คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV รู้ดีว่า ‘การวางแผน’ คือสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะถ้าคุณต้องออกเดินทางไกล
เนื่องจากจำนวนสถานีชาร์จยังมีไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงอุปกรณ์ที่มีอาจไม่พร้อมใช้เมื่อไปถึง เช่น หัวชาร์จชำรุด มีรถคันอื่นชาร์จอยู่ ฯลฯ
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2565) SPACEBAR เผยแพร่ผลสำรวจ เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ซื้อ EV โดยเป็นผลสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่า
กว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า...
ความกังวลเรื่องความพร้อมของสถานีชาร์จ เป็นเหตุผลอันดับหนึ่ง ที่ทำให้คนยังลังเลที่จะถอย EV
ขณะเดียวกัน เรื่องราคา EV ที่แพงกว่ารถน้ำมัน คืออีกเหตุผลที่คนกังวลมากที่สุดเช่นกัน แต่พอ 2 ปีผ่านไป ‘ราคา’ ดูจะไม่ใช่ปัญหา หลังค่ายรถแดนมังกรบุกตลาด EV ด้วยการทำสงครามราคา จนราคา EV ในตลาดต่ำลงเทียบเท่าหรืออยู่ในระดับพอๆ กับรถน้ำมัน

ปริมาณรถ EV ทั่วโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จึงมี ‘แรงต้าน’ จากจำนวนสถานีชาร์จที่ยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในประเทศไทยที่สถานีชาร์จส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ด้วยเหตุนี้ EV จึงยังไม่ตอบโจทย์คนที่ชอบเดินทางไกลและอยู่ชนบท
คำถามคือ ถ้าตอนนี้คุณมีรถ EV หรือกำลังคิดที่จะถอย EV สักคัน คุณจะเดินทางได้ไกลแค่ไหน

SPACEBAR รวบรวมสถิติระยะทางที่รถ EV วิ่งได้จากการศึกษาขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency - IEA) พบว่า ค่าเฉลี่ยของระยะทางที่รถ EV วิ่งได้ใน พ.ศ.2566 อยู่ที่ 380 กิโมเมตรต่อการชาร์จ (ชาร์จเต็ม 100%)
ระยะทางที่รถ BEV วิ่งได้โดยเฉลี่ย (อ้างอิง IEA และ Visual Capitalist)
- พ.ศ.2560, 243 กิโลเมตร
- พ.ศ.2561, 304 กิโลเมตร
- พ.ศ.2562, 336 กิโลเมตร
- พ.ศ.2563, 338 กิโลเมตร
- พ.ศ.2564, 349 กิโลเมตร
- พ.ศ.2565, 364 กิโลเมตร
- พ.ศ.2566, 380 กิโลเมตร

สมมติว่า เริ่มต้นวิ่งกิโลเมตรที่ 0 ตรงถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หากวิ่ง...
- ไปทิศเหนือ จะถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (เป็นที่ประดิษฐาน ‘พระพุทธชินราช’ ที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย) จังหวัดพิษณุโลก, ระยะทาง 375 กิโลเมตร
- ไปทิศตะวันออก จะถึงปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์, ระยะทาง 363 กิโลเมตร
- ไปทิศใต้ จะถึงหาดแม่รำพึง อ.บางสะพาน ซึ่งเป็นอำเภอเกือบปลายสุดของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ระยะทาง 380 กิโลเมตร
ตัวเลขข้างต้นเป็นการประเมินบนกระดาษ เพราะในชีวิตจริงคงไม่มีใครคิดวิ่งโดยไม่แวะชาร์จแบต หรือวิ่งจนหยดสุดท้าย แต่จะต้องวางแผนการเดินทาง คิดไว้ล่วงหน้า จะแวะชาร์จที่จุดไหน ระหว่างที่แวะชาร์จจะทำอะไร ฯลฯ หรือกรณีที่ชาร์จเสียหรือไม่ว่าง จะมีแผน B อย่างไร
ที่สำคัญต้อง ‘เผื่อเวลา’ ไว้เสมอ เพราะการเดินทางไกลด้วยรถ EV ใช้เวลามากกว่ารถน้ำมัน เนื่องจากต้องบวกเวลาแวะชาร์จแบตฯ เพิ่มเข้าไป อย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง

คนที่เคยขับ EV เที่ยวต่างจังหวัดคงนึกภาพออก และพร้อมกับการ ‘วางแผน’ และรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่มือใหม่หัดขับ EV คงต้องลองออกเดินทางไกลสักครั้ง จะได้รู้จริงจากประสบการณ์ ดีกว่าวนเวียนอยู่กับความกังวลในจินตนาการ
สำหรับใครที่คิดจะถอย EV แต่ยังไม่แน่ใจ แนะนำให้ลองเช่า EV ขับไปต่างจังหวัด สัมผัสของจริงสักครั้ง น่าจะช่วยตอบตัวเองได้มากขึ้นว่า คุณเหมาะหรือไม่กับ EV
“รถยนต์ไฟฟ้าขับสนุกจริง ยอมรับ แต่ถ้ามีที่ชาร์จแพร่หลายกว่านี้ หรือมีเทคโนโลยีอัดไฟเร็วกว่านี้ น่าจะดีไม่น้อย ไม่รู้ต้องใช้เวลาอีกกี่ปี”
สมาชิกหมายเลข 830465 เจ้าของกระทู้ ‘ขับ EV ออกต่างจังหวัด หัวจะปวด’ ใน pantip.com
คือความเห็นจาก สมาชิกหมายเลข 830465 เจ้าของกระทู้ ‘ขับ EV ออกต่างจังหวัด หัวจะปวด’ ใน pantip.com เมื่อปลายปี 2566
เขาทิ้งท้ายด้วยคำถามที่น่าสนใจว่า ต้องใช้เวลาอีกกี่ปี ถึงจะมีสถานีชาร์จแพร่หลายกว่านี้ คำถามนี้ชวนให้ SPACEBAR นึกถึงบทสนทนากับชายคนหนึ่งที่เป็นหัวเรือใหญ่เรื่อง EV ในเมืองไทยเมื่อกลาง พ.ศ.2566

พิชิต พงษ์ประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. (EleXA) เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มบุกเบิกตลาด EV ในฐานะผู้ส่งเสริมและวางโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อ 4 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2563)
เราถามเขาว่า คุณคิดอย่างไรกับสถานการณ์ EV ในประเทศไทย?
คุณพิชิตบอกว่า ถ้าพูดถึงจำนวนรถ มองย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ถือว่าโตเร็วกว่าที่คิด ราคารถที่ถูกลง มีผลต่อการตัดสินใจของคนให้เปลี่ยนมาใช้รถ EV โดยเฉพาะรถจีนราคาต่ำล้านที่เข้ามาทำตลาด
“คือจีนที่ออกนอกประเทศได้ เป็นจีนที่ถูกคัดเกรดมาระดับหนึ่งแล้ว สำหรับผม ถือว่าเป็นจีนคุณภาพนะ”
คุณพิชิตประเมินจากสถานการณ์ในตอนที่ให้สัมภาษณ์ว่า อีกสิบปีข้างหน้า รถ EV ในไทยที่หมายถึงรถทุกประเภทรวมกัน น่าจะมีราว 1.5-2 ล้านคัน
แต่เขาก็ขอวงเล็บไว้นิดนึงว่า ภาพอนาคตการเติบโต EV อาจเร็วกว่าที่คิด เพราะในฐานะคนอยู่แถวหน้า ต้องติดตามข้อมูล อ่านรายงาน คาดการณ์สถานการณ์ เขาพบว่าตัวเลขรายงานในอดีต มักประเมินไว้ต่ำกว่า เมื่อความจริงเดินทางมาถึง
ส่วนจำนวนสถานีชาร์จจะแพร่หลายทั่วประเทศใช้เวลานานแค่ไหน คุณพิชิตตอบโดยให้มุมมองว่า อยู่ที่ความสมดุล เพิ่มเยอะและเร็วไปก็ไม่ดี แต่น้อยและช้าไปก็ไม่ได้
เพราะการเพิ่มจุดชาร์จแต่ละจุดคือต้นทุน ซึ่งเวลานี้เทคโนโลยีจุดชาร์จ (รวมถึงแบตเตอรี่) อยู่ในจุดที่พัฒนาและยังไม่นิ่ง ถ้าลงจุดชาร์จเยอะ เท่ากับลงเงินไปเท่านั้น แต่อีกปีสองปีข้างหน้า อาจมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า (ซึ่งมีแน่ๆ เพราะตลาดแข่งกันดุเดือด) จุดชาร์จที่ลงไป ก็จะเป็นเทคโนโลยีเก่า และอาจถูกแทนที่ด้วยจุดชาร์จใหม่ที่ดีกว่าถูกกว่า

ดังนั้นการเพิ่มจุดชาร์จต้องวางแผนให้ดี ให้สมดุลกับความต้องการของผู้ใช้ และโจทย์ทางธุรกิจที่ต้องอยู่ได้
จุดชาร์จจะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่อาจไม่ทันใจผู้ใช้ EV และไม่สะดวกเท่ากับรถน้ำมัน (อย่างน้อยก็เร็วๆ นี้ มองง่ายๆ คนขับรถน้ำมันไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องวางแผนเดินทาง)
ท่องไว้ว่า คิดขับ EV เดินทางไกล อย่าลืมวางแผนการเดินทาง