เมื่อข้าพเจ้าได้เขียนบทความเรื่อง เวทีชะตากรรม ‘ปรอดหัวโขน’ ประชาพิจารณ์ หรือการหาเสียง ? ออกเผยแพร่สู่สาธารณะ แบบรู้ทั้งรู้ว่า ไม่ใช่สาระสำคัญที่ใครจะสนใจมากนัก แต่หากได้ติดตามเรื่องราวจะพบความซับซ้อน ที่ซุกซ่อนอยู่ในแก่นสาร ภายใต้ฉากพิพาทอันดุเดือด ระหว่างกลุ่มนักอนุรักษ์ และผู้เพาะเลี้ยง ‘นกกรงหัวจุก’ (หรือนกปรอดหัวโขน)
หากท่านยังมีข้อกังขาจากคำโปรยสั้นกุด ใคร่อยากให้ย้อนอ่านงานเขียนที่ข้าพเจ้าแทรกลิงก์ไว้ เพื่อเข้าใจเรื่องราวแบบสังเขป จะช่วยเพิ่มอรรถรสในเสพเนื้อหาต่อจากนี้ไปได้
เมื่อรอบก่อนพูดคุยในมุมนักอนุรักษ์ไปแล้ว เพื่อความเป็นกลางในการนำเสนอ รอบนี้ผู้เขียนจึงติดต่อไปหา ‘พุฒิธร วรรณกิจ’ นายกสมาคมอนุรักษ์และเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย ถือซักไซร้ที่มาของแนวร่วม ‘ปลดล็อกนกปรอดหัวโขน’ ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง
การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น ที่บ้านผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกหลังหนึ่งในเขตหนอกจอก การสัมภาษณ์จึงกลมกล่อมด้วยเสียงผสมจากสกุณาอันไพเราะ มันเติมเต็มรสชาติให้คำถามเข้มข้นมากขึ้น จนผู้เขียนต้องขอตัวลุกไปสูบบุหรี่คลายความตึงเครียดหลายครั้ง

อะไรคือ จุดเริ่มต้นของ ‘นายกฯ โอ’ ในฐานะลูกหลานชาวใต้ และหัวขบวน ‘ปลดล็อกนกกรงหัวจุก’
เอาเข้าจริงวัฒนธรรมการเลี้ยงนกกรงหัวจุกมีมานานแล้ว ตามหลักฐานที่มีบันทึกและจากปากผู้เฒ่าผู้แก่ สืบสาวราวเรื่องได้ร่วมร้อยปี แต่สำหรับผมที่เป็นชาวพัทลุงโดยกำเนิด ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนคลานเป็น ก็เห็นตัวเองอยู่ใต้กรงนกหน้าบ้านแล้ว ซึ่งภาคใต้เขาไม่ได้เลี้ยงแค่นกหัวจุกนะ แต่ยังมีนกเขาชวา ที่ก่อนหน้านี้เคยได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จนปัจจุบันถูกปลดล็อกแล้ว
(นกกรงหัวจุก) คนใต้เขาเลือกเลี้ยงกัน เพราะเราเลือกที่จะรัก เสียงของมันไพเราะ น่าดึงดูด อีกทั้งทางกายภาพก็สวยงาม เป็นนกถิ่นที่พบได้ทั่วไป ผู้เพาะเลี้ยงมีตั้งแต่เด็กที่เพิ่งตั้งไข่ได้ ไปจนถึงผู้คนสูงอายุวัยแง้มฝาโลง
แต่หากจะถามว่าเข้ามาในวงการได้ยังอย่างไร จริงๆ ตอนแรกก็ไม่ได้เข้ามาอย่างเป็นทางการหรอก มันเป็นไปโดยอัตลักษณ์เป็นไปโดยบริบททางสังคมและบริบทของตัวเองที่มีความผูกพัน
ตั้งแต่สมัยดั้นด้นเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ หลายสิบปีก่อน ผมหิ้วนกกรงหัวจุกขึ้นรถไฟมาด้วย เพื่อนๆ ในเมืองบางคนก็หัวเราะ (ซึ่งบางคนก็ไม่เข้าใจ) ว่าทำไมเราถึงตรากตรำลำบากนำติดตัวมาด้วยแบบนี้
