แน่นอนว่าการสัมภาษณ์ ‘กิตติภัทร ภูศิริ’ ในบทความ อ่านความคิด ‘ผู้นำเทรนด์ นศท.’ ต่อ ‘นโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ ชิมลางสมรภูมิเลือกตั้ง มีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อ่าน ซึ่งผู้เขียนขอน้อมรับที่กรุณามอบคำชม - คำตำหนิทุกกรณี อย่างไรเสีย เมื่อระบุไว้ว่าจะเขียนต่อถึงเรื่องราวนอกประเด็นการเมือง สัญญาย่อมบิดพลิ้วมิได้ เพราะเชื่อว่ายังมีหลายท่านสนใจติดตาม อยากอ่านบทสนทนาที่ค้างคาไว้ให้จบบริบูรณ์
งานเขียนชิ้นนี้จึงเป็นเนื้อหาการพูดคุยระหว่างผมและ ‘กิตติภัทร’ ในฐานะมนุษย์ที่อยาก ‘เข้าใจเพื่อนมนุษย์’ ซึ่งเนื้อหาที่ผ่านการเรียบเรียงมิผิดแผกจากหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของนักข่าว เป็นเพียงการตีแผ่ความคิดของทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะทุกเรื่องไม่มีขาวไม่มีดำ มีแค่ชอบหรือไม่ชอบ เชื่อว่าผู้อ่านย่อมมีวิจารณญาณในการตัดสินใจเอาเอง อาจมีประเด็นจากสังคมถามไถ่แหล่งข่าวไปด้วย เพื่อตอบคำถามสาธารณะ และอรรถรสในการเสพเนื้อหามากขึ้น
บทสนทนาแก่นหลักชัดเจน คือ ทำความรู้จักกับ ‘ราชา นศท.’ ในฐานะ รด. ที่ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลฯ มากที่สุดในตอนนี้

อธิบายตัวเอง ในฐานะของ ‘ภูมิ’ เด็กมหา’ลัย และพลเรือนคนหนึ่งให้ฟังหน่อย
ผมชื่อ ‘กิตติภัทร ภูศิริ’ อายุ 22 ปี ศึกษาอยู่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งหนึ่ง ในคณะรัฐประศาสนศาสตร์ชั้นปีที่ 2 เพิ่งจบหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 5 มาหมาดๆ ในฐานะพลเรือน ผมเป็นคนชอบศึกษาประวัติศาสตร์ และเครื่องแบบทหาร รวมไปถึงแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยอะไรคือความสนใจที่ทำให้พลเรือนอย่างคุณถึงชอบและคลั่งไคล้ ‘ทหาร’
จริงๆ เรื่องทหารผมชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว เพราะศึกษาอ่านประวัติศาสตร์ เห็นภาพการมีบทบาทของทหารและกองทัพในตัวหนังสือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พอโตขึ้นมีโอกาสอำนวยหลายส่วน จึงทำตามความฝันโดยการเรียน รด. และจัดตั้งกลุ่มผู้สนใจในเครื่องแบบทั้งอดีตและปัจจุบัน นำเสนอแง่มุมทางเครื่องแต่งกายที่เปลี่ยนผ่านมาทุกยุคทุกสมัยเคยคิดอยากเป็น ‘ทหารอาชีพ’ ไหม?
