กระทรวงแรงงานภายใต้รัฐมนตรีคนใหม่ ‘พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ’ เปิดฉากขับเคลื่อนนโยบายแรงงานเชิงรุก มุ่งยกระดับศักยภาพแรงงานไทยทุกกลุ่ม พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีและรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่วันแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หลังได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง พร้อมหารือกับผู้บริหารระดับสูง เพื่อมอบนโยบายหลัก 5 ด้านในการขับเคลื่อนภารกิจด้านแรงงาน ทั้งการยกระดับทักษะด้วย AI การปรับโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำ การส่งเสริมเยาวชนทำงานระหว่างเรียน การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ

รมว.แรงงานคนใหม่ย้ำจุดยืนว่า ต้องการเห็นแรงงานไทย ทั้งในระบบและนอกระบบกว่า 20 ล้านคน ‘อยู่ดี-มีงาน-มีรายได้สูงขึ้น’ โดยจะเร่งรัดการดำเนินนโยบายในเชิงรุก สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจและการจ้างงานยุคใหม่ พร้อมทั้งวางเป้าหมายสร้างแรงงานคุณภาพ ที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและตลาดแรงงานโลก
5 นโยบายเร่งด่วน ขับเคลื่อนแรงงานไทย
1. AI เพื่อแรงงานไทย
เดินหน้าใช้เทคโนโลยี AI เป็นเครื่องมือในการเพิ่มทักษะแรงงาน โดยจะเร่งจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ภาคการผลิตและบริการ พร้อมใช้กลไก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฯ กระตุ้นภาคเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาคนไทยให้ทันโลกดิจิทัล
2. แรงงานทุกกลุ่มต้องได้รับความคุ้มครอง
เดินหน้าปฏิรูประบบกฎหมายแรงงานให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบกว่า 21 ล้านคน พร้อมปรับปรุงระบบประกันสังคมให้สอดรับรูปแบบการทำงานใหม่ เช่น แพลตฟอร์มและฟรีแลนซ์
3. Learn to Earn เปิดพื้นที่เยาวชนสร้างรายได้ระหว่างเรียน
สนับสนุนให้เยาวชนอายุ 15–18 ปี สามารถทำงานเสริมอย่างเหมาะสม โดยไม่กระทบต่อสุขภาพและการศึกษา พร้อมประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ และภาคธุรกิจ เพื่อวางมาตรการคุ้มครองและสร้างโอกาสฝึกทักษะในโลกจริง
4. Up-skill & Re-skill แรงงาน เร่งปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับรายได้ให้แก่แรงงานไทย โดยจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวนประมาณ 24 ล้านคน ที่แม้ว่าในช่วงปีนี้ได้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแล้วถึง 2 รอบ ทำให้แรงงานในบางพื้นที่และบางสาขาอาชีพ ได้รับค่าจ้างในอัตราวันละ 400 บาท แต่ก็ยังมีผู้ประกันตนอีก 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานไทย 1.8 ล้านคนที่ยังได้รับค่าจ้างไม่ถึงวันละ 400 บาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแรงงานกว่า 90% มีรายได้เกิน 400 บาท ต่อวันแล้ว
5. จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ป้อนกำลังคนตรงความต้องการ
เตรียมวางแผนการนำเข้าแรงงานจากนอกกลุ่ม CLMV โดยเฉพาะแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรม พร้อมเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ลดแรงงานผิดกฎหมาย และสร้างระบบอนุญาตที่ชัดเจนและเป็นธรรม

พงศ์กวิน ยังกล่าวถึงกรณีแรงงานกัมพูชาทยอยเดินทางกลับประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการผลิตของไทยว่า กระทรวงแรงงานกำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมพิจารณาปรับสัดส่วนแรงงานต่างด้าวให้สมดุล และศึกษาความเป็นไปได้ในการดึงแรงงานจากประเทศอื่น หรือนอกกลุ่ม CLMV เข้ามาเสริมระบบเศรษฐกิจในภาคส่วนที่ขาดแคลน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะเฉพาะ เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
“ภารกิจของกระทรวงแรงงานในยุคนี้ ไม่ใช่แค่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ต้องยกระดับทั้งระบบให้แรงงานไทยมีทักษะที่ตลาดต้องการ และมีรายได้มั่นคงอย่างแท้จริง”
— พงศ์กวิน กล่าวทิ้งท้าย
