ในทุกๆ ปีมีกระทงมากมายถูกลอยลงสายน้ำเพื่อส่งถึงพระแม่คงคา ทั้งที่ทำด้วยความตั้งใจที่ดี วิธีที่ถูก คละเคล้ากับคนที่ยังลอยแบบส่งๆ ลอยสนุกๆ โดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็น #ดราม่าลอยกระทง ส่งเสริมเทศกาลวันน้ำเสีย ด้วยปัจจัยหลักมาจากกระทงนับล้านที่ถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลอง

แต่นั่นคือในยุคก่อนการมาถึงของ Covid-19 เพราะหากดูตามสถิติการจัดเก็บขยะกระทงของกรุงเทพมหานคร ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่าคนกรุงตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยสัดส่วน #กระทงรักษ์โลก ที่เพิ่มขึ้น และทางเลือก #ลอยกระทงดิจิทัล ที่หลายภาคส่วนมุ่งมั่นตั้งใจลดขยะกระทงให้เป็นศูนย์ (Zero Waste)

ย้อนดูแก่นแท้ของลอยกระทง
จุดประสงค์ของการลอยกระทงที่เรารับรู้มา ทั้งการขอขมาพระแม่คงคา ความเชื่อเรื่องการลอยความทุกข์ ความโศก และโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีไทยไม่ให้สูญหาย ทั้งหมดก็เพื่อให้เราตระหนักถึงคุณค่าของ “น้ำ” ที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิต
ลอยกระทงไม่หลงทาง
วันลอยกระทงปีนี้ SPACEBAR VIBE อยากให้เทศกาลนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมแชร์ไอเดียกระทงรักษ์โลก และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ก่อนที่เราจะไปเลือกกระทงในวันจริง

เลือกใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ
ไอเดียกระทงรักษ์โลกที่สำคัญ คือการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ วัสดุที่ย่อยสลายได้ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และจะดีมากหากเราเลือกใช้วัสดุทำกระทงที่เป็นวัสดุประเภทเดียวกันจะได้ง่ายต่อการคัดแยก เพื่อให้เทศกาลนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทงที่แนะนำ เช่น
- กระทงจากต้นกล้วย ใบตอง
- กระทงกะลามะพร้าว กาบมะพร้าว
- กระทงดอกบัว
- กระทงเปลือกข้าวโพด
- กระทงผักสด
- กระทงน้ำแข็ง
อย่าลืม! เรื่องของวัสดุอันตราย อย่างตะปู หมุดโลหะ แม็กเย็บกระดาษ หรือลวดที่ใช้ในการทำกระทง เพราะกระทงจากวัสดุธรรมชาติจะถูกคัดแยกเพื่อเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี และถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป เช่น ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ หมักทำปุ๋ย หรือก๊าซชีวภาพ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดเป็นอันตรายกับสัตว์น้ำและคน แนะนำให้เลือกใช้ไม้กลัดจะดีที่สุด

เลี่ยงกระทงที่ทำจากขนมปัง
เรื่องของกระทงขนมปังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่เกิดจากความตั้งใจที่ดี เพราะหลายคนเลือกกระทงขนมปัง กระทงที่ทำจากโคนไอศกรีม หรือทำจากอาหารปลาที่คล้ายขนมอบกรอบหลากสี เพราะคิดว่าจะเป็นอาหารของปลา เต่า ย่อยสลายได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงเรื่องนี้มีผลกระทบกับสัตว์น้ำและแหล่งน้ำ
...ลอย 1 คืน ฟื้นฟู 4 เดือน กรณีศึกษาปี 2566
“เทศกาลลอยกระทง 2566 สวนสันติภาพ เขตราชเทวี มีประชาชนมาลอยกระทง 14,000 คน เก็บกระทงได้ 6,800 ใบ และมีกระทงขนมปังที่นับจำนวนไม่ได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะมากเกินกว่าที่ปลาในบ่อจะกินหมด เมื่อกระทงขนมปังละลายกลายเป็นอาหารให้แบคทีเรียในน้ำ ก็ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ขนมปังที่เปื่อยยุ่ยกลายเป็นตะกอนรวมกับดินโคลนก้นบ่อ กระทบกับกลุ่มปลาที่ซุกตัวในดิน ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือปลาในบ่อแห่งนี้ลอยตายเกลื่อนหลายร้อยตัว ต้องนำปลาที่ตายออก แล้วย้ายปลาที่ยังรอดไปอยู่บ่ออื่น ระบายน้ำเน่าเสีย ดูดดินเลน ปรับสมดุลระบบนิเวศของบ่อน้ำใหม่ ซึ่งใช้เวลานานกว่า 4 เดือน จึงขอให้ประชาชนงดลอยกระทงขนมปังเพื่อป้องกันปัญหานี้” วรนุช สวยค้าข้าว รอง ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม เผยเรื่องกรณีศึกษาวันลอยกระทงปีที่ผ่านมา

ลอยกระทง Zero Waste ลดขยะเป็นศูนย์
ทางเลือกสายกรีนยุคดิจิทัลที่ได้รับผลตอบรับมากขึ้นเรื่อยๆ คือการลอยกระทงออนไลน์ ที่ใช้แค่พลังงานไฟฟ้าจากสมาร์ทโฟนและเซิร์ฟเวอร์ แต่ไม่ก่อให้เกิดขยะ และมลพิษทางน้ำ โดยทำได้ผ่านเว็บไซต์ greener.bangkok.go.th ลอยกระทงเสมือนจริงที่เราเลือกลอยในสวนสาธารณะได้ถึง 34 แห่งทั่วกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ยังมีการลอยกระทงดิจิทัล ที่เราสามารถระบายสีตกแต่งกระทงของตัวเอง โดยระบุชื่อและคำอธิษฐาน ส่งไปฉายเป็นภาพกระทงแทนการลอยกระทงจริง ซึ่งวิธีนี้ก็ทำให้คนได้ออกมาร่วมทำกิจกรรมนอกบ้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ แถมสามารถลดขยะไปได้พร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวิธีที่เราสามารถช่วยกันทำให้เทศกาลนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น
- การลดขนาดกระทงลง เพื่อลดการใช้ทรัพยากร
- การลดจำนวนกระทง บ้านเดียวกันลอยด้วยกัน ช่วยลดจำนวนขยะกระทง ลดภาระการกำจัด
- ลอยกระทงในแหล่งน้ำปิด เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บขยะกระทง และไม่ลอยกระทงในทะเล
- เดินทางมาด้วยรถสาธารณะ ลดการก่อมลพิษทางอากาศ และลดการใช้พลังงาน

ไปเที่ยวงานลอยกระทง เลือกกระทงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช้อปชิมของอร่อยกันแล้ว ก็อย่าลืมแยกขยะกันด้วย สุดท้ายอยากเตือนคนที่ยังคิดจะใช้ “กระทงโฟม” ให้เลิกคิดซะ เพราะมันเอาท์ไปแล้วในยุครักษ์โลก
ใครอ่านมาถึงตรงนี้เห็นแล้วใช่ไหมว่าจะ “ขอขมา” หรือ “สร้างหายนะ” สำหรับเทศกาลลอยกระทงปีนี้...เราเลือกได้!!