ยอมรับว่ามีความฝันอยากเป็นทหาร หลายคนก็ถามว่าแล้วจะเรียน รด. ทำไม ไม่สมัครสอบโรงเรียนทหารแบบคนอื่น ผมขอย้อนกลับไปตอนเรียนมัธยมศึกษา ครอบครัวก็เหมือนทั่วๆ ไปกวดขันให้เรียนสายวิทย์-คณิตฯ อยากให้ทำงานสายวิศวกรรม หรือเทคโนโลยี ดังนั้นแนวทางช่วงแรกตอนเข้ามหาวิทยาลัย ก็ต้องไปตามแนวทางที่เรียนมา คือด้านเทคโนโลยีไอที
กระทั้งคิดว่า ไม่ตอบโจทย์ความเป็นตัวเอง จึงตัดสินใจย้ายสถาบัน ไปเลือกคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่สอนในเรื่องการเมืองการปกครอง ซึ่งตอบโจทย์ความชอบ นอกจากนี้ผมยังสามารถเรียน นศท. ปี 4 –5 ได้ เพราะคณะเก่าค่อนข้างเรียนหนัก ครอบครัวจึงไม่แนะนำให้เรียน รด. ควบคู่วิชาการ
แต่จริงๆ ช่วงสถานการณ์โควิด -19 และจะไม่เรียนต่อ รด. ด้วยซ้ำ อีกทั้งมีคิดแบบบคนอื่นทั่วไปจบปี 3 แล้วก็ไม่จำเป็นต้องต่อ แต่ด้วยความชอบและคิดอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าการเรียนมันก็มีข้อดี ในการทำกิจกรรมยามว่างให้มีประโยชน์ รวมถึงขจัดความเบื่อหน่ายหลายอย่างออกไป เพื่อนฝูงก็เพิ่ม จึงตัดสินใจสมัครเรียนต่อ
ถ้าย้อนกลับไปได้ พ่อแม่ไม่ปิดกั้นให้เรียนสายวิทย์-คณิตฯ จะสมัครสอบโรงเรียนเหล่าหรือไม่?
จริงๆ ก็อยาก แต่ช่วงเรียนมัธยมฯ เรื่องสภาพร่างกายและองค์ความรู้ยังไม่เพียงพอต่อการสมัครสอบแข่งขัน อีกทั้งมีความผูกพันกับเพื่อนในโรงเรียน และยังสนุกกับการเป็นนักศึกษาวิชาทหารด้วย ดันนั้นองค์ประกอบเหล่านี้ยืนยันว่าต่อให้ย้อนเวลาไปได้คงไม่สอบทหาร
การเป็น นศท. ปี 4 – 5 ต้องเจออะไรบ้าง?
มีหลายอย่างครับ โดยเฉพาะวิชาทางทหารที่ลุ่มลึกกว่าการเรียนระดับสามัญ หรือ ปี 1 - 3 ที่มีทั้งยิงปืน กระโดดหอสูง 34 ฟุต และหลักสูตรที่นักศึกษาวิชาทหารปี 4 หลายคนใฝ่ฝัน อย่างหลักสูตรพาราเซล ซึ่งผมเต็มใจสมัครและเข้ารับการทดสอบด้วย อีกทั้งยังมีวิชาบำเพ็ญประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ให้ได้ช่วยเหลือสังคมอีกมากมายแล้วอะไรคือเหตุผลที่คุณตัดสินใจ ติดเครื่องหมายบนเครื่องแบบเยอะ และไปเยือนยังที่ต่างๆ ด้วยชุดทหาร จนทำให้เกิดวิวาทะด้านความเหมาะสมบนโลกออนไลน์
แรกๆ ผมก็ไม่ค่อยประดับเครื่องหมายเยอะหรอก แต่ได้มีโอกาสปรึกษากับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในกระทรวงกลาโหม (ขอไม่ระบุชื่อและตำแหน่ง) ผมก็ขอคำแนะนำไปว่าเครื่องหมายแบบนี้ๆ สามารถประดับได้ไหม ก็มีหลายชิ้นที่ท่านระบุว่าติดได้ ต่อมาผมก็พยายามหาประสบการณ์จากหลักสูตรต่างๆ เพื่อเข้าไปทดสอบ รวมถึงโครงการต่างๆ ที่เมื่อเข้าร่วมจะได้รับเข็มสามารถมาประดับบนอกเสื้อ มันมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นอย่างที่เห็นบนโซเชียลฯถามว่าผิดไหม ส่วนตัวคิดว่าไม่ผิด แต่มันอาจผิดหลักนิยมสังคมไปบ้าง ความจริงผมก็ฟังคำแนะนำหรือคำตำหนิจากผู้คน อีกทั้งยังศึกษาความหมายของเครื่องหมายต่างๆ จนแน่ชัดว่าสามารถประดับได้
ในส่วนประเด็น ‘ชุดอ่อน’ ตามระเบียบกองทัพระบุให้ติดแค่ป้ายชื่อ เข็มเฉลิมพระชนม์พรรษา - บรมราชาภิเษก และแพรแถบที่ระลึก มันก็เป็นหลักปฏิบัติส่วนใหญ่ ซึ่งก็เหมือนกับชุดนักเรียนหรือลูกเสือ เรื่องเข็มหลักสูตรมันอยู่ที่ตัวเราที่พึงพอใจหลังฝึกสำเร็จ ในส่วนเครื่องหมายที่ระลึกต่างๆ ก็เหมือนกัน หากเรามีสิทธิติดก็สามารถประดับได้ ยกตัวอย่าง ผมไม่ได้เป็นราชการก็ไม่มีสิทธิประดับเครื่องราชฯ ผมก็ไม่ติด ดังนั้นต้องพิจารณาหลายๆ อย่าง บางสิ่งก็ไม่ได้ระบุชัดในระเบียบ
กรณีเครื่องแบบทหารยุคอื่นๆ ผมมองว่ามันเป็นความชอบ หากมองในเชิงวัฒนธรรมการแต่งการมันก็เหมือนแฟชั่น อย่างชุดอ่อนเองจริงๆ ก็มีระเบียบทางราชการ แต่การไปวัดหรือโบราณสถานเพื่อเผยแพร่ความรู้ผมก็สามารถแต่งได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ต้องระลึกคือเมื่อคุณแต่งเครื่องแบบแล้ว คุณต้องรักษากฎระเบียบและวินัยทางทหารอย่างมั่นคง เพื่อภาพลักษณ์ที่ดี
ยืนยันครับว่าน้อมรับทุกคำตำหนิ และหลายอย่างผมก็แก้ไขให้เป็นไปตามความพึงพอใจของผู้รู้ แต่หากมีประเด็นใดเข้าใจผิดก็พร้อมจะแลกเปลี่ยนครับ
เคยโดนสารวัตรทหารเรียกตรวจไหม
มีเรื่อยๆ ครับ มีทั้ง สห. หรือ ข้าราชการทหารหน่วยอื่นๆ ส่วนใหญ่จะการพูดคุยบนโลกโซเชียลฯ บางคนบอกระวังหมายเรียกนะ ซึ่งผมก็แจ้งผู้บังคับบัญชาที่นับถือให้ทราบ ซึ่งท่านก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอกไม่ได้ทำผิดอะไร
ทำไมถึงกล้าไปพบปะทหาร หรือนักเรียนทหาร ทั้งๆ ที่มีกระแสด้านลบบนโซเชียลฯ มาโดยตลอด บางคนถึงขนาดใช้คำว่า คุณเป็น ‘ตัวตลก’ ในสายตาทหารอาชีพ
ผมไปในฐานะผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน และร่วมแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทหารจริงๆ มันก็เหมือนธรรมเรียมต่างประเทศ ไม่ได้มีคำสั่งก็สามารถแต่งได้ตามโอกาสที่เหมาะสม ผมภูมิใจในเครื่องแบบและสิ่งที่ผมเป็น นักเรียนทหารบางคนอาจนำเรื่องที่พูดคุยกับผม หรือภาพที่ถ่ายรูปร่วมกัน ไปบอกเล่ากับลูกหลานให้มีกำลังใจ ว่าขนาดเขาเป็น รด. เขายังไปฝึกจนมีเครื่องหมายประดับเต็มเสื้อได้เลยเวลาถูกต่อว่า ว่าเป็นตัวตลก ผมคิดว่ามันเป็นความไม่เข้าใจของคนที่กล่าวหามากกว่า จริงๆ อยากให้สอบถามที่มาที่ไปและวัตถุประสงค์ก่อน จะได้ทราบความจริงว่าแต่งมาเพราะอะไร
ว่ากันตรงๆ ผมไม่โกรธใครนะ ผมเชื่อว่าทุกคนมองต่างกัน แต่เรื่องความชอบมันอยู่บนพื้นฐานความพึ่งพอใจส่วนบุคคล เป็นเรื่องปัจเจก แต่หากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็น้อมรับทุกคำพูด
ตอบรับอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับทหารในงานสำคัญต่างๆ
