การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 หายนะทางชีวภาพที่มนุษย์เร่งเร้า เราจะหยุดมันได้หรือไม่?

6 เม.ย. 2568 - 03:31

  • งานวิจัยในปี 2017 ชี้ว่าเรากำลังเผชิญกับการทำลายล้างทางชีวภาพ โดยที่อัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ กำลังเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 กำลังเกิดขึ้น โดยมนุษย์ได้เร่งอัตราการสูญพันธุ์ถึง 114 เท่า เมื่อเทียบกับการสูญพันธุ์ที่เกิดจากธรรมชาติ

  • เมื่อพิบัติภัยเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ครั้งนี้มนุษย์เราจะเป็นเผ่าพันธุ์ที่สูญสิ้นแล้วหรือไม่?

ecoeyes-the-sixth-extinction-human-caused-biological-catastrophe-SPACEBAR-Hero.jpg

แค่เปิดศักราชมา มกราก็ดูท่าไม่ปรานี หรือนี่เป็นสัญญาณเตือนว่าโลก(อาจ)รอไม่ไหว ทั้งไฟป่า พายุหิมะ ฝุ่นพิษ ตอกย้ำด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดที่สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ระบุว่าครั้งนี้ “รุนแรงสุด” ในรอบศตวรรษ ที่ยิ่งชวนให้ขบคิดว่า “มนุษย์เราช่างเปราะบาง” และอาจใกล้ถึงกาลสูญสิ้น

ที่ผ่านมา โลกซึ่งเป็นบ้านของสรรพชีวิตได้เผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ถึง 5 ครั้งในอดีต แต่ละครั้งทิ้งรอยแผลใหญ่ไว้ในความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ทำให้สิ่งมีชีวิตมากกว่า 50-90% หายไปจากผืนแผ่นดิน หลักฐานของการสูญพันธุ์เหล่านี้ยังคงอยู่ให้เราศึกษา แต่ครั้งนี้กลับแตกต่างออกไป เพราะการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ไม่ใช่ผลมาจากภัยธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นผลจาก “การกระทำของมนุษย์” โดยตรง

การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 หรือ Earth’s sixth mass extinction เป็นที่สนใจในระดับโลกมากขึ้น จากที่เคยเป็นเรื่องเฉพาะในหมู่นักวิทยาศาสตร์ ตอนนี้มันกลายเป็นหัวข้อที่คนทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ เมื่อมนุษย์เริ่มสังเกตเห็นว่าเราอาจเป็นตัวเร่งที่ทำให้การสูญพันธุ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่ธรรมชาติจะกำหนด

ecoeyes_all_disasters_in_january_2025_2_SPACEBAR.jpg
Photo: มกราไม่ปรานี หรือนี่เป็นสัญญาณเตือนว่าโลก(อาจ)รอไม่ไหว

ปัจจัยเร่งการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 แตกต่างจากการสูญพันธุ์ครั้งก่อนๆ ที่เกิดจากเหตุการณ์ธรรมชาติ เช่น อุกกาบาตชนโลก หรือการปะทุของภูเขาไฟ ครั้งนี้ “มนุษย์” กลายเป็นตัวแปรหลักที่เร่งการสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว การขยายพื้นที่เกษตรกรรม การทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขยายตัวของเมือง คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ถูกทำลายหรือลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว

งานวิจัยที่ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยฮาวาย ของสหรัฐฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Biological Reviews เผยว่าการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยมีสาเหตุหลักมาจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ จากการตรวจสอบอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ปี ค.ศ.1500 พบว่าโลกได้สูญเสียพืชพันธุ์และสัตว์ต่างๆ ไปแล้วราว 7.5-13% จากทั้งหมด 2 ล้านสายพันธุ์ และมันกำลังค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกขณะ

คาดการณ์สิ่งที่จะสูญพันธุ์

โดยปกติแล้วการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จะหมายถึงการสูญเสียมากกว่า 50% ของสายพันธุ์ในโลกในช่วงเวลาเดียวกัน และในปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตกว่า 1 ล้านชนิดกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะสัตว์และพืชที่มีความเปราะบาง เช่น 

  • สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 40% 
  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 25% 
  • แนวปะการัง 33% รวมไปถึงสัตว์ทะเลอย่างฉลามและเต่าทะเล

การสูญเสียเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังส่งผลต่อระบบนิเวศที่มนุษย์พึ่งพาในการดำรงชีวิต เช่น การสูญเสียปลาในทะเลอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมการประมงและแหล่งโปรตีนของมนุษย์

ตามการประเมินของนักวิทยาศาสตร์หลายราย การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ที่ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ ความสูญเสียนี้อาจไม่สามารถหยุดยั้งได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยเรายังสามารถ “ชะลอผลกระทบได้” หากมีความพยายามในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ และนี่คือจุดสำคัญที่เราไม่ควรละเลย

ecoeyes-the-sixth-extinction-human-caused-biological-catastrophe-SPACEBAR-Photo01.jpg

วงจรแห่งหายนะที่มนุษย์สร้าง

“มนุษย์เราเหลือเวลาอีกไม่ถึงครึ่งศตวรรษ ในการปกป้องโลกไม่ให้เดินไปถึงจุดนั้น” เนื้อหาบางส่วนที่เราหยิบยกมาจากงานวิจัยว่าด้วยปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Proceedings of the National Academy of Sciences พบข้อมูลที่น่ากังวลว่า 1 ใน 3 ของสัตว์จำนวน 27,600 สายพันธุ์ได้ลดจำนวนลงอย่างรุนแรง และตีความได้ว่าโลกของเรากำลังเดินเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

งานวิจัยในปี 2017 ชี้ว่าเรากำลังเผชิญกับ “การทำลายล้างทางชีวภาพ” โดยที่อัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ กำลังเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น วาฬ เต่าทะเล ฉลาม และหอยขนาดใหญ่ กำลังจะสูญพันธุ์ก่อนสัตว์ชนิดอื่นๆ ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับเหตุการณ์สูญพันธุ์ที่เกิดจากธรรมชาติในอดีต การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 กำลังเกิดขึ้นเร็วกว่ามาก โดยมนุษย์ได้เร่งอัตราการสูญพันธุ์ถึง 114 เท่า เมื่อเทียบกับการสูญพันธุ์ที่เกิดจากธรรมชาติ

นับถอยหลังสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

หากเรายังคงทำลายธรรมชาติและใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า อาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร การเพิ่มขึ้นของภัยพิบัติธรรมชาติ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ คำถามที่สำคัญคือ มนุษย์จะสามารถอยู่รอดจากการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ได้หรือไม่?

our_human_ancestors_very_nearly_extinct_900000_years_ago_SPACEBAR.jpg

โอกาสรอด เผ่าพันธุ์แห่งวานรยังมีหวังหรือไม่?

แม้ว่าการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จะเร่งตัวขึ้น แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะชะลอหายนะนี้ หากเรามีความพยายามในการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ ซึ่งอาจรวมถึงการห้ามล่าสัตว์ การลดการใช้สารเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และการกำจัดสายพันธุ์ที่รุกราน

“มนุษย์อาจจะรอดได้ แต่เราจะเหลืออารยธรรมแบบไหน?”

เอลิซาเบธ โคลเบิร์ต นักเขียนหนังสือ The Sixth Extinction กล่าว

คำถามนี้สะท้อนถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน หากมนุษย์ไม่ปรับตัวและดูแลธรรมชาติให้ดีขึ้น

การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ และมนุษย์คือปัจจัยหลักที่ทำให้มันเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดคิด หากเรายังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จะกลายเป็น “หายนะที่ไม่สามารถย้อนกลับได้”

ไม่มีคำว่าสาย สำหรับการเริ่มต้น...เราชื่อว่าวินาทีนี้เผ่าพันธุ์แห่งวานรยังพอมีโอกาสที่จะหยุดยั้งหรือชะลอผลกระทบจากการสูญพันธุ์ครั้งนี้ได้ ถ้าเราร่วมมือกันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของโลกและสรรพชีวิตทั้งหมด...อย่าได้แค่พูด แต่จงรีบทำเมื่อยังมีเวลา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์