มีปฏิกิริยาออกมาทันทีสำหรับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ภายหลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยอย่างเป็นทางการถึง “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลกรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต”
โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่า อ่านจากเฮดไลน์คร่าวๆ เรื่องของการทุจริตในการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ในเรื่องนี้ คงมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ยืนยันว่าต้องตอบคำถามเรื่องนี้ให้ได้
สำหรับประเด็นข้อเสนอแนะส่วนหนึ่งเหมือนต้องการให้รัฐบาลระมัดระวังเรื่องการแจกเงินนั้น เศรษฐา ก็ยืนยันว่า ระมัดระวังอยู่แล้ว พร้อมย้ำถึงการตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีกลไกที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
ส่วนเมื่อถามว่าจะมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ดูด้วยหรือไม่ เศรษฐา มองว่า คณะทำงานคงทำทุกอย่างที่ต้องเป็นการปกป้องและดูแลเรื่องผลประโยชน์อย่างสูงสุดของพี่น้องประชาชน ซึ่งอาทิตย์หน้า จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น คงมีการแถลงใหญ่
เมื่อถามถึงเรื่องงบประมาณ ที่ทาง ป.ป.ช.แนะให้กลับมาใช้งบประมาณประจำปีปกติ ดีกว่าการออก ‘พ.ร.บ.กู้เงิน’ เศรษฐา กล่าวว่า อันนี้เดี๋ยวต้องไปคุยกัน ก็เพิ่งทราบเหมือนกัน ส่วนเมื่อถามอีกว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ เศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่ได้คุยเลย ต้องดูความเหมาะสมก่อน
ส่วนข้อเสนอแนะ ป.ป.ช.ถึงขั้นให้ปรับเกณฑ์แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อยนั้น เศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องไปดูเรื่องของหน้าที่ และสิ่งที่ ป.ป.ช.บอกมาว่าอย่างไร และเหตุผลคืออะไร ซึ่งก็ต้องดูหน้าที่ของ ป.ป.ช.คือการตรวจสอบทุจริตประพฤติมิชอบใช่หรือไม่ ส่วนนโยบายว่าจะให้ใครบ้างเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคำนึงถึงและน้อมรับคำและข้อสังเกตเรื่องของการทุจริต ตนเน้นตรงนี้ดีกว่าที่เกี่ยวข้องกับทาง ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช.สบายใจว่า ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
อย่างที่บอก เรื่องของคนเปราะบาง เริ่มจากวันแรกที่เราพูดคุยกันแล้วว่า ตรงไหนคือเปราะบาง ตรงไหนคือไม่เปราะบาง ถ้าผมบอกว่าต่ำกว่า 20,000 บาท-เปราะบาง ถ้าสูงกว่า 20,000 บาท-ไม่เปราะบาง หากคุณได้เงินเดือน 20,000 บาท คุณจะโต้เถียงหรือไม่ เพราะผมก็เปราะบางเหมือนกัน ผมก็มีหนี้เยอะ ต้องการการกระตุ้นเหมือนกันใช่ไหมครับ อันนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเหมือนกัน ฉะนั้นทาง ป.ป.ช.หน้าที่ของท่าน ที่เสนอมาในเรื่องของการทุจริต ต้องระมัดระวังตรงนี้ น้อมรับครับ
สำหรับประเด็นที่ในการหาเสียงบอกว่าจะ ‘ไม่กู้’ แต่สุดท้ายประกาศออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อมาใช้ในโครงการดังกล่าว ตรงนี้จะอธิบายอย่างไร เศรษฐา ชี้แจงว่า ก็ต้องอธิบายให้ได้และต้องอธิบายให้เข้าใจ ขอดูทางออกสุดท้ายก่อน
ส่วนเมื่อถามว่า ความเห็นของ ป.ป.ช.แบบนี้ ไม่ได้ทำให้รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนความคิดหรือไม่ เศรษฐา กล่าวว่า ยืนยันทุกความเห็น เราต้องมาคำนึงถึงใหม่หมด
เมื่อถามว่า ยังมั่นใจใช่หรือไม่ว่าจะฝ่าวิกฤตความเห็นต่างตรงนี้ไปได้ และสามารถแจกเงินดิจิทัลได้ เศรษฐา ก็ย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทย เราเองเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีพี่น้องประชาชนให้การสนับสนุน ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่สังคมต้องยอมรับได้ ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารความคาดหวังซึ่งกันและกัน ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและความไม่ก้าวร้าวซึ่งกันและกัน ฉะนั้น ตรงนี้ต้องบริหารกันไป
เมื่อถามว่า รู้สึกเหมือนถูกบีบให้ถอยหรือไม่ เศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ ที่ต้องบริหารจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว
ด้าน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เผยความคืบหน้าการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า จะเป็นช่วงต้นสัปดาห์หน้า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นความลับ แต่รอให้ชัดๆ ก่อน
อ่านเพิ่มเติม : 8 สัญญาณเตือนจาก ‘ป.ป.ช.’ ถึง ‘รัฐบาลเศรษฐา’