 แต่ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว เรามี Wellness Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ตอบโจทย์ทั้งการได้ท่องเที่ยวชื่นชมธรรมชาติ เข้าป่าฟังเสียงต้นไม้ เป็นการเดินทางเพื่อหาความสุขและเยียวยาจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Wellness และการท่องเที่ยวมีเหมือนกัน 

    ขณะเดียวกันเราก็ต้องคืนสิ่งดีๆ ให้ธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน เราจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวสร้างคาร์บอนน้อยที่สุด จะทำให้อย่างไรให้การท่องเที่ยวทำให้ป่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้โลกเขียวขึ้น ขณะเดียวกันชุมชนก็ดีขึ้น ซึ่งจุดมุ่งหมายของเราคือสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ แต่เราต้องดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน เช่นเดียวกับที่ divana ทำอยู่

    ecoeyes-sustainable-luxury-SPACEBAR-Photo03.jpg

    ปิดท้ายที่ ธเนศ จิระเสวกดิลก Co-Founder จาก divana เผยถึงทิศทางของ divana ในการเป็น Wellness Luxury ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมาตลอด ด้วยการนำเสนอผ่าน 3 คุณค่า ได้แก่ สุขภาพ (Wellness) ธรรมชาติ (Natural) และการบริการ (Hospitality) โดยล่าสุดในโอกาสฉลองใหญ่ครบรอบ 25 ปี divana ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ Scentology: Plant Based Perfume Oil กับ 5 กลิ่นเอกลักษณ์ที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของปรากฏการณ์ธรรมชาติ ผสมผสานระหว่างศาสตร์แห่งกลิ่นหอมกับความยั่งยืน พร้อมย้ำให้เห็นว่า Sustainable Luxury ทำได้จริง

    “เราต้องปรับบทบาทว่าเราไม่ใช่แค่ Consumer แต่เราเป็น Creator ไม่ใช่แค่ใช้ แต่ต้องร่วมกันสร้าง เราทุกคนคือ One Power ทุกคนสามารถสร้างอะไรก็ได้ ถ้าเราทำเรื่องสุขภาพ อย่างแรกที่เราต้องทำคือกลับมาดูว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมดทำให้สุขภาพกายเราแข็งแรงขึ้นไหม ทำให้จิตใจเราอ่อนโยนขึ้นไหม ทำให้สภาวะอารมณ์เราสงบนิ่งและแข็งแรงขึ้นเพียงพอไหม เราตื่นขึ้นมาในแต่ละวันสามารถสร้างสิ่งที่ดีให้สังคมได้ไหม เราลงมือทำให้คนอื่นเห็น ทำเป็นแบบอย่าง จุดประกายให้คนร่วมกันทำ ดึงคนอื่นมาสร้างเครือข่ายเพื่อทำไปด้วยกัน เพราะการที่เราจะดี เราดีแค่คนเดียวไม่ได้ เราต้องดีทั้งระบบนิเวศ แล้วเราจะส่งต่อโลกที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไปได้” คุณธเนศ กล่าวทิ้งท้าย

    เรื่องเด่นประจำสัปดาห์