คนชอบกินผักมีเฮ เมื่อมีงานวิจัยใหม่จากฝั่งสหรัฐฯ พบว่าการกินไฟเบอร์ไม่ได้แค่ดีต่อระบบขับถ่าย แต่กำลังกลายเป็น “เครื่องมือธรรมชาติ” ที่ช่วยมนุษยชาติรับมือกับสารพิษที่มองไม่เห็นอย่าง PFAS ได้ด้วย
ผลการศึกษาล่าสุด จัดทำโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน นำโดยศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์ ชเลซิงเกอร์ พบว่า การบริโภคไฟเบอร์ (ใยอาหาร) ในปริมาณที่มากขึ้น อาจช่วยลดระดับของสารเคมีอันตรายที่ตกค้างในร่างกายมนุษย์อย่าง “สารเคมีตลอดกาล” หรือ PFAS (Per and Polyfluoroalkyl Substances) ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยถือเป็นความหวังใหม่ในด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และแนวทางการดูแลร่างกายด้วยวิธีธรรมชาติที่เข้าถึงได้ง่าย และที่สำคัญคือราคาไม่แพง
โดยระบุว่า ไฟเบอร์สามารถช่วยลดระดับของ PFAS สองชนิดที่พบมากที่สุด ได้แก่ PFOS และ PFOA ซึ่งถือเป็นสารเคมีที่มีความเสถียรสูง ย่อยสลายยาก และสามารถสะสมในร่างกายได้นานหลายปี
“เรากำลังอยู่ระหว่างการทดลองเพิ่มเติม แต่ผลลัพธ์เบื้องต้นแสดงแนวโน้มที่น่าพอใจ โดยเฉพาะความเป็นไปได้ในการใช้วิธีธรรมชาติที่ต้นทุนต่ำและเข้าถึงง่าย”
— ศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์ ชเลซิงเกอร์ กล่าว
PFAS: สารเคมีที่ไม่สลายและผลกระทบที่ซ่อนเร้น
สารเคมีอมตะ (PFAS) เป็นกลุ่มสารเคมีกว่า 15,000 ชนิด ที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย เช่น ภาชนะกันน้ำ เสื้อผ้ากันคราบ บรรจุภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เนื่องจากคุณสมบัติทนต่อน้ำ คราบ และไขมัน
อย่างไรก็ตาม ความเสถียรของ PFAS กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากสารเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ ส่งผลให้ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ การวิจัยในระดับนานาชาติยังเชื่อมโยงสารเคมีกลุ่มนี้กับผลกระทบทางสุขภาพหลายประการ เช่น มะเร็ง ความผิดปกติแต่กำเนิด ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง คอเลสเตอรอลสูง และโรคไต
ข้อมูลจากสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ยังระบุว่า แทบทุกคนในสหรัฐฯ มีสาร PFAS ตกค้างในเลือด โดยสารบางชนิด เช่น PFOS และ PFOA อาจมีครึ่งชีวิตในร่างกายมนุษย์นานถึง 5 ปี ซึ่งหมายความว่า ร่างกายอาจใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะขับออกจนหมด

กลไกของใยอาหารต่อการดักจับ PFAS
นักวิจัยอธิบายว่าใยอาหารทำงานโดยการสร้างเจลในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งสามารถขัดขวางการดูดซึมของ PFAS ผ่านผนังลำไส้ กลไกนี้คล้ายกับกระบวนการที่ไฟเบอร์ช่วยดักจับกรดน้ำดีและขับออกทางอุจจาระ
กรดน้ำดีและ PFAS สายยาวมีโครงสร้างคล้ายกัน โดย PFAS สามารถเคลื่อนไปกับกรดน้ำดีสู่ลำไส้ ดังนั้น กลไกของใยอาหารที่ช่วยกำจัดกรดน้ำดี จึงอาจช่วยในการขับ PFAS ออกนอกระบบทางเดินอาหารด้วย
ไฟเบอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำ และไม่ละลายน้ำ รวมถึงเบต้ากลูแคนจากข้าวโอ๊ต ซึ่งควรบริโภคร่วมกับมื้ออาหารเพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด
ผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายและสุขภาพสาธารณะ
แม้ว่างานวิจัยจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก แต่ผลที่ได้เปิดประตูไปสู่การพัฒนากลยุทธ์เชิงป้องกันที่สามารถนำไปใช้ในวงกว้าง ทั้งในระดับบุคคลและระดับนโยบายสาธารณสุข
ที่ผ่านมา มีการทดลองใช้ยาลดคอเลสเตอรอล เช่น Cholestyramine เพื่อช่วยลดระดับ PFAS ในร่างกาย แต่พบว่ามีผลข้างเคียงเรื่องการขับถ่ายมากกว่าไฟเบอร์ธรรมชาติ อีกทั้งการใช้ไฟเบอร์ยังส่งเสริมสุขภาพโดยรวม และสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันที

ผักผลไม้อะไรให้ไฟเบอร์สูง
สำหรับผักผลไม้ที่อุดมด้วยกากใยไฟเบอร์สูง อาทิ
- กลุ่มถั่ว (Nut) เช่น ถั่งแดง ถั่วเขียว ถั่วลิสง เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง
- กลุ่มธัญพืช (Grain) ธัญพืชไม่ขัดสีทุกชนิด ข้าวกล้องดอย ข้าวหอมนิล ข้าวสินเหล็ก
- กลุ่มผัก (Vegetable) แครอท ข้าวโพด บล็อคโคลี ผักโขม
- กลุ่มผลไม้ (Fruit) มะละกอ กล้วย ส้ม แอปเปิ้ล อะโวคาโด ฝรั่ง มะม่วง
ความหวังจากธรรมชาติท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อม
จากสถานการณ์การปนเปื้อน PFAS ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม สนามบิน ฐานทัพ หรือแหล่งน้ำ การศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความหวังที่เรียบง่ายและปลอดภัย ว่าพฤติกรรมการบริโภคสามารถกลายเป็นเครื่องมือช่วยลดผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ
ในขณะที่การควบคุมการใช้ PFAS ในภาคอุตสาหกรรมยังต้องอาศัยมาตรการเชิงกฎหมายและแรงกดดันจากประชาคมโลก การสร้างทางเลือกในการป้องกันที่ต้นทางผ่านอาหารจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถทำควบคู่กันได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในระดับบุคคลและระบบนิเวศโดยรวม
ทั้งนี้ งานวิจัยนี้ตอกย้ำว่า “อาหารเป็นยา” ที่ดีที่สุด และการบริโภคใยอาหารไม่ได้ช่วยแค่ระบบย่อยอาหาร แต่ยังเป็นแนวทางป้องกันมลพิษทางเคมีที่ซับซ้อนได้อีกด้วย
ในสถานการณ์ที่โลกยังไม่สามารถควบคุม PFAS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีธรรมชาติที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่าง “การกินไฟเบอร์” อาจเป็นคำตอบเรียบง่ายแต่ทรงพลัง ในการดูแลสุขภาพของทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม