นักดื่มมีหนาว เมื่อผลการศึกษาล่าสุดจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแห่งยุโรป (Pesticide Action Network Europe: PAN Europe) เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารเคมีชนิดหนึ่งในไวน์ที่สุ่มตรวจในยุโรป โดยพบสารที่มีชื่อว่า “กรดไตรฟลูออโรอะซิติก” (TFA) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสาร PFAS (Per- and polyfluoroalkyl substances) หรือสารเคมีอมตะ ซึ่งมีระดับสูงกว่า 100 เท่าของน้ำดื่มธรรมดา
สำหรับสาร PFAS เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่ไม่สามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้และสะสมในสิ่งแวดล้อมและร่างกายมนุษย์ได้ยาวนาน การวิจัยพบว่าแหล่งที่มาของการปนเปื้อนนี้หลักๆ มาจากการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีสาร PFAS ซึ่งถูกพ่นลงบนไร่องุ่นและซึมเข้าสู่ดินและน้ำใต้ดิน ก่อนจะปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตร เช่น ไวน์
จากการทดสอบไวน์จำนวน 49 ขวดในหลายประเทศของยุโรป พบว่าไวน์ที่ผลิตหลังปี 2010 มีสาร TFA สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะไวน์ที่ผลิตในออสเตรียซึ่งมีระดับ TFA สูงสุดถึง 320 ไมโครกรัมต่อลิตร ขณะที่ไวน์จากโครเอเชียพบระดับต่ำสุดที่ 20 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่ที่น่าสังเกตคือ ไวน์ที่ผลิตก่อนปี 1988 กลับไม่พบสารนี้เลย
ต้องโฟกัสอีกเรื่องคือ แม้แต่ไวน์ที่ติดสลาก “ออร์แกนิก” ซึ่งมีการใช้สารเคมีในการผลิตน้อยกว่า ก็ยังคงพบสาร TFA แต่พบในระดับที่ต่ำกว่าไวน์ทั่วไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแหล่งมลพิษไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้สารเคมีในไร่องุ่นเท่านั้น แต่ยังมาจากสิ่งแวดล้อมโดยรวม เช่น น้ำฝนและน้ำใต้ดินที่มีการปนเปื้อนจากสารเคมีในระบบอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ สาร TFA เป็นสารที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ทำให้มันสะสมในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายมนุษย์ได้นานหลายสิบปี แม้ว่าจะไม่มีการศึกษาที่ชี้ชัดว่า TFA จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ในทันที แต่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า PFAS ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างชัดเจน อาทิ
- รบกวนระบบฮอร์โมน (Endocrine Disruption) ทำให้เกิดความผิดปกติในระดับฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์
- ทำลายระบบสืบพันธุ์ ลดคุณภาพอสุจิ ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์
- เสี่ยงต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ เด็กอาจมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ลดประสิทธิภาพของวัคซีนในเด็ก เด็กที่สัมผัส PFAS มีแนวโน้มตอบสนองต่อวัคซีนได้ต่ำลง
- เพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งไตและมะเร็งอัณฑะ
คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค
การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า PFAS มีอยู่ในไวน์และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลายชนิด นอกจากนี้ยังพบ >> สารเคมีอมตะ ในอาหารที่เรากิน ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่อาจมีการปนเปื้อนของสารเคมี การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ได้รับการรับรองจากองค์กรที่เชื่อถือได้ หรือเลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด ไม่ฟอกเขียว เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีในการลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีที่เป็นอันตราย
ครั้งนี้ไม่เพียงแค่เป็นการเปิดเผยภัยที่อาจแฝงอยู่ในไวน์ แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลกที่เชื่อมโยงกับการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้สหภาพยุโรปพิจารณาการห้ามใช้สารเคมีที่มีส่วนประกอบของ PFAS อย่างถาวร เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากสารเคมีที่สะสมในสิ่งแวดล้อมและอาจมีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว