ปลาการ์ตูนหดตัวรับมือคลื่นความร้อน นักวิจัยชี้เป็นกลไกใหม่ในการปรับตัวต่อโลกร้อน

22 พ.ค. 2568 - 07:53

  • นักวิทยาศาสตร์พบปลาการ์ตูนลดขนาดเพื่อตอบสนองต่อภาวะคลื่นความร้อนในมหาสมุทร

  • ขนาดที่เล็ดลงไม่ใช่แค่การสูญเสียมวลไขมันหรือกล้ามเนื้อ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในระดับโครงสร้างร่างกายเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • สิ่งเล็กๆ อย่าง ‘นีโม’ กำลังส่งสัญญาณว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว และเปลี่ยนมากกว่าที่เราคิด

ภาวะโลกเดือดกำลังสร้างความปั่นป่วนและส่งผลให้โลกรวนมากกว่าที่เราคิด ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบปลาการ์ตูนลดขนาดตัวเพื่อตอบสนองต่อภาวะคลื่นความร้อนในมหาสมุทร ชี้เป็นหนึ่งในรูปแบบการปรับตัวใหม่ของสัตว์ทะเลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

นักวิจัยนานาชาติเปิดเผยผลการศึกษาล่าสุด หลังพบว่าปลาการ์ตูน (Clownfish) หรือที่คนทั่วไปคุ้นเคยจากภาพยนตร์เรื่อง Finding Nemo “ลดขนาดร่างกายลง” เมื่อต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนใต้ทะเล โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนปี 2023 ซึ่งอุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณอ่าวคิมเบ ประเทศปาปัวนิวกินี เพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและระบบนิเวศโดยรอบ

การวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ระบุว่า ในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน ทีมวิจัยได้ติดตามและวัดขนาดปลาการ์ตูนจำนวน 134 ตัวอย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษาพบว่า 101 ตัว หรือประมาณ 75% ของกลุ่มตัวอย่าง มีการ “หดตัว” โดยมีความยาวลดลงหลายมิลลิเมตร ไม่ใช่แค่การสูญเสียมวลไขมันหรือกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในระดับโครงสร้างร่างกาย

“พฤติกรรมนี้อาจเป็นกลไกทางชีววิทยาที่ช่วยให้ปลาการ์ตูนอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่รุนแรง โดยร่างกายขนาดเล็กลงจะต้องการออกซิเจนและอาหารน้อยลง ซึ่งสำคัญมากในช่วงเวลาที่ทรัพยากรในระบบนิเวศมีจำกัด”

ดร.เทเรซา รูเกอร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล สหราชอาณาจักร หนึ่งในผู้ร่วมวิจัย ระบุ

พฤติกรรมใหม่ของสัตว์ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง

แม้ก่อนหน้านี้จะมีรายงานว่าบางสายพันธุ์สัตว์ เช่น อิกัวน่าทะเลในหมู่เกาะกาลาปากอส มีพฤติกรรมลดขนาดตัวในช่วงเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) แต่กรณีของปลาการ์ตูนถือเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกพฤติกรรมดังกล่าวในปลาที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง

nemo-shrinks-as-oceans-heat-up-SPACEBAR-Photo01.jpg
อิกัวน่าทะเลในหมู่เกาะกาลาปากอส มีพฤติกรรมลดขนาดตัวในช่วงเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño)

นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการหดตัวนี้อาจเกี่ยวข้องกับการดูดซึมเนื้อเยื่อไขมันหรือกระดูกกลับเข้าไปในร่างกาย ซึ่งยังต้องได้รับการยืนยันผ่านการศึกษาในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

 “เรารู้สึกประหลาดใจมากเมื่อพบว่าปลาการ์ตูนสามารถลดขนาดตัวได้จริง และสิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่าคือบางคู่ผสมพันธุ์ยังปรับขนาดอย่างสอดคล้องกัน โดยตัวเมียยังคงมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ซึ่งช่วยคงโครงสร้างทางสังคมแบบมีลำดับชั้นของพวกมันเอาไว้ได้”

มอร์แกน เบนเนตต์ สมิธ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าว

การปรับตัวแบบชั่วคราว แต่ยังไม่ใช่คำตอบระยะยาว

ซิโมน ธอร์รอลด์ นักนิเวศวิทยาจากสถาบัน Woods Hole Oceanographic Institution  กล่าวว่า การลดขนาดร่างกายอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สัตว์ทะเลสามารถใช้เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง “สิ่งที่ต้องจับตามองคือ เมื่อคลื่นความร้อนกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้นในอนาคต พฤติกรรมหดตัวนี้จะยังเป็นกลยุทธ์ที่ยั่งยืนหรือไม่” เขาตั้งข้อสังเกต

nemo-shrinks-as-oceans-heat-up-SPACEBAR-Photo02.jpg

ด้านเมลิสสา เฟอร์สตีค นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล กล่าวเสริมว่า การหดตัวของปลาการ์ตูนในช่วงคลื่นความร้อนมีลักษณะ “ชั่วคราว” โดยเมื่ออุณหภูมิน้ำลดลง พวกมันสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการฟื้นตัวและความยืดหยุ่นของระบบนิเวศ

สัญญาณจากปลาการ์ตูนถึงอนาคตของความยั่งยืนทางทะเล

ผลการศึกษาครั้งนี้ไม่เพียงเน้นย้ำถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของธรรมชาติในการปรับตัวในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืน หากแนวโน้มของโลกร้อนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ภาพยนตร์ Finding Nemo เคยนำเสนอการผจญภัยของปลาการ์ตูนตัวเล็กที่พยายามเอาชนะอุปสรรคในมหาสมุทร เรื่องราวในโลกแห่งความจริงของนีโมอาจกำลังเริ่มบทใหม่ บทที่ธรรมชาติจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์