ใดๆ ในโลกล้วนไม่จีรัง แต่ต้องยั่งยืน หลายปีมานี้คนสนใจเรื่อง “ความยั่งยืน” มากขึ้น ตามอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น และวินาทีนี้มวลมนุษยชาติตระหนักดีแล้วถึงความสำคัญของธรรมชาติ เมื่อโลกไม่บาลานซ์ ธรรมชาติไร้ซึ่งความสมดุล ผลที่ตามมาคือ ข่าวที่ปรากฏตามหน้าสื่อ ทั้งไฟป่า พายุหิมะ แผ่นดินไหว ฝุ่นพิษ ที่ล้วนเป็นวิกฤติให้เรารีบเร่งแก้ไขและเยียวยา..ก่อนที่โลกจะถึงวาระสุดท้าย
มกราคม 2025 ธรรมชาติเริ่มรับน้อง
ในช่วงต้นปี 2025 โลกเริ่มส่งสัญญาณที่ชัดเจนด้วยเหตุการณ์ผิดธรรมชาติ หรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม ซึ่งไม่ใช่แค่เหตุการณ์บังเอิญ หรือเรื่องที่สามารถมองผ่านไปได้ง่ายๆ หากแต่เป็นบทเรียนที่ธรรมชาติให้กับเรา เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

Early January ไฟป่าผลาญสหรัฐฯ
เริ่มต้นปีใหม่ได้ไม่พ้นสัปดาห์ โลกต้องเผชิญกับเหตุ ไฟป่ารุนแรงในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่อยู่ในขั้นวิกฤตผิดธรรมชาติ แม้ยากจะหาสาเหตุต้นเพลิงที่แท้จริง แต่กลับมีหลายปัจจัยเสริมที่ทำให้ไฟโหมกระหน่ำ โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของโลก ซึ่งทำให้เกิดสภาวะแห้งแล้งและเอื้อต่อการเกิดไฟป่า ทำให้ไฟลามเร็วขึ้นและยากต่อการควบคุม ในขณะเดียวกันตัวเลขอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ก็ทำให้ทั่วโลกเกิด “ภัยแล้ง” ที่ผิดปกติรุนแรงนับหมื่นครั้งในหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระบบนิเวศเสียหายอย่างรุนแรง เช่นเดียวกันประเทศไทยก็เผชิญกับไฟป่าที่ จ.นครราชสีมา ยืดเยื้อเป็นสัปดาห์เพราะเหตุจากภัยแล้ง

พายุหิมะปกคลุมยุโรป
ขณะที่ไฟป่ายังคุกรุ่นอยู่ ต้นปี 2025 ในช่วงเวลาเดียวกัน สหรัฐฯ และยุโรปก็เจอพายุหิมะถล่มหนัก โดยสหรัฐฯ ประสบกับอากาศหนาวที่สุดในรอบ 10 ปี จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน อากาศที่หนาวเย็นและลมพายุส่งผลทำให้ในบางพื้นที่ทางตอนกลางของรัฐแมนิโทบาของแคนาดา เผชิญกับอุณหภูมิลดลงต่ำถึง -40 องศาเซลเซียส
นักพยากรณ์อากาศเผยว่า สภาพอากาศที่เลวร้ายเกิดจากกระแสลมวนขั้วโลก (กระแสลมที่พัดหมุนวนในเขตขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอากาศเย็นหมุนเวียนอยู่รอบอาร์กติก
พายุหิมะครั้งนั้นทำให้การเดินทางหยุดชะงัก เที่ยวบินนับพันเที่ยวในสนามบินต่างๆ ทั่วมิดเวสต์ถูกยกเลิก ขณะที่เจ้าหน้าที่ในหลายรัฐออกเตือนประชาชนให้งดใช้ถนน เว้นแต่จะมีเหตุฉุกเฉิน “นี่อาจเป็นหิมะที่ตกหนักที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ” ศูนย์พยากรณ์อากาศขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) กล่าวในแถลงการณ์

แผ่นดินไหวเขย่าทิเบต-ญี่ปุ่น
ภายในเวลาไล่เลี่ยกันช่วงต้นเดือนมกราคม 2025 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 เขย่าทิเบต โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวมีความลึก 10 กิโลเมตร อยู่ที่เทศมณฑลติงกริ ประเทศจีน หรือที่รู้จักกันในนาม “ประตูสู่เทือกเขาเอเวอเรสต์ทางตอนเหนือ” ตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายระลอก ทำให้อาคารบ้านเรือนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเนปาล ภูฏาน และอินเดีย รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน กระทบเมืองศักดิ์สิทธิ์ของทิเบต ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
สัปดาห์ต่อมา ในเดือนมกราคม เกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.9 ที่ริมชายฝั่งทะเล Nichinan Kaigan จังหวัด Miyazaki ที่ระดับความลึก 30 กิโลเมตร และมีการเตือนภัยสำนามิขนาดความสูงราว 1 เมตร ตามแนวชายฝั่งทะเลในจังหวัด Miyazaki และ Kochi ของญี่ปุ่น
เหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่เพียงแค่สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังสร้างความวิตกกังวลในระดับนานาชาติถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกทางธรรมชาติที่ดูเหมือนจะไม่หยุดนิ่ง

ฝุ่น PM2.5 กลืนกินเอเชีย
ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา มลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 มีปริมาณสูง ทำให้หลายเมืองใหญ่ของเอเชียจมฝุ่น เช่น กรุงเทพฯ ฮานอย และกรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นักวิเคราะห์ต่างแสดงทัศนะอธิบายถึงการขยายตัวของเมือง ที่เป็นต้นเหตุทำให้ป่าไม้และพื้นที่ธรรมชาติถูกแปลงเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอุตสาหกรรม ส่งผลให้พื้นที่สำหรับดูดซับคาร์บอนลดลง และระบบนิเวศธรรมชาติที่เคยรักษาสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศเสียหาย นอกจากนี้ การขยายตัวของเมืองยังเพิ่มการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมันที่มาจากแหล่งฟอสซิล เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศในหลายเมือง

โรคระบาดในหลายประเทศ
ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2025 ที่ประเทศจีนพบการระบาดของไวรัสมีผู้ป่วยติดเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส (Human Metapneumovirus หรือ hMPV) เป็นสัญญาณเตือนถึงการระบาดของไวรัสอีกชนิด หลังจากที่ทั่วโลกต้องอยู่ในภาวะเตือนภัยฉุกเฉินจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้วเป็นเวลานานกว่า 5 ปี นอกจากนี้ยังมีรายงานการระบาดของโรคใหม่ที่ไม่สามารถระบุต้นตอได้อย่างชัดเจนในหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ซึ่งการติดเชื้อที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อากาศที่ร้อนขึ้น และการเคลื่อนย้ายของประชากรในยุคนี้

ผลกระทบจากโลกร้อนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2025 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มไม่สู้ดีของโลกที่กำลังเผชิญกับปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การทำลายป่า หรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินจำเป็น
“โลกร้อน” กำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สุขภาพมนุษย์ และเศรษฐกิจโลก อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถ้าเราไม่เริ่มปรับตัวเพื่อให้โลกกลับมาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผลกระทบที่เห็นจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ‘น้ำท่วม-ไฟป่า’ หนังฉายซ้ำที่วนกลับมาทุกปี มนุษย์แค่ลืมง่าย หรือไม่แคร์ ‘ความยั่งยืน’ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้อาจเป็นสัญญาณเตือน
และเราไม่มีทางรู้ว่า...เมื่อไหร่โลกจะเอาจริง!!