เป็นที่ติดตามทุกปี สำหรับดัชนีความยั่งยืนของจุดหมายปลายทางทั่วโลก หรือ The Global Destination Sustainability Index (GDS-Index) ซึ่งเป็นการจัดอันดับเมืองที่มีความเป็นเลิศในเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเกณฑ์ที่มีรากฐานมาจากหลักปฏิบัติซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย
โดยในปี 2024 ได้มีการนำเสนอเกณฑ์ใหม่ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การจัดการสิ่งแวดล้อม สังคม ซัพพลายเออร์ และจุดหมายปลายทาง ซึ่งการปรับปรุงเหล่านี้ทำให้ GDS-Index เป็นเครื่องมือที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อเตรียมจุดหมายปลายทางให้พร้อมรับมือกับความท้าทายที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาสังคมที่รุนแรงมากขึ้นจากกฎหมายที่ล้าหลัง
Top 10 จุดหมายปลายทางที่มีความยั่งยืนที่สุดในโลก ปี 2024
- เฮลซิงกิ ฟินแลนด์ > 92.43%
- โกเธนเบิร์ก สวีเดน > 90.83%
- โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก > 88.19%
- เบอร์เกน เดนมาร์ก > 86.49%
- อาร์ฮุส เดนมาร์ก > 85.68%
- บอร์โดซ์ ฝรั่งเศส > 83.37%
- สิงคโปร์ > 83.37%
- ออสโล นอร์เวย์ > 83.26%
- เบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ > 83.14%
- ซิดนีย์ ออสเตรเลีย > 83.13%
“เฮลซิงกิ” แชมป์โลกใหม่ เป้าหมายชัดเจน
แม้จะเป็นครั้งแรกที่เฮลซิงกิได้ขึ้นครองตำแหน่งแชมป์โลก โดยล่าสุดได้ 92.43% ขึ้นจาก 90.49% ในปี 2023 แซงหน้าโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ซึ่งเคยครองอันดับสูงสุดมาก่อน แต่เมืองนี้และอีกหลายเมืองในประเทศฟินแลนด์ ก็เป็นผู้นำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนที่ล้ำสมัยในยุโรปตอนเหนือ นอกจากนี้ เฮลซิงกิยังขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัยและมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม
เป้าหมายที่ชัดเจนของเฮลซิงกิ สอดคล้องกับที่รัฐสภาของฟินแลนด์ได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประกาศใช้ในปี 2022 โดยให้คำมั่นว่าจะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2035 และการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negative) ภายในปี 2040 โดยวางระบบจราจรยั่งยืน อาคารประหยัดพลังงาน เน้นผลิตพลังงานสะอาด เศรษฐกิจอัจฉริยะและเศรษฐกิจหมุนเวียน การท่องเที่ยวและอีเวนต์ที่เป็นมิตรกับโลก ซึ่งทั้งหมดมีผลผูกพันตามกฎหมาย
จุดหมายปลายทางที่มีความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สิงคโปร์ เป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ดำเนินการตามแผน Green Plan 2030 โดยเดินหน้าเปลี่ยนสิงคโปร์ให้เป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวของโลก และเป็นไปตามข้อตกลงปารีสที่กำหนดให้นครรัฐบรรลุเป้าหมายยุติการปล่อยมลพิษในระยะยาวเพื่อคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ยั่งยืน โดย GDS-Index ปีนี้อยู่ที่ 83.37% ขณะที่อันดับที่ 2-5 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ซิดนีย์ 83.13%, โกยาง เกาหลีใต้ 78.90%, เมลเบิร์น 76.61% และบริสเบน 75.23% ตามลำดับ
“สงขลา” ยืนหนึ่งในไทย คว้าอันดับ 3 ในเอเชีย และอันดับ 34 ของโลก
มาที่ทวีปเอเชียและประเทศไทยกันบ้าง จากรายงานของ GDS-Index 2024 พบว่าในทวีปเอเชีย 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 ประเทศสิงคโปร์
อันดับที่ 2 เมืองโกยาง ประเทศเกาหลีใต้
อันดับที่ 3 จังหวัดสงขลา ประเทศไทย (อันดับที่ 34 ของโลก)
โดยจังหวัดสงขลาได้ 74.89% ด้วยศักยภาพในฐานะเมืองไมซ์ที่มุ่งเน้น “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จาก Global Destination Sustainability Index ผ่าน 4 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย
- สิ่งแวดล้อมของเมือง (City Environmental Performance)
- สังคมของเมือง (City Social Performance)
- ความสามารถของการให้บริการ (Supplier Performance)
- การจัดการจุดหมายปลายทาง (Destination Management Performance)
ด้วยความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ทำให้จังหวัดสงขลาติดอันดับเมืองที่มีความยั่งยืนระดับโลก มีทะเลและเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำสงขลาที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ผสานกับการมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เก่าแก่
นอกจากนี้ เกาะหมาก จังหวัดตราด, บ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสาปยา จังหวัดชัยนาท ยังเคยได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ที่จัดโดย Green Destinations Foundation ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี 2022 และล่าสุดกับรางวัล Green Destinations Top 100 Stories ปี 2024 ที่ประเทศไทยคว้ามาอีก 6 สถานที่ท่องเที่ยวยั่งยืน
เรียกว่าประเทศไทยมาถูกทาง และกำลังเร่งสร้างศักยภาพด้านความยั่งยืน เสริมความเชื่อมั่นที่จะเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวยั่งยืนซึ่งเป็นเทรนด์โลกอยู่ในขณะนี้และปีต่อๆ ไป