ร้อยพ่อพันแม่ แต่ละคนก็มีมุมมองต่างกัน ก็มีหลายคนที่อยากถ่ายภาพร่วมกับผม บางคนก็ชอบเครื่องแบบ บางคนถึงขนาดเข้ามาขอคำปรึกษาว่าเครื่องหมายนี้ได้มาจากที่ไหน บางคนก็แนะนำว่าเว้นระยะห่างเข็มเพื่อไม่ให้ดูแน่นเกินไปก็มี นายทหารบางคนจากที่เคยดูหมิ่นก็เลิกและสนับสนุนอยู่ห่างๆ หรือแม้แต่ทหารรุ่นเดียวกัน บางคนยังบอกเลย ว่าอยากฝึกอะไรก็รีบฝึกเพราะถ้าอายุมากกว่านี้ร่างกายอาจไม่ซัพพอร์ตแล้วตั้งแต่หัวจรดเท้า ส่วนตัวชอบเครื่องหมายไหนที่สุด
ผมชอบปีกพาราเซลที่สุด เพราะเป็นหลักสูตรที่หินและหนักหน่วงที่สุด เท่าที่นักศึกษาวิชาทหารจะได้เข้าฝึกฝน มันเหมือนการฝึกเอาตัวรอดเสมือนจริงที่พลเรือนสามารถฝึกได้ สำหรับผมเปรียบได้กับงานศิลปะที่เราสร้างเอง ภายใต้การทำงานเป็นทีมกับเพื่อนร่วมรุ่น กินนอนกลางป่าเขาชนไก่ด้วยกัน ความจริงผมเป็นตัวสำรองด้วยซ้ำแต่ก็ได้โอกาสเข้ามาจึงทำเต็มที่ส่วนปีกสามารถนี้ จริงๆ ส่วนใหญ่จะมีแค่ นศท. ที่ได้โอกาสฝึก อย่างปกติ นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายสิบเขาเองก็ไม่มีเข็มนี้ เพราะเขามีปีกร่มเอราวัณ ดันนั้นผมจึงภาคภูมิใจปีกสามารถนี้ที่สุด
ช่วยพูดในเชิงรูปธรรมหน่อย คิดว่า รด. ให้อะไรกับคุณบ้าง
รด. มันคือการฝึกขั้นพื้นฐานเตรียมความพร้อมเป็นกำลังสำรองให้กับชาติ กรณีทหารอาชีพเขาฝึกอย่างเอาจริงเอาจัง แต่สิ่งที่ รด. กับทหารที่เหมือนกัน คือการรักษาวินัย แม้บางคนจะไม่อยากเป็นทหารแล้วมาเรียน รด. ก็จะได้รับการปลูกฝังเรื่องนี้โดยปริยาย เพื่อในวันที่เกิดวิกฤติจำเป็นต้องใช้กำลังคนเพื่อปกป้องประเทศ ก็ต้องออกมาทำหน้าที่ และถ้าถึงวันนั้นในฐานะว่าที่ร้อยตรีทหารเหล่าปืนใหญ่ ผมก็พร้อมจะรับใช้ชาติตามที่ฝึกฝนมาที่สำคัญอีกประการ คือ รด.ยังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความใกล้ชิดระหว่าง ‘ทหาร’ กับ ‘ประชาชน’ ด้วยนะ อย่างหน่วยบัญชาการรักษาดินแดง ที่ขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่คอยประชาสัมพันธ์ข้อมูลไปยังภาคพลเรือนได้รวดเร็วและเสถียรมากที่สุด
มีเหตุการณ์สำคัญหรือผู้นำเชิงความคิดใจ ที่ทำให้คุณเข้ามาสู่วงการลายพลางอย่างทุกวันนี้หรือไม่
ตอนเด็กๆ ผมชอบฟังเพลงปลุกใจ พอฟังไปฟังมาหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นที่มาของเรื่องราว ซึ่งเพลงเหล่านี้มันถูกแต่งขึ้นในช่วงสงความโลกครั้งที่ 2 ทำให้ผมชอบยุคนี้เป็นพิเศษ เครื่องแบบทหารสมัยนั้นก็ดูสมาร์ตเป็นเอกลักษณ์ ไอดอลทางทหารของผมจึงมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นบุคคลสำคัญทางการทหารยุคนั้นสองท่านที่กล่าวมา สำหรับผมแทบจะเป็นสัญลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีไทยเลยก็ว่าได้ ในส่วนด้านแนวคิดการปกครอง จอมพล ป. ก็เป็นนักการเปลี่ยนแปลง ส่วนจอมพลสฤษดิ์ก็เป็นนักปฏิรูปราชการเป็นรากฐานที่ดีของสังคมไทย แม้จะอายุไม่ยืนยาวก็ตามที ในส่วนเครื่องทหารจริงๆ ผมชื่นชอบชุดทหารบกช่วงปี 2475 – 2490 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเครื่องแบบทหารในรัชสมัย ร.6

ทำไมต้องกินข้าวบนถาดหลุม?
ผมมักจะนำถาดหลุมมาใส่อาหารนั่งกินบนโต๊ะกับครอบครัวที่บ้านซึ่งไม่ได้ผิดอะไร จริงๆ มันใช้ได้ดีมากนะ เพราะมีหลายหลุม เราสามารถ ตักอาหารคาวหวานรวมไว้ในจานถาดเดียวได้ มันไม่จำเป็นเลยที่จะบอกว่ากินเพื่อให้นึกถึงความหลังที่เขาชนไก่ ใครๆ ก็ทำได้และผมไม่ได้ขโมยของหลวงมาใช้ด้วย สิ่งสำคัญผมมีถาดหลุมส่วนตัวที่สลักชื่อจริงไว้ใช้ด้วย แม้ช่างจะสะกดผิดแต่ผมก็รักมันผู้คนออนไลน์ที่มักชอบถามในช่องคอมเมนต์ ว่าทำไมไม่ตักใส่หลุมกินเลย จะมีจานทำไม เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า ผมมักกินข้าวกับครอบครัวบนโต๊ะเดียวกัน ดังนั้นเราก็ต้องเผื่อแพร่อาหารให้เพียงพอกับทุกคน ด้วยการใช้ถ้วยกลางที่ใครๆ ก็สามารถตักใต้
คิดอย่างไรกับกระแสกองทัพในทุกวันนี้
จากปรากฏการณ์ทุกวันนี้ต้องยอมรับกองทัพมีคะแนนนิยมจากประชาชนค่อนข้างต่ำ มีหลายประเด็นเป็นวิวาทะเร่าร้อนในสังคม ส่วนตัวผมเชื่อว่ากองทัพมีบุคลากรที่ดีและเก่งเยอะ มีหลายอย่างที่ยังต้องคงอยู่ แต่หลายอย่างก็ต้องได้รับการแก้ไข อย่างไรเสียเรื่องกระบวนการปฏิรูปกองทัพต้องใช้เวลา ต้องมีแผนรองรับเพราะไม่ใช่เรื่องเล็ก มันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ
อะไรคือความฝันของ กิตติภัทร ภูศิริ
ผมตั้งเป้าว่าอยากเป็นข้าราชการทหารบก ในส่วนของกองทัพไทย ที่เน้นเรื่องการปกครองและงานบริหารเพราะตรงสายศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ในส่วนสายรบจริงๆ เป็นความชอบรอง แต่หากเส้นทางแรกไม่สามารถทำได้ แต่มีโอกาสอำนวยให้กำลังรบก็อยากเป็นส่วนสนับสนุน อย่างทหารปืนใหญ่ เนื่องจากเป็นเหล่าที่สังกัดขณะเรียน นศท. ชั้นปีที่ 4 – 5 และผมมีความภาคภูมิใจหน้าที่ของพวกเขา กรณีเกิดสงครามทหารปืนใหญ่ถือว่าเป็นผู้กำหนดชะตาสงคราม เปรียบดั่ง ‘ราชาแห่งสนามรบ’แล้วอะไรคือที่มาของฉายา ‘ราชา นศท.’
ราชา นศท. เป็นคำที่ผมตั้งขึ้นเอง จริงๆ มันก็เหมือน นศท.ทั่วไป แต่ที่คิดเพราะอยากสร้างไอคอลและแรงบันดาลใจให้นักศึกษาวิชาทหาร จึงใช้คำว่า ‘ราชา’ เป็นคำขึ้นต้นแล้วตามด้วยคำว่า ‘นศท.’ แบบพวกร้านอาหารเก่าแก่รสชาติอร่อย ผมยอมรับว่าผมแตกต่างกับคนอื่นๆ ตรงจุดที่ผมติดเครื่องหมายเยอะ ชอบทำกิจกรรม และมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็นสูงแต่ไม่ได้หมายความว่าผมมีความสามารถเหนือกว่าคนอื่นนะ นศท. ทุกคนมีขีดความสามารถและความถนัดไม่เท่ากันอยู่แล้ว ผมตอบเลยว่าผมไม่ได้มีอีโก้สูง อย่างบุคคลท่ามือเปล่าพื้นฐานบางทีผมก็ลืม ต้องทบทวนหรือขอคำแนะนำจากเพื่อนบ้าง ซึ่งใครจะตั้งฉายาตัวเองว่าเป็น ราชา นศท. แบบผมก็สามารถทำได้

ในฐานะผู้คลั่งไคล้เครื่องแบบทหาร คุณมีแพลนจะทำอะไรต่อจากนี้ไหม
ปลายปี 2563 ผมได้ร่วมทำเนื้อหากับ ‘กลุ่มชาวสยาม - อาทิตย์อุทัยบูรพาอาคเนย์’ เป็นเพจออนไลน์ในลักษณะห้องสมุดเกี่ยวประวัติศาสตร์ด้านทหาร ซึ่งได้รับต้นแบบจากชาติตะวันตก เป็นการที่ใช้สื่อสารเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับกองทัพ โดยสมาชิกคาดหวังจะสร้างเป็นพื้นที่จำลองประวัติศาสตร์ทางทหารด้านต่างๆ ทั้งเครื่องแบบ และสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้น เพื่อมอบองค์ความรู้ให้กับผู้ติดตามได้เรียนรู้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ความฝันส่วนตัวจริงๆ ก็มีหลังศึกษาในนคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ก็ทำให้อยากสร้าง ‘รัฐจำลอง’ ซึ่งเป็นการจำลองพื้นที่ชุมชนโดยมีผมกับเพื่อนๆ เข้ามาอยู่ร่วมวงไพบูลย์ ภายใต้ทัศนคติที่ดีต่อกันในสังคมจำลอง ใช้ชีวิตภายใต้ความคิดสุจริตทำงานสัมมาอาชีพปลูกผักทำเกษตรทั่วไป
เรื่องนี้มีกระแสต่อต้านอยู่บ้าง เพราะหลายคนคิดว่าว่าผมทำตัวแบ่งแยกดินแดน แต่ขอยืนยันว่าแนวคิดดังกล่าว เป็นไปตามหลักวิชาการรัฐศาสตร์ ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการสร้างความแตกแยก อีกทั้งส่วนตัวยังมั่นคงใน 3 สถาบันหลักของชาติด้วย
ความฝันนี้ยังอยู่ในระหว่างคิดร่างแบบแผนอยู่ ซึ่งอนาคตคิดว่าอยากจะประชาสัมพันธ์นำเสนอไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เพื่อสื่อสารเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครองให้เข้าถึงกับคนทุกชนชั้น ซึ่งผมตั้งใจจะไปหาข้อมูลฝึกอาชีพต่างๆ มาเพิ่มองค์ความรู้ เพื่อใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลไว้คนทั่วไปที่เราพบเจอได้มีอาชีพทำมาหากิน
บางคนหาว่าผมบ้าทหาร อะไรๆ ก็ทหาร แต่ความจริงผมตั้งใจใช้เป็นกุศโลบายเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ และเป็นส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์ให้กับผู้คน ซึ่งผมเชื่อว่ามีวันนี้อาจมีกระแสเข้ามาบ้าง อาจมีคำด่าทอ อาจมีวิวาทะ มันเป็นปกติเพราะทุกเรื่องต้องใช้เวลา เพราะความสำเร็จมันอยู่ที่เราเลือก ถ้าอนาคตสามารถทำได้ก็ทำไปอย่างตั้งใจ แต่ทุกอย่างอยู่ที่เวลาและความเหมาะสมที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์