จากบทความที่แล้ว (วัฒนธรรม (ผิด) ลอยนวล : 20 ปี ‘ตากใบ’ เงื่อนไขโหม ‘ไฟใต้’ ครั้งใหม่) ‘รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ' อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวถึง ฉากทัศน์ทางความมั่นคงในพื้นที่ ‘สามจังหวัดชายแดนใต้’ ตามสมมุติฐาน ‘คดีตากใบสิ้นอายุความ’ และได้ทิ้งท้ายในประเด็นที่ว่า คนในพื้นที่ให้ความสำคัญกับการแสดงออกในเชิงประชาธิปไตย ไม่ว่าจะระบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
อย่างไรก็ดี ในบทความนี้ ขอหยิบยกประเด็นในมิติทางการเมือง ภายใต้ฉากทัศน์เดียวกัน โดยมีประเด็น ‘ตากใบ’ เป็นแก่นสารหลักของสมการนี้
นักรัฐศาสตร์ที่คลุกคลีกับปัญหาในพื้นที่อย่างเอกรินทร์ มองว่า สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นความซับซ้อน มีหลายมิติที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยเฉพาะ ‘พรรคการเมือง’ และที่มาสู่ ‘คะแนนนิยม’ ที่สัมพันธ์กัน
โดยเฉพาะกรณีที่ได้ศึกษามาเองโดยตรง ช่วงหลังเหตุการณ์ตากใบ (ภายหลัง 25 ตุลาคม 2547) มีการจัดการเลือกตั้งระดับประเทศในอีกราว 4 เดือน (เลือกตั้งใหญ่ 2 กุมภาพันธุ์ 2548)
ขณะนั้นเกิดปรากฏการณ์ ‘พรรคไทยรักไทย’ ในฐานะอดีตพรรครัฐบาล ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมการสลายการชุมนุมตากใบ ไม่ชนะการเลือกตั้งเลยในพื้นที่ชายแดนใต้เลยแม้แต่เก้าอี้เดียว แม้ขุมกำลังจะมี ‘กลุ่มวาดะห์’ ที่นำโดย ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ‘รัฐบาลทักษิณ 1’ เข้ามาเป็นพลังให้กับไทยรักไทยก็ตาม
ในฐานะที่เป็นแกนนำกลุ่มวาดะห์ ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับความนิยมมากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่ผลการเลือกตั้งกลับออกมาไม่สวยงาม จาก 11 เขตการเลือกตั้งเป็น ‘พรรคประชาธิปัตย์’ เข้าครอบครอง และอีก 1 เขตเป็นของ ‘พรรคชาติไทย’ สะท้อนภาพที่ชัดเจน ว่า คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะใช้สนามทางการเมือง ตามระบอบประชาธิปไตย ในการ ‘ปฏิเสธรัฐบาล’ ที่ริดลอนความยุติธรรม อันควรจะมีของประชาชนในพื้นที่ อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2548 ชาวบ้านเลือกที่จะออกเสียงตรงข้ามกับรัฐบาล ทั้งๆ ที่ในพื้นที่เหล่านี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยปักธงในทางการเมืองได้เลย
“การที่ประชาธิปัตย์สามารถครอบครองพื้นที่ ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ ในการเลือกตั้งปี 2548 เป็นภาพที่สะท้อนพลวัตรของคนสามจังหวัดว่าไม่เอาพรรครัฐบาล (ไทยรักไทย) คำถามอยู่ว่า ณ ปัจจุบันในทางการเมือง ประชาชาติก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเพื่อไทย (พรรคเพื่อไทยสาขาสอง) ผมคิดว่าผลสะเทือนทางการเมือง หากมีการเลือกตั้งปี 2570 ประชาชาติต้องถูกถามเรื่องนี้ และจะเลี่ยงตอบคำถามสังคมไม่ได้”
เอกรินทร์ กล่าว
ทว่า หาก (สมมุติ) การเลือกตั้งใหญ่รอบถัดไปถูกจัดขึ้นในปี 2568 พรรคประชาชาติ หรืออาจจะหมายถึง ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ พรรคอื่นๆ จะไม่ได้รับการเลือกตั้งจากคนในพื้นที่แน่นอน เพราะเป็นองคาพยพของ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ ที่ถูกข้อครว่าไม่จริงใจต่อการใช้กฎหมายเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน จนทำให้คดีหมดอายุความลงในที่สุด
กรณีตากใบ ถือเป็นความบาดแผลสำคัญ ที่ฝังลึกในความทรงจำของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ดังนั้น หากมีการจัดการเลือกตั้งในระยะอันใกล้ (โดยอาจมาจากสาเหตุทางการเมือง) คะแนนความนิยมจะตกไปอยู่กับ ‘ฝ่ายค้าน’ อย่าง ‘พรรคประชาชน’ ที่มีนโยบายทวงความยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา และมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อเนื่องชัดเจนโดยตลอด
“หากระบบการเลือกตั้งยังเป็นแบบบัตร 2 ใบ ในส่วนระบบปาร์ตี้ลิสต์ พรรคประชาชนจะได้รับการลงคะแนนเสียงจากคนสามจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้น และอาจมีแนวโน้มที่จะได้ สส. แบบแบ่งเขตด้วยเช่นกัน ทั้งหมดทั้งมวลมาจากจุดยืนที่ตรงไปตรงมา ของสมาชิกรัฐสภา ที่เราไม่เห็นภาพ (หรืออาจพบเห็นได้น้อย) จากฝ่ายรัฐบาล”
เอกรินทร์ ต่วนศิริ กล่าวทิ้งท้าย
นี่จึงเป็นฉากทัศน์ทางการเมือง ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับมิติความมั่นคง โดยมี ‘กรณีตากใบ’ เป็นตัวแปรสำคัญ