‘กลาโหม’ ใต้ร่มเงา คนนามสกุล ‘คลังแสง’

1 กันยายน 2566 - 03:40

Sutin-Kangsaeng-Minister-of-Defense-SPACEBAR-Hero
  • เมื่อ ‘สุทิน คลังแสง’ ขึ้นแท่น ‘กลาโหม 1’ คลื่นลมใต้บังเกอร์เป็นอย่างไร ชวนวิเคราะห์ผ่านมุมมองนักรัฐศาสตร์ ถึงแนวทาง ‘กระชับมิตร’ ระหว่าง ‘พลเรือน’ กับ ‘คนลายพลาง’ ในสมรภูมิที่ ตท. 23 - 24 เรืองอำนาจ

นับตั้งแต่ทราบว่า ‘เศรษฐา ทวีสิน’ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตัวจริง ก็ไม่มีเรื่องใดที่น่าสนใจไปกว่า การจัดสรรที่นั่ง ‘คณะรัฐมนตรี’ ที่อลเวง - อลวน สวิงเป็นเกมเก้าอี้ดนตรีมานับสัปปดาห์แล้ว แม้บัดนี้ทุกอย่างดูเหมือนจะลงตัว สะเด็ดน้ำแทบจะ 99.99 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ตาม ยังคงต้องวิเคราะห์กันต่อ ถึงทิศทางความเหมาะสม ที่จะสร้างนโยบายให้กับพี่น้องประชาชน  

ที่ต้องพูดถึงมากที่สุด หนีไม่พ้น ‘กลาโหม’ กระทรวงที่ดูแลเหล่าทัพและกำลังพลทั้งประเทศ ซึ่งในอดีตมีงบประมาณใช้จ่ายสูบลิบ จึงไม่แปลกที่จะกลายเป็นตำบลกระสุนตก เพราะการวางแคนดิเดตเป็นเรื่องยากสำหรับรัฐบาลพลเรือน เห็นได้จากช่วงแรกของการวางโผ ‘รัฐบาลทิพย์’ ที่นำโดยพรรคก้าวไกล ตอนนั้นทุกคนก็บอกเสียงเดียวกันว่า ‘วางตัวยาก’ 

ขณะที่ ‘รัฐบาลพิเศษ’ ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย หมุนกงล้อหวยออกที่ ‘สุทิน คลังแสง’ อดีตครูสอนผู้การ และ สส.หลายสมัย ขึ้นแท่นเป็นพญาคชสีห์ คนแรกที่ไม่ใช่บุคคลในเครื่องแบบ หรือมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี (ควบคู่) เป็นเพียงพลเรือนบ้านๆ เพียวๆ จึงตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์  ‘จะเอาอยู่หรือไม่’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4bRjVJw9PmGCohA7gsLdRk/eb156a9b4c6ef95656fcba99c7bac8c8/Sutin-Kangsaeng-Minister-of-Defense-SPACEBAR-Photo01
Photo: ‘สุทิน คลังแสง’ ว่าที่ ‘กลาโหม 1’ รัฐบาลเศรษฐา
นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ‘ในการเปลี่ยนแปลงกองทัพ’ จะเป็นไปได้แค่ไหน กับชาติทหารเขี้ยวลากดิน เรื่องนี้ผู้เขียนเคยพูดคุยกับ ‘ปิยะภพ เอนกทวีกุล’ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในบทความ แม่ทัพบก : ผู้กำหนดทิศทางลมระหว่าง ‘ทหาร - รัฐบาลพลเรือน’ กับแนวโน้ม ‘การปฏิรูปกองทัพ’

ตอนนั้นเราตั้งต้นจากโผการแต่งตั้ง ‘ผบ.ทบ.’ หลังการเลือกตั้ง แต่ ณ วันนี้ คนนามสกุล ‘คลังแสง’ กำลังจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง ‘กลาโหม 1’ จึงชวนสังเคราะห์เรื่องราวให้ต่อเนื่องอีกครั้ง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/P7bqEI3nDaxLGuhtZQ9zy/458e1f6b515256e1fe0b5065cf06fc0b/Sutin-Kangsaeng-Minister-of-Defense-SPACEBAR-Photo02
Photo: ‘ปิยะภพ เอนกทวีกุล’ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นักรัฐศาสตร์มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ เสมือนภาพสะท้อนของสังคมที่ทำให้เห็นว่า พลเรือนก็สามารถเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง แต่ปัญหาที่ ‘บิ๊กทิน’ ต้องเจอ คือความไม่เข้าใจระบบกองทัพอย่างถ่องแท้ จึงมีข่าวการแต่งตั้ง ‘ผู้ช่วย’ ที่เป็น ‘ทหารอาชีพ’ คอยเข้ามาประสานงานกับตัวรัฐมนตรี และบุคลากรของกระทรวง  

