แม้ว่าการรีไซเคิลพลาสติก จะไม่ใช่ทางออกแบบ 100% แต่เพื่อลดปัญหาเรื่องไมโครพลาสติก มลภาวะและขยะพลาสติก ต้องบอกว่าการรีไซเคิล (Recycle) เป็นหนทางดีที่สุดที่จะช่วยลดพลาสติกเกิดใหม่ และเป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มากกว่าจะใช้แล้วทิ้งเพียงครั้งเดียว

สัญลักษณ์นี้มีที่มา
การรีไซเคิลไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970 ซึ่งเป็นยุคที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม โดยในปี ค.ศ. 1988 สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกแห่งสหรัฐอเมริกา (The Society of the Plastics Industry Inc.) ได้กำหนดสัญลักษณ์และรหัสชนิดพลาสติกบนผลิตภัณฑ์ เพื่อจุดประสงค์ในการคัดแยกพลาสติกไปรีไซเคิล โดยกำหนดเป็นรูปลูกศรวนเป็นสามเหลี่ยม ที่มีเลขกำกับอยู่ภายใน มาดูกันว่าความหมายของแต่ละหมายเลขบอกอะไรกับเรา และเราสามารถส่งน้องไปเกิดใหม่เป็นอะไรได้บ้าง

7 หมายเลขบนสัญลักษณ์พลาสติกรีไซเคิล
No. 1 PET / PETE
ย่อมาจาก : Polyethylene Terephthalate
ลักษณะ : ใส เหนียว แข็งแรง น้ำหนักเบา ป้องกันน้ำซึมผ่านได้ดี
การใช้งาน : บรรจุภัณฑ์ Food Grade สำหรับใส่อาหารและเครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) เช่น ขวดน้ำดื่ม โซดา น้ำอัดม น้ำมันพืช กล่องใส่อาหาร
อัตราการรีไซเคิล : รีไซเคิลได้ดี
เกิดใหม่เป็น : ขวดพลาสติก เส้นใยโพลีเอสเตอร์ กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ขนแกะเทียม
No. 2 HDPE
ย่อมาจาก : High-Density Polyethylene
ลักษณะ : ขุ่น ยืนหยุ่น ผิวไม่มันเงา แข็งเหนียว ความหนาแน่นสูง น้ำหนักเบา ทนต่อการทำละลายและความร้อน
การใช้งาน : พบได้ทั่วไปในผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เช่น ขวดนม ขวดน้ำผลไม้ ขวดโยเกิร์ต ขวดแชมพู น้ำยาทำความสะอาด ภาชนะใส่น้ำมัน
อัตราการรีไซเคิล : รีไซเคิลได้ดี
เกิดใหม่เป็น : ถุงขยะ ขึ้นรูปเป็นโต๊ะ ม้านั่ง รั้วไม้เทียม ลังพลาสติกใส่ของ
No. 3 PVC or V
ย่อมาจาก : Polyvinyl Chloride เรียกกันทั่วไปว่าไวนิล
ลักษณะ : น้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน ยืดหยุ่น ทนทานต่อสารเคมีและการขัดถู มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
การใช้งาน : ท่อน้ำ สายยาง ประตู อุปกรณ์การแพทย์ ถุงมือ หนังเทียม ขวดน้ำยาทำความสะอาด
อัตราการรีไซเคิล : รีไซเคิลได้แค่บางส่วน
เกิดใหม่เป็น : ของเล่นพลาสติก กรวยจราจร ม้านั่งพลาสติก รางน้ำและท่อพลาสติก
คำเตือน!! No. 3 PVC เป็นพลาสติกที่จะปล่อยสารพิษออกมาเมื่อได้รับความร้อน จึงไม่ควรใช้ใส่อาหาร และไม่ควรทำลายด้วยการเผา
No. 4 LDPE
ย่อมาจาก : Low-Density Polyethylene
ลักษณะ : ใส นิ่ม เหนียว ยืดหยุ่นได้ดี น้ำหนักเบา ทนต่อความเย็นและสารเคมี ความหนาแน่นต่ำ
การใช้งาน : ถุงช้อปปิ้ง พรม เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า พรม ขวดบีบได้ และบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง
อัตราการรีไซเคิล : รีไซเคิลได้แค่บางส่วน และทำได้ค่อนข้างยาก
เกิดใหม่เป็น : รีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกแบบบาง ถุงหูหิ้ว ถุงดำ ถุงขยะ กระเบื้องปูพื้น
No. 5 PP
ย่อมาจาก : Polypropylene
ลักษณะ : เหนียว น้ำหนักเบา ทนต่อความชื้นและสารเคมี
การใช้งาน : จาน ชาม ขวดซอสพลาสติก ถ้วยโยเกิร์ต ขวดยา หลอดดูด กระบอกน้ำ ถังใส่สี
อัตราการรีไซเคิล : รีไซเคิลได้ดี
เกิดใหม่เป็น : ชิ้นส่วนรถยนต์ กล่องแบตเตอรี่ในรถยนต์ กันชนรถยนต์ ไม้กวาดพลาสติก หรือกล่องพลาสติกที่สามารถเข้าไมโครเวฟ ที่มีคำว่า “Microwave Safe”
No. 6 PS
ย่อมาจาก : Polystyrene
ลักษณะ : โปร่งใส ทนต่อกรด-ด่าง ไอน้ำซึมผ่านได้ น้ำหนักเบา เปราะแตกง่าย ต้นทุนการผลิตไม่แพง เหมาะสำหรับการใช้งานครั้งเดียว
การใช้งาน : กลุ่มบรรจุภัณฑ์ชนิดกล่องโฟมใส่อาหาร แผ่นฉนวน ช้อนส้อม แก้วกาแฟและฝาปิด
อัตราการรีไซเคิล : รีไซเคิลได้แค่บางส่วน
เกิดใหม่เป็น : รีไซเคิลเป็นจาน แผงไข่ไก่ ไม้แขวนเสื้อ ไม้บรรทัด กล่องซีดี
No. 7 OTHER (PC / PLA)
ย่อมาจาก : ชนิดอื่นๆ คือหมวดหมู่เบ็ดเตล็ดสำหรับพลาสติกทั้งหมดที่ไม่ใช่ **No. 1-**6 หรือเป็นพลาสติกผสม
ลักษณะ : โพลีคาร์บอเนต (PC), พลาสติกชีวภาพ โพลีแลคติกแอซิด (PLA) และโพลีบิวทิลีนอะดิเพต (PBAT) หรือพลาสติกเกรดวิศวกรรม เช่น โพลีบิวทีลีนเทเรฟทาเลต (PBT) หรือผสมกัน
การใช้งาน : นำมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรม เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า แว่นกันแดด เคสมือถือ ขวดนมเด็ก หมวกนิรภัย ไฟจราจร ป้ายโฆษณา และอุปกรณ์กีฬา
อัตราการรีไซเคิล : พลาสติกในหมวดนี้มักประกอบด้วย BPA, โพลีคาร์บอเนต และ LEXAN ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ หากไม่ถูกกำจัดอย่างเหมาะสม
เกิดใหม่เป็น : กระสอบปุ๋ย ถุงขยะ
คำเตือน!! No. 7 โดยส่วนใหญ่มีสาร Bisphenol A หรือ BPA ที่มีผลต่อฮอร์โมนทำให้เด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคหัวใจ และเมื่อได้รับความร้อน นำเข้าไมโครเวฟ หรือสัมผัสกรดหรือด่าง BPA ก็จะยิ่งละลายออกมาปนเปื้อนมากขึ้น จึงไม่ควรใช้พลาสติกประเภทนี้บรรจุอาหาร
เพียงรู้ 7 หมายเลขบนสัญลักษณ์พลาสติกรีไซเคิล เรื่องการแยกขยะก็ไม่ใช่เรื่องยาก คำว่า “รักษ์โลก” “Sustainability “ หรือ “ความยั่งยืน” ก็ไม่ใช่คำที่ยิ่งใหญ่หรือไกลตัว เริ่มเลย! เริ่มง่ายๆ ที่ตัวเรา!เพราะเรื่องของความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง