มีการตั้งข้อสังเกตไว้มากมาย ว่าเหตุไฉน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงดูทุ่มสุดตัวกับการดำเนินนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ จนออกหน้าออกตา และมักมีทีท่าไม่เป็นสุข เมื่อถูกนักข่าวรุมล้อมถามหาความคืบหน้า ปมปัญหาแหล่งเงินในการรับรอง จนถึงขั้นมีข่าวการดำเนินขั้นตอนเพื่อขอออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน ถึง 5 แสนล้านบาท ภายใต้การทักท้วงจากองค์กรอิสระ และบุคคลากรด้านการเงินการคลังหลายสำนัก
เรื่องนี้มองในมุมความรับผิดชอบ ต่อกรณีการหาเสียงช่วงการเลือกตั้ง ก็ดูไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะตามวิสัยของนักการเมือง จำเป็นต้องดำเนินนโยบายตามคำมั่น ที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน แต่หากมองให้ลึกซึ้ง โดยนำมิติทางการเมืองเข้าผูกโยงแล้ว ก็มีหลายสิ่งที่ต้องขบคิดกันต่อ ว่าจริงๆ แล้ว ‘เสี่ยนิด’ อาจกำลังดิ้นรนกับอะไรบางอย่างอยู่หรือไม่ ประเด็นนี้มาจากนักวิเคราะห์การเมืองบางท่าน ที่มอง ‘เงินหมื่นดิจิทัล’ อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายของ นายกฯ ที่ชื่อ ‘นิด’
SPACEBAR ชวน ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน อ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรี ว่ามีอะไรที่ซ่อนอยู่ในกอไผ่บ้าง
อดีตแกนนำคนเสื้อแดง มองว่า การที่เศรษฐามีปฏิกิริยาที่ดูตื่นตัว และประหม่าในบางจังหวะจนจับสังเกตได้ มาจากความ ‘หวั่นไหว’ ที่เกิดขึ้นอยู่ลึกๆ ภายในจิตใจ เห็นได้จากรูปแบบนโยบายที่ดูสับเปรียบจากเดิมหลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์กำหนดของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินหมื่น ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการระบุว่า ต้องเป็นบุคคลที่มีรายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาทต่อเดือน หรือแม้กระทั่งขอบเขตพื้นที่การใช้จ่าย ที่ตอนแรกกำหนดไว้ว่าแค่ 4 กิโลเมตร แต่ตอนนี้กลายเป็นเขตอำเภอทะเบียนบ้านตามบัตรประชาชน และที่สำคัญคือการยืนยันก่อนหน้านี้ ว่าจะไม่กู้เงิน แต่ทุกวันนี้กลับมีข่าวจะออก พ.ร.บ. มาเพื่อใช้กู้
เมื่อถามว่า ความกดดันที่ว่าคืออะไร จตุพร ระบุว่า มาจากเวลาที่เหลือน้อยเต็มที ซึ่งเรื่องนี้เศรษฐา ย่อมรู้ดีว่าหมายถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่สั่นคลอน จากการที่เงินดิจิทัลจะถูกคว่ำลง โดยจะไม่มีใครได้รับเงินหมื่นสักราย
“ผมเชื่อว่าเงินดิจิทัลจะไม่มีใครได้ใช้ เพราะจะไม่ผ่านในชั้นกฤษฎีกา ซึ่งจริงๆ ถือว่าไม่ได้หนักหนาสาหัสมากนัก หากเทียบกับการถูกล้มในชั้นสภาผู้แทนราษฎร หรือชั้นวุฒิสมาชิก จะเจ็บหนักกว่านี้ ซึ่งในที่สุดก็ต้องพ้นตำแหน่งไปพร้อมๆ กับความล้มเหลวของนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ นี่จึงเป็นความน่าสงสารที่คุณเศรษฐาต้องเผชิญหลังจากนี้ โดยเฉพาะหากคนชั้น 14 คืนสู่อิสรภาพเมื่อใด ก็ยิ่งเร่งรัดให้คุณเศรษฐาต้องจากไปเร็วขึ้น”
วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ยืนยันว่า ไม่ได้วิเคราะห์แบบลอยลม แต่อ่านฉากทัศน์ผ่านขวากหนาม ที่ยากจะก้าวข้ามของนายกฯ และการที่เศรษฐาจำเป็นต้องลงจากเก้าอี้นายกฯ มีมูลเหตุมาจากความรับผิดชอบ ในสิ่งที่เคยพูดไว้กับประชาชน และเป็นไปตามไทม์ไลน์ของการพ้นสภาพความเป็นนักโทษของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ส่วนตัวประมาณการณ์ไว้ว่า คงจะได้ออกจากเรือนจำช่วงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้
เมื่อถามว่า เป็นวิบากรรมทางการเมืองที่ถูกลิขิตไว้ จากผู้ที่อยู่เบื้องหลังจริงหรือไม่ จตุพร ระบุสั้นๆ ว่า แล้วแต่ใครจะคิด แต่เชื่อว่าทุกคนย่อมรู้ ว่ามีการบัญชาการทุกอย่าง จากห้องผู้ป่วยชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
อย่างไรเสีย หากต้องพ้นจากตำแหน่งจริง คงไม่มีเกิดการยุบสภา เพราะหากต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในเร็ววัน เป็นไปได้ยากที่พรรคเพื่อไทยจะได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นแบบเมื่อหลายปีก่อน หนำซ้ำยังแพ้การเลือกตั้งมาแล้ว จึงอาจแค่ ‘สลับตัวนายกฯ’ เป็นทายาทตระกูลชินวัตรเท่านั้นเอง ซึ่งก็ทราบกันดีว่าจะเป็นใคร
จตุพรยังกล่าวเสริมว่า ฉากทัศน์ต่อจากนี้หากเศรษฐา ต้องพบวิบากกรรมตกจากเบอร์หนึ่งไทยคู่ฟ้า มี 3 แนวทางที่คาดว่าเป็นไปได้หมด
