SPACEBAR ชวนตั้งคำถามเชิงจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะประเด็น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่แม้จะถูกมองว่าเป็น “พลังงานแห่งอนาคต” แต่กลับมีผลกระทบที่ “ไม่สะอาด” เท่าที่หลายคนเข้าใจ โดยเฉพาะในแง่ของการใช้ทรัพยากร “น้ำจืด” อย่างมหาศาลในการขุดแร่ลิเธียม ซึ่งเป็นวัสดุหลักของแบตเตอรี่ EV

แร่ลิเธียม = พลังแห่งอนาคต?
ในวันที่โลกกำลังเร่งสปีดเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาด “รถยนต์ไฟฟ้า” กลายเป็นทางเลือกแห่งอนาคตที่ใครหลายคนอยากมีไว้ในโรงรถ เพราะทั้งเงียบ ไม่ปล่อยมลพิษ ดูดีมีคลาส ช่วยลดโลกร้อน (หรืออย่างน้อยก็ดูเหมือนจะช่วย...) แต่เบื้องหลังแบตเตอรี่ลิเธียม แร่แห่งอนาคตที่ทำให้รถ EV วิ่งได้อย่างสง่างามบนถนนนั้น กลับซ่อน “ราคาที่ต้องจ่าย” เอาไว้ แถมเป็นราคาไม่ใช่แค่เงิน แต่มันคือ “น้ำจืด” ที่โลกกำลังขาดแคลน รวมถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบกับคนกับสัตว์อีกนับไม่ถ้วน
รู้หรือไม่?…การขุดแร่ลิเธียม 1 ตัน ต้องใช้น้ำจืดราว 500,000 แกลลอน หรือประมาณ 1.8 ล้านลิตร (เทียบเท่าน้ำดื่มขวดเล็กกว่า 3.6 ล้านขวด!) โดยเฉพาะในพื้นที่ Lithium Triangle ซึ่งเป็นแหล่งลิเธียมมากกว่า 56% ของโลก
ทำไมต้องใช้น้ำเยอะขนาดนั้น?
คำตอบที่น่าสนใจอยู่ที่ Lithium Triangle พื้นที่ทะเลเกลือและที่ราบสูงแอนดีสที่ทอดยาวผ่านชิลี โบลิเวีย และอาร์เจนตินา บริเวณนี้คือแหล่งแร่ลิเธียมมากกว่าครึ่งของโลก แต่กลับเป็นเขตแห้งแล้งที่มีฝนตกเพียงปีละ 2–33 มิลลิเมตรต่อปี
“น้ำสำหรับชีวิต” แลกกับ “พลังงานแห่งอนาคต” คุ้มไหม?
บริษัทเหมืองต้องสูบน้ำเกลือจากใต้ดินขึ้นมา แล้วใช้เวลาหลายเดือนเพื่อให้ระเหยจนเหลือแค่แร่ลิเธียมเข้มข้นที่พร้อมสำหรับกระบวนการสกัด ขณะที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่แห้งแล้งรุนแรง มีฝนตกน้อยมาก การใช้น้ำจำนวนมหาศาลจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศท้องถิ่น ชุมชนพื้นเมือง และสัตว์ป่า เช่น ฟลามิงโก้สีชมพู หนูชินชิล่าหางสั้น และอูฐป่าที่เสี่ยงสูญพันธุ์

มีการศึกษาล่าสุดที่ตีแผ่ว่าข้อมูลที่เคยใช้ในการวางแผนเหมืองลิเธียมทั่วโลกอาจผิดพลาดตั้งแต่ต้น โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ (UMass Amherst) ได้เผยแพร่ผลงานในวารสาร Communications Earth & Environment ระบุว่า แบบจำลองน้ำระดับโลกประเมินปริมาณน้ำจืดใน Lithium Triangle สูงกว่าความเป็นจริงถึง 10 เท่า!!
โดยแบบจำลองเดิมคาดว่าฝนตกปีละ 90–230 มม. แต่ผลการวัดจริงพบว่า “มีเพียง 2–33 มม.ต่อปีเท่านั้น”
“ไม่มีน้ำจืดใหม่เติมเข้าระบบเลย ขณะที่มี 27 จาก 28 ลุ่มน้ำที่ศึกษา ถูกจัดว่าอยู่ในสถานะขาดแคลนน้ำอย่างวิกฤติ แม้ยังไม่เริ่มขุดแร่ด้วยซ้ำ”
— ดร.เดวิด บูตต์ ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย กล่าว
เทคโนโลยีใหม่ใช้น้ำมากขึ้นจริงหรือ?
แม้อุตสาหกรรมเหมืองจะเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี Direct Lithium Extraction (DLE) ที่โฆษณาว่าทันสมัยกว่า แต่ทีมวิจัยกลับพบว่า 56% ของ DLE ใช้น้ำมากกว่าวิธีเดิม และเกือบ 1 ใน 3 ใช้น้ำมากกว่าวิธีเดิม ในขณะที่ความต้องการลิเธียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 40 เท่า ในอีก 5-20 ปีข้างหน้า ซึ่งสวนทางกับปริมาณ “น้ำจืด” ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามนั้น
ถ้ารถไฟฟ้าแพร่หลาย...แต่น้ำอันตรธาน?
ทั้งนี้ ทีมวิจัยไม่ได้แนะนำให้ยกเลิกการขุดลิเธียม แต่เรียกร้องให้มีความร่วมมืออย่างเร่งด่วนระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ผลิต เพื่อใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับปรุงการตรวจสอบ การเข้าใจรูปแบบการตกของฝน การไหลของน้ำในลำธาร และระดับน้ำใต้ดิน เพื่อสามารถนำไปสู่วิธีการสกัดที่ยั่งยืนมากขึ้น
แม้การใช้รถไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลดฝุ่น ลดเสียง และให้ภาพลักษณ์โลกสวย แต่ถ้าการผลิตมันต้องแลกกับชีวิตของผู้คน ชุมชนพื้นเมือง สัตว์ และระบบนิเวศ เรายังจะเรียกมันว่า “พลังงานสะอาด” ได้อยู่ไหม?
แล้วเราทำอะไรได้?
- เลือกให้ลึกซึ้งก่อนเปลี่ยนมาใช้ EV อย่ามองแค่ “รถไม่มีควัน” แต่ต้องถามว่าเบื้องหลังของแบตเตอรี่นั้นใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง? ส่งผลต่อใคร?
- สนับสนุนการ “รีไซเคิลแบตเตอรี่” แทนการขุดใหม่
- อย่าหลงกับคำว่า “สีเขียว” เพราะสีเขียวไม่ได้แปลว่ายั่งยืนเสมอไป แต่ต้องตรวจสอบว่าการผลิตพลังงานนั้นเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติหรือสิทธิของคนในพื้นที่หรือไม่
- ใช้พลังงานอย่างมีสติในทุกมิติของชีวิต ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแหล่งพลังงาน แต่ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และการเดินทาง
- ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้น้ำน้อย ใช้น้ำเสียแทนในการสกัดแร่ หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ‘AI’ พบวัตถุดิบใหม่ที่ช่วยลดการใช้ลิเธียมในแบตเตอรี่)
EV ที่สะอาดจริงต้องคลีนตั้งแต่ต้นทาง
ขณะที่การขุดแร่ลิเธียมกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น แบรนด์ EV บางค่ายก็เริ่มปรับตัว อาทิ Renault จับมือ Veolia และ Solvay รีไซเคิลลิเธียม-โคบอลต์จากแบตเตอรี่เก่า, BMW i Series ใช้วัสดุแบตเตอรี่ที่มีลิเธียมและนิกเกิลจากการรีไซเคิล หรือ Tesla ที่เริ่มใช้แบตเตอรี่ที่เริ่มทดลองผลิตจากวัสดุรีไซเคิล
สุดท้าย บทความนี้ไม่ได้บอกให้เราไม่ใช้ EV แต่อยากชวนให้เรา “มองลึก” กว่าภาพจำของพลังงานสะอาด เพราะโลกจะสะอาดไม่ได้ ถ้าเราทำลายกันเองระหว่างทาง การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวจะ “ยั่งยืน” ได้จริงก็ต่อเมื่อเราใส่ใจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ ไม่ใช่แค่ปลายทางบนถนนที่เงียบเชียบและไร้ควัน
...แล้วถ้าวันหนึ่งจำเป็นต้องเลือกระหว่าง “รถไฟฟ้า” กับ “น้ำ” วันนั้นคุณจะเลือกอะไร?