แต่จริงๆ มันเป็นการเคลื่อนย้ายวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่เราไม่รู้ตัว มันทำให้เกิดการกระจาย ความเป็นท้องถิ่นของเรา ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จนขณะนี้วิถีการเลี้ยงนกของชาวใต้ ถูกเผยแพร่และมีการเพาะเลี้ยงไปทั่วประเทศไทยแล้ว เอาเข้าจริงก็สอดคล้องกับธรรมชาติ ที่เรามักจะพบเห็นพวกมันได้อยู่ทั่วไป
วัฒนธรรมการเลี้ยงนกกรงหัวจุก ที่จับต้องได้คืออะไร
อย่างที่บอกพื้นเพการเลี้ยงในไทยมีมานาน เริ่มแรกมาจากการนำนกมาตีกัน ในลักษณะคล้ายการชนไก่ ปัจจุบันเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียก็ยังใช้ตีกันอยู่ แต่สำหรับบ้านเราเลิกไปหลายสิบปีแล้ว เขาเปลี่ยนมาเป็นการฟังเสียง และเอากติกามาจับคู่สู้กัน ทั้งในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การแข่งร้องเสียงทอง เสียงสากล และการนับดอก - รวมดอก
นอกจากนี้นกกรงหัวจุก ยังสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจมากมาย ประหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่จับต้องได้ อย่างเงินรางวัลการแข่งขัน หรือการซื้อขายตัวนก ที่นกแข่งมีมูลค่าสูงตั้งแต่ตัวละหลักพัน ไปจนถึงหลักแสนบาท ยังไม่รวมกับอุปกรณ์และอาหาร อย่างกรงที่ใช้เลี้ยง ก็มีการต่อยอดเป็นศิลปะอันสวยงาม เพิ่มมูลค่าให้ท้องถิ่นที่ ในวันที่เริ่มเติมโตตามอุปสงค์ที่เพิ่มพูลขึ้นเรื่อยๆ
แต่เมื่อปัจจัยทางกฎหมายที่ไม่ให้เพาะเลี้ยงอย่างเสรี จึงทำให้เม็ดเงินเหล่านี้ขาดหายไป

สำหรับคุณประเด็นนี้คือเหตุผลหลัก ในการเรียกร้องให้รัฐนำนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือไม่
ใช่ แต่จริงๆ มันมีรายละเอียดของปัญหายิบย่อยเยอะมาก แต่อุปสรรคอันดับแรกคือเงื่อนไขทางกฎหมาย แม้รัฐจะประชาสัมพันธ์ เปิดโอกาสให้เพาะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ แต่เมื่อดูขั้นตอนข้อกำหนดแบบละเอียดมันไม่สามารถทำได้จริง
ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่แสนยุ่งยากของการแจ้งเพศ การแจ้งจับคู่ผสมพันธุ์นก หรือแม้แต่กระบวนการขึ้นทะเบียนนกของกรมอุทยานฯ หลายอย่างมันเกินความสามารถที่ชาวบ้านทั่วไปจะทำได้
ยกตัวอย่าง ชาวบ้านชื่อ นาย ก. อยากเพาะพันธุ์นกขาย ก็ไปซื้อพ่อแม่พันธุ์มาจากฟาร์ม แต่จะไปยื่นขอเพาะพันธุ์ก็ต้องเอาโฉนดที่ดินไปเป็นหลักฐาน เจ้าหน้าที่ต้องมาสอบถามคนข้างบ้าน และอีกหลายขั้นตอนที่วุ่นวาย
สุดท้ายเมื่อผ่านทุกกระบวนการ ก็จะมีเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่ว่างไปตรวจสอบ และให้หาชาวบ้านที่เพาะเลี้ยงในพื้นที่มาเพิ่ม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไม่เสียเวลาในการเดินทางครั้งเดียว สุดท้ายพอเกินเวลาที่กำหนด นกตัวนี้ก็จะกลายเป็นนกผิดกฎหมาย บางทีนกจะผสมพันธุ์อยู่แล้วก็ติดปัญหาที่กฎหมายก็เลยต้องปล่อยให้นกทับกัน ลูกที่ออกมาก็กลายเป็นนกต่างด้าวทันที ทั้งๆ ที่พ่อแม่มีขึ้นทะเบียนถูกต้อง และเมื่อมีไว้ในครอบครองคนเลี้ยงก็ผิดโดนจับอีก
ค่าเสียเวลาหรือการทรัพย์สินที่ต้องจ่าย หากถูกดำเนินคดีมากน้อยแค่ไหน
นอกจากต้นทุนที่ต้องจ่ายในการซื้อมาเพาะแล้ว แล้วบางทีชาวบ้านก็ถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่ ถูกแจ้งจับดำเนินคดี หลักประกันตัวที่โรงพักก็ ปาไปร่วมแสนบาทแล้ว เขาจะเอาเงินที่ไหนไปประกันตัว บางคนโชคดีหน่อยได้การช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในชุมชน อย่าง อบต. หรือ สจ. โดยเขาจะใช้ตำแหน่งในการประกันตัวให้ แต่ถ้าคุณโชคไม่ดีก็ต้องติดคุก ต่อให้ติดแม้แต่วันเดียวก็ถือติดคุก
มาดูโทษปรับก็สูง เพราะตามกฎหมายระบุไม่เกิน 500,000 บาท ฟังแล้วตลกมาก ขณะที่ผู้ครอบครองปืน มีโทษปรับแค่ 20,000 บาท แล้วแบบนี้จะให้พวกผมนิ่งดูดาย ไม่ให้ถอดถอนจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่อีกหรือ ? มันมีตรงไหนที่พวกผมไม่สมควร ที่จะมาเรียกร้องสิทธิ์ตรงนี้บ้าง
เห็นว่ามีการคัดค้านจากฝากฝั่งนักอนุรักษ์ ไม่อยากให้มีการปลดล็อกเพาะกลัวจำนวนนกในธรรมชาติ ลดน้อยและหายไป ?
ส่วนตัวเข้าใจว่าที่นักวิชาการกังวลเกี่ยวกับเรื่องการปลดล็อคแล้วจะถูกล่ามากขึ้น แต่ผมมองในหลายประเด็น มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในการหารือร่วมระหว่างผู้เพาะเลี้ยงและนักอนุรักษ์ ผมบอกกับที่ประชุมว่า ‘คุณอย่าตีความปลาเน่าตัวเดียว ในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล’ เลย
ย้อนกลับไปที่กฎหมาย ผมก็มองไม่เป็นธรรมและคร่ำครึ เขาเอาผู้ครอบครองกับผู้ล่ามาเป็นแบบเดียวกัน เพราะในกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าไม่มีคำว่า ‘ผู้ครอบครอง’ มีแต่ ‘ผู้ล่า’
สรุปแล้วคุณนกหิ้วไปข้างนอกแล้วโดนตำรวจจับ คุณก็จะกลายเป็นผู้ล่าทันที เพราะบทลงโทษใช้แบบเดียวกับคนที่จับนกมาเป็นฝูง
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ผมไม่เคยบอกว่าไม่มีคนล่า เพราะในโลกนี้มันมีทั้งคนดีและคนเลว และผมไม่เคยบอกนะ ว่าถ้าถอดออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว จะไม่มีการล่า แต่หากคุณเปิดตลาดเสรี แล้วมีนกที่ผ่านการเพาะพันธุ์มาป้อนเข้าสู่ตลาดเยอะๆ กลไกของตลาดจะทำหน้าที่กำจัดคนพวกนี้ (คนล่านก) ออกไปเอง

ช่วยอธิบายเหตุผลหน่อย ว่าอะไรคือสาเหตุให้คนล่านกจะมีจำนวนลดลง หากฉีกกฎหมายคุ้มครองฉบับนี้ ?
ง่ายๆ เลย เพราะนกที่ถูกเพาะพันธุ์จากฟาร์มย่อมมีความฉลาด รูปร่างดี ลักษณะสวย ตัวใหญ่ ร้องเสียงไพเราะ เหมาะสำหรับใช้การแข่งขันหรือประกวด แต่นกป่าหากจะนำไปแข่งร้องเพลง ต้องใช้เวลาฝึกฝนมันนานมาก อีกทั้งบางตัวก็ไม่แข็งแรง มีอายุไขสั้นกว่าเลี้ยงในกรง ดังนั้นผู้ซื้อที่ใช้เลี้ยงดู หรือเอาเข้าประกวด จะไม่มีใครอยากได้นกที่ถูกจับมาเลย
ผมย้ำเสมอว่า กฎหมายชิ้นนี้สร้างด้วยคนก็ต้องแก้ด้วยคน หากถึงเวลาถอดถอนแล้วนกป่าหายไปอย่างมีนัยสำคัญ คุณ (นักวิชาการ - ข้าราชการ) ก็นำกลับเข้ามาบรรจุใหม่สิ ขอเวลา 2-3 ปีแล้วมาดูกัน
แต่นักวิชาการเขามีข้อมูลพูดถึงแนวโน้มประชากร ที่นับวันเริ่มลดจำนวนหายไปจากธรรมชาตินะครับ ?
นักอนุรักษ์ - นักวิชาการ เขานั่งอยู่ในห้องแอร์ แล้วพูดโดยไม่เคยดูวิถีชีวิตชาวบ้านเลย เหมือนพวกเขานั่งจุดเทียนในห้องแอร์ แล้วบอกว่าเดี๋ยวจะทำข้อกำหนดให้ง่ายที่สุด เพื่อที่จะอำนวยความสะดวก ในการขึ้นทะเบียนให้เป็นไปตามระเบียบ เขาพูดแบบนี้มากี่ปีแล้วก็ไม่เคยสำเร็จ ชาวบ้านยังพบอุปสรรคจากกระบวนการต่างๆ อยู่ตลอด
สุดท้ายแล้วมันไม่มีทางอื่นหรอกครับ นอกจากปลดล็อก เราต้องอย่าเอางานวิจัยอันสวยหรู มาทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน คุณแค่ถอดออกมาจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ปัญหาทุกเรื่องก็จะจบลง
ยิ่งตอนนี้เรามีเวียดนามที่เป็นคู่แข่งหลัก และอีกต่อไปจะมีทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียอีกด้วย เพราะประเทศเหล่านี้ก็ทยอยถอดนกกรงหัวจุกออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหมดแล้ว เหลือแต่บ้านเรา ทั้งๆ ที่กระบวนการเพาะเลี้ยงเมื่อ 10 ปีที่ก่อน เรานำหน้าเวียดนามไปไกลเกิน 50 ปี
พอเขาเปิดการเพาะเลี้ยงแบบเสรี (ตอนนี้) เขาตามเราห่างแค่ไม่เกิน 3 ปี เท่านั้น ยิ่งเราช้าไม่นานก็ถูกแซง และเราจะเสียผลประโยชน์ ทั้งด้านการค้า ด้านซอฟพาวเวอร์ และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นมูลค่าที่นับไม่ได้
นอกจากความกังวลเรื่องการสูญพันธุ์จากธรรมชาติ แล้วเรื่องพันธุ์กรรมแบบ ‘เลือดชิด’ และกระบวนการผสมจนเกิด ‘นกปรอดหัวโขนแฟนซี’ ยังเป็นประเด็นถกเถียงที่หนักแน่นอยู่ ในฐานะที่เป็นนายกฯ ผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก คุณมีคำอธิบายเรื่องนี้หรือไม่
อันนี้ผมมองแบบเดียวกันกับเรื่องกฎหมาย มันคือความคิดที่ล้าหลัง ไร้สาระ ทำไมนักวิชาการถึงไม่เข้ามาพูดคุยกับชาวบ้าน คุณมัวแต่เข้าป่ากับเสื้อผ้า - รองเท้าแพงๆ กล้องแพงๆ แล้วไปโม้กันถึงงานวิจัยต่างๆ ทำไมคุณไม่สอบถามชาวบ้านว่าทำอย่างไรถึงได้มา ซึ่งผู้เพาะเลี้ยงทุกคนยินดีที่จะให้องค์ความรู้ เผื่อคุณจะนำไปสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ไม่มีใครว่า เพราะจริงๆ ภาควิชาการกับคนเลี้ยงควรเดินคู่กัน และรับฟังซึ่งกันและกัน
อีกอย่างเวลานักวิจัยกังวลเรื่องโรคระบาด และภาวะเลือดชิดของสัตว์ในกรง มันดูย้อนแย้งกับที่เคยนำเสนอ อย่างก่อนหน้านี้มีการเพาะพันธุ์พญาแร้งอยู่ 3-4 ตัว เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ผมขอถามกลับหน่อยว่าคุณไม่กลัวหรือว่า เวลาปล่อยป่ามันจะนำโรคระบาดไปติดสัตว์ ? และการที่คุณบอกว่า การที่เอานกกรงหัวจุกไปปล่อยในป่าจะทำให้เกิดโรคระบาด มันต่างกันตรงไหน
เช่นเดียวกับตอนพวกคุณนั่งโต๊ะแถลงข่าว เรื่องกระทิงที่ตายในป่าปราณบุรี คุณบอกต้องเคลื่อนย้ายพวกมัน เนื่องจากการพัฒนาบุกรุกสู่พื้นที่ธรรมชาติทุกๆ วัน จนกระทิงไม่สามารถใช้เส้นทางป่าเขาเดินผ่านได้ มันก็ผสมพันธุ์กันในหมู่ครอบครัว จนกลายเป็นสัตว์เลือดชิด ส่งผลต่อเนื่องไปเป็นโรคระบาดในกระทิง สุดท้ายคุณก็ต้องเอากระทิงจากเขาแผงม้า และป่าฮาราบาลามาปล่อย แล้วเอาตัวที่อยู่ปราณบุรีไปไว้ที่อื่น เพื่อไม่ให้เกิดเลือดชิด มันก็ย้อนแย้งกับเรื่องนกกรงหัวจุก ที่คุณกำลังต่อต้านการเพาะเลี้ยงอยู่นะครับ
ดังนั้นอยากให้ถามตัวเองก่อนว่า วันนี้คุณมาต่อต้านเรื่องเลือดชิดในส่วนของนกกรงหัวจุก แล้ววันนั้นจะแถลงข่าวไปทำไม ผมไม่ได้บูลลี่และไม่ได้ว่า แต่อยากให้ย้อนกลับไปดูสิ่งที่เคยพูดด้วย เพราะจะทำให้ประชาชนสับสน
มีข้อวิจารณ์จากหลายฝ่ายที่มองว่า เวทีแลกเปลี่ยน ที่จัดขึ้น 2 ครั้ง (ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และที่อาคารรัฐสภา) มีนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่น และรองประธานรัฐสภาคนที่ 2 (พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย) เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ทั้งๆ ที่ควรเป็นการหารือระหว่างนักอนุรักษ์ ผู้เพาะเลี้ยง และกรมอุทยานแห่งชาติฯ เท่านั้น ?
ส่วนที่บอกว่า มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะต้องการหาเสียงจากชาวบ้าน ถือเป็นการมองการเมืองแบบโบราณ คุณอย่าลืมว่า วันนี้เราใกล้จะใช้คลื่น 7G แล้วอีก ทั้งยังมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กำลังเดินหน้าอยู่
ฉะนั้น ผมจึงอยากถามกลับว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ หมายความว่าไงครับ… บริบทของผู้แทนฯ ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว ที่ต้องไปงานศพ งานแต่ง ไปเปิดป้าย ตามงานสำคัญต่างๆ นานา แต่ผู้แทนราษฎรเป็นของปวงชนชาวไทย เขาต้องรับใช้พี่น้องประชาชนที่เลือกเขามา ถ้าเขานำเสนอความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่ แล้วถูกวิจารณ์ว่าเป็นการหาเสียง คนที่มองแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับกบในกะลา
ส่วนใครมองการจัดเวทีเสวนาที่รัฐสภา เป็นการล็อบบี้โดยการเอามวลชนเข้ามาเต็มพื้นที่นั้น พวกคุณด้อยค่าคนเลี้ยงนกเกินไป
จริงๆ ทีแรกเรากะเกณฑ์ไว้ว่า จะมีชาวบ้าน มาไม่เกิน 1,200 คน แต่ด้วยบริบทของคน อยากให้นกกรงหัวจุกถูกปลดล็อค ก็เลยมาจนทะลุยอดเกิน 3,000 คน ผมยืนยันว่าไม่มีการจัดตั้ง หรือการเตี๊ยมคนมาแน่นอน ทุกคนมาด้วยใจที่ตรงกัน

แต่เครือข่ายนักอนุรักษ์มองว่า ในการเสวนาที่รัฐสภา พวกเขาไม่ได้รับทราบถึงปัญหา หรือข้อเรียกร้องใดๆ จากชาวบ้านเลย มีแต่การร้องโห่ และการแสดงความเห็นเชิงหาเสียง ของนักการเมืองที่มาร่วมงานอยู่ตลอดเวลา
จริงๆ ทางแกนนำกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงก็มองเช่นนั้น เพราะเราเองก็ไม่ได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์เชิงข้อมูลมากเท่าไหร่นัก แต่อย่างที่บอกเมื่อพี่น้องประชาชน เขาอยากเปลี่ยนแปลง จึงเดินทางกันมาเยอะ ทำให้การควบคุมมวลชนเป็นไปได้ยาก
ดังนั้นผมขอฝากน้อง (ผู้เขียน) ช่วยเชิญชวนกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์มาพูดคุยกันอีกครั้ง แบบฝั่งละ 3 คนเท่าๆ กัน โดยใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่อสู้หักร้าง โดยจะไม่มีผู้คนกลุ่มอื่น หรือนักการเมืองคนไหนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเลย แต่อยากขอให้เป็นการถ่ายทอดสด ออกช่องทีวีชั้นนำ เพื่อให้สาธารณชน ได้ทราบข้อเท็จจริง จากฝั่งของผู้เพาะเลี้ยงบ้าง ซึ่งผมยินดีเชิญ (หรือได้รับคำเชิญ) ด้วยใจที่บริสุทธิ์

สุดท้ายนี้ หากเราพูดถึงเรื่องอิสรภาพของตัวนก และการโบยบินในธรรมชาติอย่างเสรี คุณมองอย่างไรกับ การที่นกปรอดหัวโขนเหล่านี้ ถูกนำมาใส่ในกรงเลี้ยง หรือจริงๆ แล้วมีมุมมองประการใดที่อยากสื่อสารออกไปบ้าง
ผมว่าทุกคนต้องมองโลกแห่งความเป็นจริง ด้วยสายตาและหัวใจ ซึ่งมันจะเกิดคำถามต่อว่า แล้วสวนสัตว์ที่เป็นของรัฐบาล ที่มีทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำไมยังเปิดทำการได้อยู่ แค่กับแค่นกปรอดหัวโขนถูกนำมาเลี้ยงในกรง คุณจะเป็นจะตาย งั้นผมว่าเราต้องปล่อยสัตว์ทุกตัวในสวนสัตว์ทั่วโลก (แล้ว) การใช้อคติมาพูดแบบนี้ พวกผมก็โดนตีกินอยู่เรื่อยไป
จริงๆ เราก็อยากสืบทอดวัฒนธรรมล้ำค่า และสิ่งมีชีวิตหายาก ให้เด็กๆ คนรุ่นหลังได้ดูเหมือนกันไม่ใช่เหรอ ?
อย่างไรเสีย ก็ขอฝากถึงนักอนุรักษ์และนักวิจัย อยากให้ท่านลองเปิดใจกับเรื่องนี้โดยการปลดล็อคตัวเอง เพราะชาวบ้านยังรอความหวังจากพวกผมอยู่ ซึ่งพวกเราเป็นคนชั้นล่างทุนน้อยเบี้ยน้อย ไม่ได้เป็นชั้นนำ พอมีผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาช่วยหน่อย คุณก็มองว่าเป็นการหาเสียง
พอเถอะครับ เดินเข้ามาหาบ้านชาวบ้าน เข้ามาถามมาพูดคุย แล้วคุณจะได้ความรักความนับถือ ชื่อของคุณจะถูกจารึกไว้ในประเทศนี้ ว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ช่วยเหลือชาวบ้านในการร่วมรักษา ‘นกกรงหัวจุก’ ให้คนรุ่นหลังได้เห็น
บทสนทนาจบลงด้วย ‘ความเงียบ’ ของ 'คน' แต่แทนที่ด้วยเสียงของ ‘นกปรอดหัวโขน’ อันแวดล้อมอย่างโหวกเหวกโวยวาย จนผู้เขียนต้องขบคิดอยู่ในใจ ว่าทำไม มนุษย์ถึงฟังเสียงพวกเจ้าไม่รู้เรื่องนะ…
