อ่านเหตุผล ‘นิรโทษกรรมฉบับปชช.’ ทำไมไม่เหมือน ‘ก้าวไกล’ ?

23 ม.ค. 2567 - 10:11

  • อ่านเหตุผล ‘นิรโทษกรรมฉบับประชาชน’ ทำไมไม่เหมือน ‘ก้าวไกล’ ผ่านมุมมองของ ‘ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล’ ที่เชื่อว่า ‘ความชัดเจน’ จะนำไปสู่พื้นที่แลกเปลี่ยน ทั้ง ‘การเว้นโทษคดีทางการเมือง’ และการตกตะกอนร่วมกันในสังคมปม ‘ม.112’

People-version-of-the-Amnesty-Bill-SPACEBAR-Hero.jpg

กลายเป็นว่า ความเคลื่อนไหวของ ‘เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน’ ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังการเคลื่อนไหวล่าสุด ที่ทางกลุ่มเดินขบวนเรียกร้องให้ ‘สหประชาชาติ’ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกดดันให้รัฐบาลไทย ผ่านร่างกฎหมาย ‘นิรโทษกรรมฉบับประชาชน’ (อ่านต่อได้ที่ : Photo Story : ยื่น UN กระทุ้งรัฐบาล หนุนกฎหมายนิรโทษกรรม ปชช.) พร้อมๆ กับท่าทีจากฝ่ายการเมืองที่สนับสนุนให้เกิดการเว้นโทษกับผู้ต้องหาคดีการเมือง ที่มีให้เห็นอยู่เนื่องๆ โดยเฉพาะกับ ‘พรรคก้าวไกล’ และ‘พรรคเพื่อไทย’ 

แต่เมื่อตะกอนทางความคิดบางอย่าง ยังสร้างความคลุมเครือกับสังคม โดยเฉพาะเนื้อในของร่างกฎหมาย ที่แตกต่างจาก ‘ฉบับก้าวไกล’ ทำให้หลายคนงงงวย อาจเป็นเพราะ ‘ความกังวล’ บางประการที่ กลุ่มนักเคลื่อนไหวยังไม่ไว้วางใจภาคการเมือง ที่พยายามดันร่างกฎหมายตัวนี้อยู่ 

‘ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล’ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ให้เปิดเผยเหตุผลกับ SPACEBAR ว่า เป็นเรื่องปกติที่รายละเอียดบางประการถึงแตกต่างกัน ในส่วนภาคประชาชนเห็นว่าการที่พรรคก้าวไกลมีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นนิมิตหมายที่ดี ประการแรกทำให้สังคมเกิดการถกเถียง ประเด็นคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความขัดแย้ง ซึ่งการจะคลี่คลายความขัดแย้ง ก็ควรจะมีจุดตั้งต้นจากการนิรโทษกรรมทางการเมือง  

กระนั้น ฉบับพรรคก้าวไกล ในส่วนของคดีความ ไม่ได้ระบุแบบชัดเจน - รัดกุม ว่าคดีความแบบไหนถึงเข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง แต่ใช้กลไกการพิจารณาผ่านคณะกรรมการที่มีการจัดตั้งขึ้น เมื่อยังไม่มีความชัดเจนทางประชาชนจึงมีความกังวล ว่าสุดท้ายแล้วการเว้นโทษทางการเมืองจะครอบคลุมในทุกคดีหรือไม่ 

"โดยเฉพาะคดีความที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 และคดีการสลายการชุมนุมของม็อบทะลุแก๊ส ยังไม่แน่ใจว่าจะครอบคลุมถึงตรงนั้นหรือไม่ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราในฐานะภาคประชาชน ได้เสนอร่างกฎหมายของเราเอง และระบุตัวคดีความลงไปอย่างชัดเจน" 

 ส่วนประเด็นที่มีการระบุถึงห้วงเวลาที่จะบังคับใช้ร่างกฎหมายตัวนี้ คือจังหวะการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นช่วงที่มีการกำหนดใช้กฎหมายของ คมช. อันเป็นชนวนเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งสะสม ไม่ว่าจะเป็นสงครามสีเสื้อ การแบ่งฝ่าย หรือการเกิดขั้วการเมืองต่างๆ ในตลอดช่วงระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ รวมถึงการระบุเนื้อหา ให้มีการลบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหาในคดีด้วย เพราะทุกคนที่ออกมาขับเคลื่อนภายใต้สิทธิและเสรีภาพ ไม่ควรมีมลทินติดตัว  

พร้อมกันนี้ สำหรับคดีที่จะไม่ได้รับการเว้นโทษ ร่างของพรรคก้าวไกลได้ระบุไว้ส่วนหนึ่ง เรื่องความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา ยกเว้นจะกระทำโดยประมาท แต่ภาคประชาชนมองว่าการตีความดังกล่าวไม่ชัดเจน จึงไม่ได้ระบุเข้าไปในร่าง แต่ทางเครือข่ายได้ระบุรายละเอียดให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะหลายกรณีมีจุดเริ่มต้นมาจากการเรียกร้องทางการเมือง จึงควรมีการแยกฝ่ายอย่างชัดเจน  

อีกประเด็นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง คือการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาการนิรโทษกรรม ในส่วนของก้าวไกลมีการวางกรรมการไว้ทั้งสิ้นจำนวน 9 คน สัดส่วนจะมาจากองค์กรและเครือข่ายยุติธรรม แต่ภาคประชาชนเล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีทางการเมือง จึงมีการเพิ่มสัดส่วนของกรรมการเข้าไปเป็น 19 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนจากกลุ่มประชาชน และ เอ็นจีโอ 

