‘นึกว่าทางแก้ แต่แค่บรรเทา’ หลุมพรางทางความคิด เรื่องการรีไซเคิลพลาสติก

18 ต.ค. 2567 - 11:46

  • วังวนที่จบสิ้นแล้วของจีน อดีตเจ้าของฉายา “ถังขยะโลก”

  • 3 เหตุผลว่าทำไมการรีไซเคิลพลาสติกจึงไม่ใช่ทางออก

pitfalls-of-thinking-regarding-plastic-recycling-SPACEBAR-Hero.png

พลาสติกเข้าแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เพราะขึ้นรูปได้ง่าย แข็งแรง ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ราคาถูก ใช้เสร็จแล้วทิ้งได้เลย จนสร้างขยะจำนวนมหาศาลที่จัดการยาก และก่อให้เกิดมลภาวะ ทำให้หลายคนมองพลาสติกเป็น “ผู้ร้าย” ที่ใช้เวลาย่อยสลายกว่า 400 ปี กินเวลาราว 6 ชั่วอายุคน

แต่ในขณะเดียวกันหลายคนกลับมองพลาสติกเป็นเงิน เป็นการสร้างรายได้ และเป็นโอกาส เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ นี่แหละจุดเริ่มต้นของหลุมพรางทางความคิด เรื่องการรีไซเคิลพลาสติก

วังวนที่จบสิ้นแล้วของจีน อดีต “ถังขยะโลก”

เคสการเลิกนำเข้าขยะเพื่อรีไซเคิลของประเทศจีน ในปี 2018 ลบภาพเจ้าของฉายา “ถังขยะโลก” ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข หลังจีนเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรง เรื่องนี้เปิดโปงหลุมพรางทางความคิด เรื่องการรีไซเคิลพลาสติก ที่ฝังหัวชาวกรีนมาเสมอว่า การรีไซเคิลเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นทางออกเรื่องการจัดการขยะที่ดีที่สุด

pitfalls-of-thinking-regarding-plastic-recycling-SPACEBAR-Photo01.png
Photo: ภาพของขยะพลาสติกในกองขยะ ที่บางชนิดไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้

3 เหตุผลไขข้อข้องใจ ทำไมการรีไซเคิลพลาสติกจึงไม่ใช่ทางออก

9% คือตัวเลขการรีไซเคิลที่น้อยเกินไป

ในแต่ละปีมีการผลิตพลาสติกราว 368 ล้านตัน แต่มีเพียง 9% ของขยะพลาสติกทั่วโลกเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล นอกนั้นเหมือนตายทั้งเป็น เพราะถูกมองเป็นขยะที่ไร้ค่าและมีปลายทางเป็นเตาเผา หรือไปยังหลุมฝังกลบ (landfill) ซ้ำร้ายก็มีเล็ดลอดไปในธรรมชาติ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางทะเล รวมถึงเรื่องที่หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าพลาสติกทุกชนิดรีไซเคิลได้ ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ใช่พลาสติกทุกชนิดจะนำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลได้

การรีไซเคิลมีต้นทุน

เหตุผลหลักด้านเศรษฐศาสตร์ การที่ขยะหลายประเภทไม่ถูกรีไซเคิลเพราะไม่คุ้มทุน ตั้งแต่การรวบรวม การล้างทำความสะอาด การขนย้าย และแปรรูป ที่มีค่าใช้จ่ายทุกขั้นตอน ทว่า คุณภาพของพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลกลับมีคุณภาพต่ำลง (Down cycle) ซึ่งประเทศส่วนใหญ่รวมถึงประเทศไทยมีกฎห้ามนำกลับมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหาร

pitfalls-of-thinking-regarding-plastic-recycling-SPACEBAR-Photo02.png
Photo: น้ำเสียจากโรงงานรีไซเคิลที่ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีและไมโครพลาสติกไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

รีไซเคิลพลาสติก ดาบสองคมสิ่งแวดล้อม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงงานรีไซเคิลต้องใช้พลังงานสูงในกระบวนการรีไซเคิลและมีการปล่อยมลพิษ  งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of Hazardous Material Advances เดือนพฤษภาคม 2023 ระบุว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Strathclyde ได้เก็บตัวอย่างน้ำเสียจากโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรมาวิเคราะห์ พบไมโครพลาสติกในน้ำประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ และประเมินว่าน้ำเสีย 1 ลูกบาศก์เมตรจากโรงงานรีไซเคิลแห่งนี้อาจปล่อยไมโครพลาสติกออกมามากถึง 75,000 ล้านชิ้น

ยังไม่นับสารพิษอื่นๆ ที่โรงงานปล่อยออกมาจากกระบวนการล้างพลาสติกหลายครั้ง ก่อนนำมาแช่ในสารเคมีเพื่อทำให้ชื่อของผลิตภัณฑ์หลุดลอกออกไป จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการย่อยขนาดให้เล็กลง และละลายด้วยความร้อนเพื่อทำให้เป็นเม็ดพลาสติกซึ่งต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล อีกทั้งยังปล่อยสารเคมีอันตรายออกสู่อากาศและแหล่งน้ำ สร้างผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม

pitfalls-of-thinking-regarding-plastic-recycling-SPACEBAR-Photo03.png
Photo: ขยะพลาสติกบนสายพานลำเลียง หนึ่งในกระบวนการในโรงงานรีไซเคิล

ทั้งหมดนี้จึงสรุปได้ว่า การรีไซเคิลพลาสติกไม่ใช่ทางออกของปัญหาขยะพลาสติกบนโลก แต่เป็นเพียงหนทางบรรเทาความรุนแรงของปัญหาที่ปลายเหตุ ซ้ำยังก่อให้เกิดวิกฤตที่ซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดใหม่ของพลาสติกคุณภาพต่ำ มลภาวะทางน้ำ มลพิษทางอากาศ รวมถึงไมโครพลาสติกที่เกิดขึ้นในกระบวนการรีไซเคิล 

ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่ลดละเลิกการผลิตพลาสติก หรือมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ดีต่อโลกมาทดแทน ก็เหมือนเราแค่เช็ดน้ำที่ไหลออกมาจากถังน้ำล้น ทั้งๆ ที่ก๊อกน้ำยังเปิดอยู่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์