วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี คือ “วันน้ำโลก” หรือ World Water Day ที่ได้รับการกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องการใช้น้ำอย่างยั่งยืน โดยในปี 2025 วันน้ำโลก มาพร้อมกับธีมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญ คือ “อนุรักษ์ธารน้ำแข็ง” (Glacier Preservation) เพื่อสร้างความตระหนักถึงการละลายของธารน้ำแข็งทั่วโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบวัฏจักรน้ำของโลก
การละลายของธารน้ำแข็งนั้นไม่ใช่แค่การสูญเสียน้ำแข็งธรรมดา แต่เป็นการสูญเสียแหล่งน้ำจืดที่สำคัญของโลก โดยธารน้ำแข็งเป็นแหล่งเก็บน้ำจืดประมาณ 70% ของน้ำจืดทั้งหมดในโลก และเมื่อน้ำแข็งเหล่านี้ละลาย ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ก็จะเพิ่มสูงขึ้น

อัตราการละลายที่น่าตกใจ
ธารน้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลายไปด้วยอัตราเร่งจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาในวารสาร Natureล่าสุดพบว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ธารน้ำแข็งทั่วโลกสูญเสียธารน้ำแข็งไปประมาณ 5% (จากค่าเฉลี่ยที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ตั้งแต่ 2% ในแอนตาร์กติกาไปจนถึง 40% ในเทือกเขาแอลป์ของยุโรป)
สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ ธารน้ำแข็งกำลังละลายในอัตราที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปี 2012-2023 การละลายเพิ่มขึ้นถึง 36% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2000-2011 ซึ่งหมายความว่าภาวการณ์ละลายนี้อาจเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก โดยธารน้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลายประมาณ 2.73 แสนล้านตันต่อปี หรือในอัตราที่เทียบเท่ากับสระน้ำโอลิมปิกถึง 3 สระต่อวินาที จากสาเหตุหลักคือวิกฤติสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เพราะปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (และไม่มีทีท่าว่าจะลด)
ความเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล
ข้อมูลจากนาซา ระบุว่า ปี 2024 เป็นปีที่อุณหภูมิทั่วโลกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า โดยปีนี้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นถึง 0.59 เซนติเมตร ซึ่งสูงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 0.43 เซนติเมตร การเพิ่มขึ้นนี้เกิดจากการละลายของน้ำแข็ง เช่น ธารน้ำแข็ง และการขยายตัวของน้ำทะเลจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบให้กับพื้นที่ชายฝั่งและเกาะต่างๆ ทั่วโลก
หากเราไม่หาทางหยุดยั้งภาวะการละลายนี้ ผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น รวมถึงภัยคุกคามต่อพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำที่สำคัญ
ไทยเปิดงานวันน้ำโลก ปี 2025 ชูแนวคิด “น้ำคือชีวิต การอนุรักษ์น้ำและธารน้ำแข็งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”
วันที่ 21 มีนาคม จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดงานวันน้ำโลก โดยมีการจัดงานภายใต้แนวคิด “น้ำคือชีวิต การอนุรักษ์น้ำและธารน้ำแข็งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ซึ่งสอดรับกับประเด็นที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดในปีนี้ คือการอนุรักษ์ธารน้ำแข็ง (Glacier Preservation) ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและชีวิตมนุษย์ รวมถึงประเทศไทยเองที่เผชิญกับผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัย

นายกฯ ชวนคนไทยใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
ภายในงานนายกฯ ได้กล่าวคำปราศรัยผ่านคลิปวิดีโอ พร้อมเชิญชวนพี่น้องชาวไทยและหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันอนุรักษ์แหล่งน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ร่วมปรับตัวต่อสถานการณ์น้ำของโลก
“ด้วยเชื่อมั่นในความร่วมมือและความสามัคคีของทุกภาคส่วน เนื่องในโอกาสวันน้ำโลกปีนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกท่านและหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันอนุรักษ์แหล่งน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ร่วมปรับตัวต่อสถานการณ์น้ำของโลก และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยมีน้ำเพียงพอสำหรับอนาคต เพราะว่าเราทุกคนมีบทบาทสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่โลกและลูกหลานของเรา”
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร กล่าว
ทางด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลก และการละลายของธารน้ำแข็งที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำและชายฝั่งของประเทศไทย พร้อมเน้นย้ำว่าการอนุรักษ์น้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อยู่อย่างไรเมื่อไร้ธารน้ำแข็ง
การรับมือและการปรับตัวเพื่อความยั่งยืน
เราทุกคนสามารถร่วมปกป้องธารน้ำแข็งและแหล่งน้ำสะอาดของโลกให้ยั่งยืนขึ้นได้โดย
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล เช่น การใช้รถยนต์ที่ประหยัดพลังงาน หรือการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม
- ประหยัดน้ำ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน เช่น ปิดน้ำให้สนิทหลังใช้, ใช้เครื่องใช้ที่ประหยัดน้ำ หรือใช้ฝักบัวแทนการอาบน้ำในอ่าง
- เลือกใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกที่ทำให้ระบบนิเวศเสื่อมสภาพ
- มีการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ การพัฒนาระบบการเก็บน้ำฝนและการใช้เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ เพื่อให้มีน้ำสะอาดใช้ในช่วงที่แหล่งน้ำจืดขาดแคลน
นอกจากนี้ “หน่วยงานรัฐบาล” สามารถจัดการนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน “ภาคเอกชน” ก็สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อช่วยอนุรักษ์น้ำและธารน้ำแข็งให้ละลายช้าลง
สุดท้าย “ตัวเรา” หน่วยเล็กๆ แต่เป็น One Power ที่สำคัญก็สามารถร่วมมือกันทำเพื่อโลกที่ยั่งยืนได้ แค่เริ่มต้นทำสิ่งเล็กๆ ปรับไลฟ์สไตล์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เลือกซื้อ เลือกใช้สิ่งที่ใช่! อย่าปล่อยให้โลกร้อนและรวนขึ้นทุกวัน สวนทางกับเสียงตะโกนเรื่อง “ความยั่งยืน” ที่ดังขึ้นทุกที มาร่วมกันลงมือทำ แค่คลิก ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก เลือกหาวิธีที่ใช่ แล้วมาเป็นฮีโร่กู้โลกด้วยกัน เชื่อสิ...เราทำได้!!