"หลักการสำคัญเรามองว่า การนิรโทษกรรมประชาชนเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายตั้งแต่การออกกฎหมายฉบับ 66/23 และไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย ตอนนี้มันถึงคราวทวงคืนความเป็นธรรม ให้กับประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพจริงๆ ซึ่งเราก็ต้องเรียกร้องด้วยตัวเราเอง เป็นการแสดงอำนาจของเราในฐานะประชาชน ที่มีสิทธิ์ในการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลได้ เช่นเดียวกับภาคการเมือง"

เมื่อถามว่า การเสนอกฎหมายดังกล่าวพร้อมๆ กับการผลักดันของพรรคก้าวไกล แสดงให้เห็นถึงนัยยะความกังวลอะไรของประชาชนหรือไม่ ภัสราวลี กล่าวว่า มันไม่ใช่ความกังวลอะไรต่อพรรคก้าวไกล แต่อย่างที่กล่าวไว้ว่า ภาคประชาชนมีสิทธิ์ในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นการเมืองและความยุติธรรมของประเทศ และประชาชนก็เห็นทางออกในการเข้ามาแก้ไขปัญหา ผ่านหลักใหญ่ ด้วยการมอบสิทธิเสรีภาพให้กับการประกันตัวและละเว้นโทษ ลงไปถึงกระบวนการเยียวยาผู้เสียหายที่ถูกดำเนินคดี ในช่วยท้ายของกระบวนการด้วย  

สำหรับรายงานข่าว ที่ระบุว่าทางพรรคเพื่อไทยจะมีการ นำเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมควบคู่ไปกับพรรคก้าวไกลนั้น ภัสราวลี มองว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ทางพรรคแกนนำรัฐบาลจะเล็งเห็นถึงข้อสำคัญตรงนี้ แต่หลักการหนึ่งที่ไม่ควรหลบเลี่ยง คือการนำคดีความที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ควบรวมเข้าไปอยู่ในสัดส่วนของคดีทางการเมืองด้วย  

หากพรรคเพื่อไทยมีการยื่นร่างกฎหมายโดยไม่ครอบคลุมประเด็นม. 112 ก็จะเป็นข้อดีที่สังคม จะสามารถร่วมพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่แตกต่างกันได้ถึง 3 ฉบับ นำไปสู่การถกเถียง และหาจุดร่วมว่าสุดท้ายแล้วคนในสังคมจะมีทิศทางร่วมกันอย่างไร  

ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ไม่สามารถบอกได้ว่า จะสำเร็จหรือไม่ แต่เมื่อกลไกการพิจารณาร่างกฎหมายเข้าสู่ชั้นของรัฐสภา ก็จะเพิ่มโอกาสให้ทั้ง สส. และ สว.ที่เคยมีข้อกังขา ในประเด็นที่เกี่ยวพันกับกฎหมายหมิ่นสถาบัน ได้แสดงวิสัยทัศน์กลางที่ประชุมสภา ให้ประชาชนได้เห็น ว่าสุดท้ายแล้วผู้แทนของประชาชน มีทัศนะกับเรื่องนี้อย่างไร และทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในอนาคตจะออกมาในรูปแบบไหน  

ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับสถานการณ์และภาพรวมสังคม ณ ขณะนั้น ว่าเห็นด้วยกับกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน หากประชาชนแสดงเจตจำนง ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทางรัฐสภาจำเป็นที่จะต้องรีบหาหนทางในการตกตะกอนประเด็นนี้ อย่างทันเหตุการด้วย

"อย่างที่บอกค่ะหากมีการยื่นร่างทั้ง 3 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลและเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา จะเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในรูปแบบการผ่านร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ไม่ว่าจะสำเร็จออกมาในรูปแบบไหน เชื่อว่าจะเป็นผลดีในการเปิดพื้นที่เช็กความเห็นของนักการเมือง และประชาชน ต่อการนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดี 112 ด้วย แม้จะหาข้อยุติในสภา แต่ก็อาจเป็นการสตาร์ตให้เกิดคณะกรรมการศึกษาเรื่อง ม.112 อย่างจังเพิ่มเติมในอนาคตด้วย เพราะมันคือจุดเริ่มต้นของเรื่องความขัดแย้งในสังคมหลายประการ"

ภัสราวลี กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จะมีการดำเนินกิจกรรมเปิดล่ารายชื่อผู้เห็นด้วย กับร่างกฎหมายฉบับนี้โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 - 14 กุมภาพันธ์ 2567  โดยผู้ใดประสงค์จะจัดกิจกรรมทั้งในรูปแบบการตั้งโต๊ะหรือบนโลกออนไลน์ก็สามารถทำได้ ผ่านการติดแฮชแท็ก นิรโทษกรรมฉบับประชาชน และการถ่ายรูปท้องฟ้า  ลงโซเชียลมิเดีย เพื่อแสดงให้เห็นถึง การเรียกสิทธิและเสรีภาพ "อย่างน้อยๆ พวกเราก็ไม่ลืมคนที่อยู่ด้านใน และพยายามทำทุกวิถีทางในการทวงความยุติธรรมให้กับทุกๆ คนอยู่ "

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์