“คุณสุทินจำเป็นต้องมีทีมงานที่เป็นทหารคอยช่วยเหลือด้านต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปกองทัพ การล้วงลูกระบบด้วยตนเองมันทำได้ยาก เพราะยังมี พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 ที่ระบุเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารต้องเป็นเรื่องภายในของกองทัพในการจัดการ” 

ในส่วนการบริหารหรือปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม ตามความเหมาะสมนั้น ปิยะภพ เชื่อว่ารัฐบาลสามารถทำได้อย่างสะดวกโยธิน เพราะเศรษฐา ทวีสิน ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีสิทธิ์ตัดสินใจเรื่องการจัดสรรงบประมาณอย่างมีเอกภาพ แต่จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ อำนาจในต่อรองของสุทินกับกองทัพด้วย 

กรณีความเชื่อมั่นของประชาชน โดยเฉพาะฟากฝั่งประชาธิปไตย ที่กังวล จากคำให้สัมภาษณ์ของสุทิน ที่ระบุว่า ต้องดูแนวโน้มของการทุกพรรค ในการดำเนินนโยบาย ‘ยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ นั้น ปิยะภพ มองว่า เป็นเรื่องปรกติที่เขา (สุทิน) ต้องสานสัมพันธ์กับกองทัพให้แน่นแฟ้น ทั้งระดับส่วนตัวไปจนถึงรัฐบาล ให้แนบแน่นที่สุด ตามขอบเขตที่พอทำได้  

“สิ่งนี้อาจทำให้นโยบายที่เคยหาเสียงไม่สามารถเกิดขึ้นทันที มันเป็นข้อจำกัดของ รมว.กลาโหมที่เป็นพลเรือน ซึ่งอาจทำได้บ้างไม่ได้บ้าง เช่นเดียวกัน การปฏิรูปกองทัพในสมัย ชวน หลีกภัย สามารถลดอัตรานายพลลงได้ระดับหนึ่ง แต่เรื่องงบประมาณก็ไม่อาจทำได้ดีเท่าที่ควร”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/78xeyqA7tbAkrghZxKkDnS/371950a745d85019dfa17e8f357380d3/Sutin-Kangsaeng-Minister-of-Defense-SPACEBAR-Photo03
ผู้เขียนถามต่อว่า ในอดีตพลเรือนที่เข้ามาเป็นแม่ทัพกลาโหม ทุกคนล้วนมีตำแหน่งนายกฯ ควบคู่ทั้งสิ้น แต่การที่ ‘บิ๊กทิน’ ไม่ได้มีตำแหน่งระดับสูงสุดของรัฐบาล จะมีจุดดีจุดด้อยต่างกันอย่างไร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์กล่าวว่า ข้อดีประการแรก คือ จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะ รมว.กลาโหมได้เต็มที่ เพราะไม่ต้องพะวงกับหน้าที่อื่นๆ ในการบริหารภาพรวม 

ส่วนข้อด้อย คือ อำนาจการต่อรองกับผู้นำเหล่าทัพ หรือบุคคลกรด้านความมั่นคงอาจมีไม่มากเทียบเท่ากับเบอร์ 1 ฝ่ายบริหารในอดีต โดยเฉพาะด้านความรู้สึกเกรงใจ ดังนั้นต้องใช้เวลาปรับตัว  

ดังนั้นแนวคิดที่จะตั้งคนประสานงานที่เป็นทหาร จึงถูกต้องตามครรลอง ในด้านศึกษาความรู้ในส่วนของระบบ และการสานสัมพันธ์ให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะปัญหาของนักการเมืองไทยที่ผ่านมาคือ ไม่ค่อยเรียนรู้ระบบกองทัพเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับชาติยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีรมว.กลาโหมเป็นพลเรือน หลายคนล้วนเป็นอดีตเคยผ่านการศึกษาศึกษาหรือมีความรู้ด้านการทหารอยู่แล้วเป็นทุนเดิม   

