‘พะโล้ของแม่’ นัยความกลัวต่อ ‘ปีศาจกาลเวลา’

12 พ.ค. 2566 - 02:55

  • วิเคราะห์ปรากฏการณ์จากวิดีโอหาเสียง ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ผ่านนักสื่อสารการเมือง และวรรณกรรมเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน ‘ปีศาจ’

  • ‘รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส’ เชื่อเป็นเครื่องมือเรียกคะแนนเสียง ‘กลุ่มอนุรักษนิยม’ แสดงความเป็นตัวจริงของ ‘ประยุทธ์’

Thai-Nation-Party-clip-Time-Devil-SPACEBAR-Thumbnail
เป็นช่วงนับถอยหลังของประชาชน ที่จดจ่อเตรียมเข้าคูหาลงคะแนนเสียง ‘เลือกตั้งใหญ่ ปี 2566’ หากสังเกต 2 สัปดาห์สุดท้าย จะเห็นโมเมนตั้มทางการเมืองเทความนิยมมาทางฝั่ง ‘พรรคก้าวไกล’ มากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสโซเชียลฯ​ ที่มาแรง จากกรณี ‘มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา’ ในขณะที่ ‘เพื่อนบ้าน’ อย่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ กำลังถูกตั้งคำถามเรื่องความตรงไปตรงมา ซึ่งเชื่อว่าผู้อ่านคงทราบปรากฏการณ์มากันแล้ว

กระนั้น พรรคสีส้มก็ยังคงเดินหน้านำเสนอนโยบาย และสร้างภาพจำบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง ที่มีการปล่อยวีดีโอโปรโมต ‘กาก้าวไกล เปลี่ยนประเทศไปด้วยกัน’ ในวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา มีเนื้อหาสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงแบบไม่อ้อมค้อมตามแบบฉบับที่คุ้นชิน ตอบโจทย์คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ ที่มีแนวคิดแบบ ‘เสรีนิยม’  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/33ARZmC47tEemAhEepwHg0/be1da5fabc285fbf0741e73cc54e39af/Thai-Nation-Party-clip-Time-Devil-SPACEBAR-Photo01
Photo: พรรคก้าวไกล ปล่อยคลิป ‘กาก้าวไกล เปลี่ยนประเทศไปด้วยกัน’ ในวันที่ 6 พ.ค. 66
แต่ยังไม่ทันที่กระแสฟีเวอร์จะห่างหายจากการพูดถึงไป 1 วันให้หลัง ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ก็ปล่อยคลิปลงเพจเฟซบุ๊ก สวนกระแสพรรคคนรุ่นใหม่ทันทีทันใด โดยคลิปมีเนื้อหาที่ค่อนข้าง ‘สวนทาง’ กับวีดีโอของพรรคก้าวไกล อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู  

‘ถามคนไทย…เอาไหม? คุณอยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม จริงหรือ’ เป็นหัวข้อหลักของคลิปวีดีโอที่สื่อถึงการ ‘ทวนกระแสความคิด’ ของคนหนุ่มสาว หากนั่งดูจนครบ 2 นาที 45 วินาที จะพบว่ามีคีย์พอยท์ซ่อนอยู่ในเนื้อหาหลายจุด ที่เผยชุดความคิดของผู้จัดทำ ในลักษณะการปลุกกระแส ‘อนุรักษ์นิยม’ 

รทสช. เลือกแบ่งสตอรี่เล่าผ่าน ‘เรื่องสั้น’ 5 ประเด็น  
  1. เงินข้าราชการเกษียณ  
  2. ศิลปะ  
  3. ความท่าเทียม (ระดับครัวเรือน)  
  4. การเกณฑ์ทหาร  
  5. สิทธิเสรีภาพ (ทางร่างกาย) 
อย่างไรก็ดี ‘วิมลพร รัชตกนก’ สังเคราะห์ประเด็นทั้ง 5 ไว้อย่างละเอียด สามารถอ่านต่อได้ในบทความ พะโล้ของแม่และการสร้างความกลัวของรัฐ ที่จะบอกเล่าผ่านสัญญะและสตอรี่ของเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในคลิป
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1YQF92R1Rhq9XtYwRuumnb/44abccf4005d12df56226101a4b97f2c/Thai-Nation-Party-clip-Time-Devil-SPACEBAR-Photo02
Photo: ‘คุณอยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม จริงหรือ’ พรรครวมไทยสร้างชาติ

ปีศาจแห่งการเวลา

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่สร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที” ประโยคคลาสสิคที่เอ่ยขึ้นโดย ‘สาย สีมา’ ตัวละครเอกในวรรณกรรม ‘ปีศาจ’ ที่ ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ หรือ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เขียนไว้ เมื่อปีราว ปี พ.ศ. สองพันสี่ร้อยปลายๆ  หรือช่วง 60 ปีก่อนหน้านี้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2EE0rCG8bdmKWR0XmMyGEg/eb1cf00a22a8981d05ac9525cd43c0af/Thai-Nation-Party-clip-Time-Devil-SPACEBAR-Photo03
Photo: ‘สาย สีมา’ ลุกขึ้นพูดประโยควรรคทอง ‘ปีศาจกาลเวลา’ Photo : ‘ปีศาจ’ 2524
ประโยคดังกล่าว ปรากฎในหนังสือเพื่อชีวิต เพื่อประชาชน ในยุคเผด็จการเรืองอำนาจ และช่วงจังหวะชุลมุนของการเมือง ภายใต้การคลุมบังเหียนของ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ เจ้าของฉายา ‘ฟาสซิสต์เมืองไทย’ จึงไม่แปลกที่ปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์ อย่าง ‘ศักดิชัย’ จะออกมาเขียนเล่าเรื่องราวเสียดสีสังคมชนชั้นปกครองอย่างสุดโต่ง ด้วยความคมคายของตัวอักษรที่มีเนื้อหาแสดงการต่อต้านสังคมเก่า ภายใต้การเล่าเรื่องชีวิตรักแบบโรเมนติกไซต์ (Dreamer Romanticize) ที่พระเอก - นางเอก อยู่ต่างชั้นวรรณะ คนนึงเป็นลูกสาวชนชั้นสูง อีกคนเป็นบุตรของชนชั้นกสิกรรม ถูกกีดกันจากครอบครัวผู้มากด้วยอำนาจ เพราะหวาดหวั่นต่อ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ จนเกิดวรรคทอง ‘ปีศาจกาลเวลา’ 

นึกเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ ‘พะโล้ของแม่’ ที่เหตุการณ์อยู่บน ‘โต็ะอาหาร’ เฉกเช่นเดียวกับที่ศักดิชัย บรรยายถึงบทตอบโต้ในมื้อค่ำของ ‘สาย สีมา’ ที่ตอบโต้ ‘ท่านเจ้าคุณ’ บิดาของสาวคนรักต่างฐานันดร ด้วยประโยคข้างต้น หลังจากถูก ‘ท่านเจ้าคุณ’ และเหล่าเพื่อนชนชั้นสูงดูถูกเหยียดหยาม และสั่งสอนในความ ‘ไม่รู้จักเจียมกะลาหัว ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา’  

ส่วน ‘โต๊ะอาหาร’ ที่ปรากฎในคลิปโปรโมตพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นภาพฉายของครอบครัวชนชั้นกลาง ที่พยายามบอกเล่าถึง ‘ลูกชาย’ ในช่วงวัยรุ่น แสดงทรรศนะเรียกร้องประชาธิปไตยในครัวเรือน ผ่านมือกับข้าว ซึ่งถูกวิจารณ์ในความ ‘ไม่สมจริง’ หลายคนเชื่อมโยงถึงขั้นว่า วีดีโอพยายามสร้างภาพการเรียกร้องอย่างไร้เหตุผลของคนหนุ่มสาว ทำให้ผู้เป็น ‘พ่อแม่’ ต้องสะเทือนใจ แสดงให้เห็นว่า ‘ผู้สูงวัย’ ซึ่งถือเป็นคะแนนเสียงหลักของพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม มีความหวาดหวั่นต่อการเปลี่ยนผ่าน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5YVqmzuvODEssICBevpsIv/66310b458205c13603d205bcdbe57c6f/Thai-Nation-Party-clip-Time-Devil-SPACEBAR-Photo04
Photo: ช่วงดราม่า ‘พะโล้ของแม่’ ในคลิปวีดีโอของพรรครวมไทยสร้างชาติ
‘รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส’ คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก อธิบายความให้ผู้เขียนฟังว่า การทำโฆษณาของพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นเมื่อยุค 50 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งอยู่ในช่วงสมัย ‘สงครามเย็น’ ที่ี่รัฐบาลไทยผลิตสื่อต่อสู้กับฐานความคิดแบบลัทธิคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นบรรยากาศ (mood and tone) ของวีดีโอจึงไปในทิศทางสร้างความหวาดกลัวให้เกินจริง ด้วยการใช้ตัวละครทเป็นคนสูงวัย ที่มีท่าทีแสดงความกังวล - กระสับกระส่ายอย่างชัดเจน สอดคล้องแนวคิดของ เสนีย์ (เสาวพงศ์) ที่มักพยายามอธิบายแบบซ่อนความนัยว่า คนแก่เป็นช่วงวัยอ่อนไหวและกังวลต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเสมอมา 

“หนังสือปีศาจของเสนีย์ จะพยายามพูดถึงคนสูงวัยมักมีความหวาดกลัวในสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าที่จะเปลี่ยน และคิดว่าการเปลี่ยนแปลงคือ ‘ปีศาจ’ คือสิ่งเลวร้าย คนที่ทำคลิปนี้ออกมา ก็เป็นคนที่มีมุมมองแบบนั้น ว่าการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งไม่ดี ไม่ควรที่เราจะต้องไปเผชิญ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ประเทศย่ำแย่ลง ไร้งบประมาณ ไม่มีทหารปกป้องแผ่นดิน เด็กจะไม่เคารพนับถือ อันนี้คือสิ่งที่โบราณมาก แต่คนที่ทำก็เข้าใจความคิดของพลเอกประยุทธ์ดี เขาพยายามทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นปีศาจ เพราะคลิปที่ออกมาสื่อถึงพรรคก้าวไกลโดยตรง” รศ.ดร.นันทนา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7mFItdhQjTvG8jCa24BSPR/2b5f7a056530aacce232ec6968f6be6f/Thai-Nation-Party-clip-Time-Devil-SPACEBAR-Photo05
Photo: ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ (ศักดิชัย บำรุงพงศ์) ผู้เขียนประพันธ์วรรณกรรม ‘ปีศาจ’
‘พะโล้ของแม่’ กับนัยทางการเมืองที่ซ่อนอยู่ 
พูดกันต่อในประเด็นการช่วงชิงอำนาจ หรือ พาวเวอร์เกม ก่อนการเลือกตั้ง คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก อธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า ถ้าวิเคราะห์จากบรรยากาศซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหา จะเห็นได้ว่า ‘รวมไทยสร้างชาติ’ พยายามยกระดับตัวตนให้กลายเป็น ‘พรรคอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง’ เพื่อเรียกคะแนนนิยมของประชาชนฝ่ายขวาให้ได้มากที่สุด เบียดแซงเพื่อนๆ พรรคการเมืองที่มีฐานคะแนนเดียวกัน อย่าง พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ดังนั้นจึงเลือกวิธีการสื่อสารแบบสุดขั้ว เพื่อแสดงให้คนเห็นว่า รทสช.เป็นนักอนุรักษ์นิยมตัวจริง  

“คลิปนี้แสดงให้คนกลุ่มอนุรักษ์นิยมเห็นว่า รวมไทยสร้างชาติที่มีลุงตู่เป็นผู้นำ คือหัวหน้าตัวจริงของกลุ่มอนุรักษ์นิยม ต้องเลือกพรรคนี้เท่านั้น เพื่อจะสู้กับพรรคเสรีนิยมอย่างเพื่อไทยและก้าวไกล ฉะนั้นโฆษณาตัวนี้ออกมาเพื่อตัดคะแนน พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย มันไม่ได้ออกมาตัดคะแนนก้าวไกลเลยเพราะคนละขั้ว เขาต้องการเสียงข้างมากให้ได้มากที่สุด คล้ายๆ กับที่ประกาศเมื่อปี 62 ที่เคยประกาศรักความสงบจบที่ลุงตู่ และใช้ได้ผลทำให้พรรคประชาธิปัตย์ศูนย์พันธุ์ใน กทม.” 

ในส่วนของผู้ร่วมการผลิตเนื้อหา อาจารย์นันทนา มองว่ามีความเข้าใจ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ แคนดิเดตนายกฯ อย่างลึกซึ้ง เพราะสามารถหยิบจับประโยคสำคัญ (Key Message) ของ ‘บิ๊กตู่’ ที่มักแสดงวิสัยทัศน์ผ่านการให้สัมภาษณ์ หรือขึ้นปราศรัย มาขยายเป็นสื่อสร้างตัวตนที่ชัดเจน เช่น การชุมนุม หรือการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ พลเอกประยุทธ์ มักให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ว่าเป็นความวุ่นวายในสายตาของเขา ที่ต้องการสร้างความสงบ ‘ราบคาบ’ (ไม่ใช่สงบเรียบร้อย)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5rjFwYJPVTfiqWVCtgocqJ/595af37a4424482be0b99facf5a2a64c/Thai-Nation-Party-clip-Time-Devil-SPACEBAR-Photo06
Photo: รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
สำหรับประเด็นด้านการสื่อสารชุดนี้ ออกมาในรูปแบบโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ถือเป็น โฆษณาเชิงลบ (Negative ads) เพราะมีเนื้อหาเกินความจริง เป็นการกล่าวหาพรรคก้าวไกลโดยตรง ซึ่งช่วงหาเสียงที่ผ่านมา ยังไม่มีพรรคไหนเคยทำการโฆษณารณรงค์หาเสียงแบบนี้  

ขณะเดียวกันพรรคก้าวไกลเองกลับพัฒนาเนื้อหาไปข้างหน้า ผลักดันแนวคิดสร้างความเปลี่ยนแปลงประเทศสู่สากลอารยะ ผ่านการนำเสนอผลงานที่เคยทำเมื่อเป็นฝ่ายค้าน โดยไม่ได้บังคับให้ผู้มีสิทธิเลือกต้องเชื่อ ถือเป็นการโฆษณาเชิงบวก (Positive ads) ดูบริสุทธิ์และอาจเป็นการเรียกฐานเสียงฝ่ายเดียวกัน ได้มากกว่า 

ดังนั้น การทำโฆษณาสำหรับรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ควรคำนึกถึงการสื่อสาร 2 กลุ่ม คือมวลชนฐานเดิมที่ให้การสนับสนุน และกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกใคร (Swing voter)  

ในส่วนกลุ่มอนุรักษ์นิยม อาจเห็นพ้องกับคอนเทนต์แบบนี้ แต่กรณีที่รวมไทยสร้างชาติเลือกนำเสนอประเด็น ‘สร้างความหวาดกลัว’ อาจไม่ส่งผลดีเท่าที่ควร ในการเชิญชวนผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเข้ามาสนับสนุน เพราะธรรมชาติของคนกลุ่มนี้คือผู้ที่มีความสนใจทางการเมือง และมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ ดังนั้นความดราม่าที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง (แบบสุดโต่ง) อาจทำให้หัวคะแนนกลุ่มนี้ (ที่ยังเหลืออยู่ไม่มาก) ตัดสินใจเลือกโหวตให้ฝั่งตรงข้ามได้ 

“บางคนอาจรู้สึกว่า การเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้เลวร้ายอะไรขนาดนั้น แล้วตรรกะในคลิปถือว่าวิบัติด้านการสื่อสาร อย่างกรณีหากไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหาร จะไม่มีใครมาดูแลรักษาอธิปไตยอาจไม่จริง หรือการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสรีนิยมมากขึ้นจะไม่มีคนนับถือศาสนาอันนี้จริงเหรอ ที่คุณไหว้หิ้งพระที่ไม่มีพระพุทธรูป อันนี้ยิ่งกว่าคอมมิวนิสต์อีกนะ คุณพูดเกินจริงไปมาก และข้อมูลแบบนี้จะทำให้กลุ่มสวิงโหวต ที่ไตร่ตรองการเมืองผ่านข้อมูลมาสนับสนุนว่าจะเลือกใครดี คงคล้อยตามความล้าหลังที่คุณกำลังนำเสนอไม่ได้” รศ.ดร.นันทนา กล่าวทิ้งท้าย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7lbtNKSpQ0PKXjYfNbQS8b/cd8be3133ddb1fb74a1ff629ffe10f18/Thai-Nation-Party-clip-Time-Devil-SPACEBAR-Photo07

‘ความกลัว’ หรือ ‘ความหวัง’ 

“เขาว่าสมัยนี้เป็นสมัยเสรีภาพ สมัยนี้ใครๆ จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องอยู่กับร่องกับรอย โดยไม่ต้องด้วยขนบประเพณี คนที่ผุดเกิดมาจากป่าดงไหนก็อาจเป็นใหญ่เป็นโตได้ ฉันเห็นว่าเจ้าความคิดเหล่านี้ทำให้คนเลวลงมากกว่าที่จะดีขึ้น” บทพูดของ ‘ท่านเจ้าคุณ’ ในวรรณกรรม อาจสื่อถึงความเป็นชนชั้นนำ และแนวคิดของเครือข่ายการเมืองกลุ่มอนุรักษ์นิยมได้ชัดเจนที่สุด แม้จะผ่านมาเกือบเจ็ดทศวรรษ ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ‘สาย สีมา’ ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นปีศาจของสังคมเก่าต่อไป 

ท้ายที่สุด ตามหลักอนิจจัง ทุกอย่างย่อมไม่เที่ยง เกิดขึ้นก็ดับลงได้ เสมือนสังคมที่ต้องขับเคลื่อนไปตามวัฏจักรของสาครที่ไหลไปเบื้องหน้า  

เมื่อใดไม่ปรับตัวยังคงพายเรือสวนกระแสธาร  

‘ปีศาจ’ ที่ชื่อ ‘กาลเวลา’ ก็จะยังตามหลอกหลอนสร้าง ‘ความหวาดกลัว’ ไม่จบสิ้น... 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/28fP3T9yVvGmITqroj6eM3/7def3f545645aa18b4d7edd6ee6bcaf0/Thai-Nation-Party-clip-Time-Devil-SPACEBAR-Photo08

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์