1) ‘แพทองทาง ชินวัตร’ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 2) แพทองธาร เป็นนายกฯ ขัดตาทัพ เพื่อรอให้ ‘ทักษิณ’ พ้นโทษ และปรับแก้กฎหมายเรื่องการตัดสิทธิ์ทางการเมือง (จากเดิมต้องโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง 10 ปี) ให้สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ 3) ต้องไม่ลืมว่าวันนี้ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา’ ยังคงมีฐานะเป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่ และดูมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น กับครอบครัวชินวัตร และพรรคเพื่อไทยมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเกิดฟ้าถล่มดินทลาย ออกมาในรูปแบบที่ไม่มีใครคาดฝันก็เป็นได้
“ผมคิดว่าคุณเศรษฐารู้ตัวเองดีที่สุด ว่าจะอยู่ต่อได้อีกนานแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องฮาราคีรีไป ทุกอย่างมันชัดเจนอยู่แล้ว ภาษากายมันบอกภาษาใจ จะก่อนสิ้นปี หรือต้นปีก็เท่านั้นเอง แต่ผมเชื่อว่าจะไม่มีการยุบสภา เพราะไปเจอก้าวไกลตอนนี้เพื่อไทยก็ไม่ไหว แต่ก็ถือว่าต้องวัดใจกันอีกครั้งว่า อุ๊งอิ๊งจะพร้อมมารับเผือกร้อนต่อหรือเปล่า นี่แหละการเมืองที่คาดการณ์ยาก เผลอๆ พลเอกประยุทธ์ ที่ปัจจุบันยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่ ก็อาจมีลุ้น สุดท้ายทั้งหมดก็อยู่ที่เงื่อนไขคนชั้น 14 ที่จะมีประกาศิตลงมาอย่างไร”
อย่างไรก็ดี แนวทางของจตุพร มีความสอดคล้องกับ 'รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก' อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ที่ให้ความเห็นกับ SPACEBAR ว่า ทิศทางของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อาจเป็นไปได้ยาก เปอร์เซ็นต์ถูกคว่ำมีสูง
แต่สิ่งที่นักวิชาการมองต่างกับ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน คือประเด็นที่เศรษฐาจะไม่ยอมลงจากตำแหน่ง โดยยึดหลัก ‘ความรับผิดชอบ’ เพราะแต่เดิมนักการเมืองไทยไม่ได้ใส่ใจประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีการลาออกเพื่อเปลี่ยนนายกฯ หรือการยุบสภา
“หลายท่านอาจมองประชาธิปไตย ผ่านทฤษฎีความรับผิดชอบของนักการเมืองในระดับสูง แต่เท่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวคิดแบบนี้อยู่ในระดับต่ำ ยังไม่เคยมีการลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลข้างต้นเลย ดังนั้นต่อให้ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ผ่าน คุณเศรษฐาก็ไม่ลาออก และจะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักด้วย เพราะถือว่าตัวเองทำเต็มที่แล้ว แต่หน่วยงานอื่นๆ หรือ สส.-สว. ไม่เห็นชอบเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับคุณทักษิณ ที่ขณะนี้ยังนอนรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ”
เจษฎ์ ขยายต่อผ่านมุมมอง 3 ประเด็นว่า
1) ทักษิณ พร้อมที่จะเปลี่ยนแพทองธาร ให้เข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ 2) ทักษิณ จะมีกำลังรวบรวมพรรคร่วมรัฐบาลให้เหนียวแน่นได้หรือไม่ 3) ถ้าเกิดการยุบสภา ทักษิณและพรรคเพื่อไทย จะพร้อมลงสนามการเลือกตั้งหรือไม่ ในเมื่อพรรคเพิ่งแพ้มาหมาดๆ และฐานเสียงของพรรคก้าวไกล ที่ยังคงเข้มแข็ง อีกทั้งพรรคอื่นๆ ก็พร้อมจะดึงคะแนนจากพรรคเพื่อไทย ในหลายมิติด้วย
ดั้งนั้นจึงไม่น่าจะเกิดความรับผิดชอบระดับสูงจากทั้งตัวของเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย (อ่านความเห็นเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อได้ที่บทความ : ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ โชว์ชัดเจนเรื่องเร่งด่วน ?)
“ผมขอเตือนทุกคน ว่าอย่าเห็นประโยชน์เฉพาะหน้าและอย่าเคยชินในสิ่งที่ไม่ควรได้รับ จริงอยู่ว่าท่านมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน แต่การที่จะได้รับในสิ่งที่เหมาะสม มีการช่วยเหลือในระดับที่สมควรทำ ท่านทั้งหลายจะได้ตามสัดส่วนที่จะได้ แต่อย่าหวังกับเงินแจกที่มาจากเงินของเราเอง ในส่วนพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ผมว่าท่านต้องสำนึกว่าท่านแพ้การเลือกตั้ง ท่านอย่าอ้างคนที่อยากได้นโยบายนี้ว่าเป็นคนทั้งประเทศ เพราะท่านได้รับเลือกมาแค่ 11 ล้านเสียง แล้วเมื่อท่านเคยวิจารณ์พรรคที่ได้ 14 ล้านเสียง ให้ถอยนโยบายเรือธง แต่ท่านก็ดันหยิบชูเรือธงของท่านเอง โดยเหมารวมกับคนอื่นที่ไม่ได้เลือกท่านมา ถึงเวลาต้องคิดให้จงหนัก ว่าสิ่งที่ทำเพื่อประชาชนจริงหรือ ? ”