เมื่อถามถึงกระแสข่าวใต้น้ำของวงการลายพราง ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีพลเรือนเข้ามา ‘เป็นนาย’ คู่สนทนาของผู้เขียนมองว่า หากพูดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่อง ‘การรักษาระยะห่าง’ ระหว่างกองทัพและภาคการเมือง ที่ผ่านมามีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น (อยู่เรื่อยๆ) โดยเฉพาะกองทัพบก ตั้งแต่ยุค ‘พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท’ มาจนถึง ‘พลเอกณรงพันธุ์ จิตรแก้วแท้’ ที่เพิ่งลงจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดของกองทัพบกไปหมาดๆ ดังนั้น ต่อจากนี้กองทัพบกอันเป็นขุมกำล้งหลัก คงจะสานต่อสิ่งที่ ‘รุ่นพี่’ ปฏิบัติสืบมาตามธรรมเนียมทหาร  

แล้วการนำของพลเรือน จะเพิ่มโอกาสให้เกิดการรัฐประหารหรือไม่ เรื่องนี้เป็นไปได้ยาก เพราะรัฐบาลเศรษฐาที่กำลังจะเริ่มตั้งไข่ ได้มาจากเสียงของประชาชน ผ่านการเลือกตั้งที่เข้มข้น รวมถึงยังมีพรรคขั้วอำนาจเก่า (หรือที่เราเรียกว่าพรรคทหาร) เข้ามามีบทบาทในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งสามารถใช้อิทธิพล - บารมี คอยประคับประคอง ไม่ให้เกิดการใช้กำลังยึดอำนาจ และต่อให้ก่อการจริงแล้วสำเร็จ กองทัพก็มีราคาที่ต้องจ่าย  

ท้ายที่สุด ผมถามอาจารย์ปิยะภพ ถึงสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านของบุคลากรทางการทหาร ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการวางตัวสุทินคุมบังเหียนกองทัพ จะมีทิศทางเป็นอย่างไร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่ติดตามสถานการณ์ วงการลายพรางอย่างแนบชิดเชื่อว่า รมว.กลาโหมคนใหม่จะสร้างปรากฏการณ์ให้กองทัพ เข้าสู่ครรลองตามสิ่งที่ประชาชนคาดหวังไว้ไม่มากก็น้อย และจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Kb567p9Jjsa4LIKb2HGCx/46f8e3cbe9a5aeb91f3af5be4505148a/Sutin-Kangsaeng-Minister-of-Defense-SPACEBAR-Photo04
ส่วนการเข้าสู่ยุคเตรียมทหารรุ่นที่ 23 - 24 จะเป็นไปอย่างราบรื่นพอสมควร โดยเฉพาะ ‘พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด  ‘ทหารคอแดง’ ที่ซึมซับระบอบประชาธิปไตย มาตลอดตั้งแต่ช่วงการศึกษา ณ สหรัฐฯ  

ส่วน ‘พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์’ ผู้บัญชาการทหารบก ‘พล.ร.อ.อะดุง พันธ์ุเอี่ยม’ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ ‘พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล’ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในตำแหน่งคนละ 1 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่เหลือน้อย ก่อนจะเกษียณอายุราชการ จึงจำเป็นต้องสานต่องาน จากผู้บัญชาการคนก่อนต่อไป (อย่างที่เขากล่าวไว้ใน 2 ย่อหน้าที่แล้ว) 

“ทิศทางการยึดอำนาจตอนนี้ผมว่าเกิดขึนได้ยาก เพราะภาพของกองทัพยังติดลบอยู่ จำเป็นต้องสานสัมพันธ์ให้กลมเกลียวกับรัฐบาลพลเรือน แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ในส่วนงานคัดสรรผู้นำเหล่าทัพหรือบุคลากรทางทหาร เพราะยังเป็นอำนาจของคณะกรรมการกลาโหม อย่างไรเสียผมเชื่อว่าพวกเขา (ผู้นำเหล่าทัพ) ย่อมคิดอยู่เสมอว่าทหารย่อมเข้าใจเรื่องนี้มากกว่าพลเรือน ตอนนี้อยู่ด้วยกันได้ แต่อนาคตไม่มีใครรู้ ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า จะเป็นอย่างไร” ปิยะภพ เอนกทวีกุล กล่าวทิ้งท้าย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์