ญี่ปุ่นส่งดาวเทียมดวงใหม่ ลุยภารกิจจับตาโลกร้อนอัปเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์

1 ก.ค. 2568 - 04:15

  • “ญี่ปุ่น” ส่ง GOSAT-GW ดาวเทียมดวงใหม่สำรวจโลกร้อน ติดตามก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิน้ำทะเล ความชื้น และแผ่นน้ำแข็ง เสริมความแม่นยำในการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

ญี่ปุ่นส่งดาวเทียมดวงใหม่ ลุยภารกิจจับตาโลกร้อนอัปเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์

ประเทศญี่ปุ่นเดินหน้าปลดล็อกข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ล่าสุด ปล่อยดาวเทียมดวงใหม่ GOSAT-GW ขึ้นสู่วงโคจรเรียบร้อยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการตรวจวัดก๊าซเรือนกระจก และติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเทคโนโลยีการสำรวจจากอวกาศที่มีความแม่นยำสูง

สำหรับจรวด H-2A เที่ยวบินที่ 50 ถูกปล่อยขึ้นจากฐานยิงจรวดโยชิโนบุ ณ ศูนย์อวกาศทาเนะงะชิมะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น พร้อมนำดาวเทียม GOSAT-GW หรือ Global Observing SATellite for Greenhouse gases and Water cycle ขึ้นสู่วงโคจรตามแผนที่วางไว้ โดยดาวเทียมสามารถแยกตัวจากจรวดได้อย่างปลอดภัยภายในเวลาประมาณ 16 นาที

ดาวเทียม GOSAT-GW เป็นดาวเทียมลำดับที่ 3 ในโครงการ GOSAT ที่พัฒนาโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อทำหน้าที่สังเกตการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั่วโลก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน รวมถึงตรวจวัดตัวแปรสำคัญอื่นๆ เช่น อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล ปริมาณไอน้ำ ความชื้นในดิน และน้ำแข็งทะเล ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวโน้มของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศโลก

หนึ่งในเครื่องมือหลักที่ติดตั้งบน GOSAT-GW คือ TANSO-SWIR สเปกโตรมิเตอร์ที่สามารถวัดการดูดกลืนแสงในชั้นบรรยากาศ เพื่อประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแม่นยำสูง อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ตรวจจับแหล่งปล่อยก๊าซขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน และศูนย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการติดตามแหล่งกำเนิดก๊าซแบบเจาะจงมากขึ้น

ข้อมูลจาก GOSAT-GW คาดว่าจะเริ่มเปิดเผยสู่สาธารณะภายใน 1 ปี และจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างแบบจำลองภูมิอากาศระดับโลก การคาดการณ์แนวโน้มภาวะโลกร้อน ไปจนถึงการจัดทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และการลดการปล่อยคาร์บอนของรัฐบาลทั่วโลก โดยหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่จะใช้ข้อมูลนี้คือองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA)

ภารกิจนี้ยังนับเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของจรวด H-2A ซึ่งเป็นจรวดหลักของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2001 โดยมีสถิติปล่อยสำเร็จถึง 49 จาก 50 ครั้ง หรือคิดเป็นความสำเร็จ 98% นับว่าเป็นระบบขนส่งอวกาศที่มีความเสถียรสูงที่สุดระบบหนึ่งในโลก โดยในอดีต H-2A เคยปล่อยยานสำรวจที่สำคัญของญี่ปุ่น เช่น ยานลงจอดดวงจันทร์ SLIM และยานสำรวจดาวเคราะห์น้อย Hayabusa2

เคจิ ซูซูกิ เจ้าหน้าที่อาวุโสจาก Mitsubishi Heavy Industries ซึ่งดูแลการปล่อยจรวดครั้งนี้กล่าวว่า เขารู้สึกโล่งใจและภูมิใจอย่างยิ่งที่ภารกิจสุดท้ายของ H-2A ประสบความสำเร็จ หลังจากอุทิศตนดูแลจรวดลำนี้มาตลอดอาชีพ


“ผมใช้ชีวิตการทำงานทั้งหมดเพื่อไม่ให้จรวด H-2A พัง...สิ่งที่ผมพูดได้คือผมรู้สึกโล่งใจอย่างที่สุด”

เคจิ ซูซูกิ กล่าว

หลังการปลดระวาง H-2A ญี่ปุ่นจะเดินหน้าใช้งานจรวดรุ่นใหม่คือ H3 ซึ่งเริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ปี 2023 โดย H3 ได้รับการออกแบบให้รองรับน้ำหนักบรรทุกมากขึ้น ในขณะที่ลดต้นทุนการปล่อยลงกว่าครึ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอวกาศเชิงพาณิชย์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

แม้การปล่อย H3 ครั้งแรกเมื่อปี 2023 จะล้มเหลว แต่หลังจากนั้นก็สามารถฟื้นตัวด้วยความสำเร็จในการปล่อยติดต่อกัน 4 ครั้ง นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังพัฒนา Epsilon จรวดขนาดเล็กสำหรับภารกิจที่ใช้ต้นทุนต่ำ เพื่อรองรับความต้องการหลากหลายในตลาดอุตสาหกรรมดาวเทียม

ฮิโรชิ ยามาคาวะ ประธาน JAXA กล่าวยืนยันว่า แม้ H-2A จะสิ้นสุดหน้าที่ แต่บทบาทของญี่ปุ่นในภารกิจอวกาศและสิ่งแวดล้อมจะยังคงเดินหน้าต่อไป

การปล่อย GOSAT-GW จึงไม่ใช่แค่ภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ หากแต่เป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงที่ชัดเจนของญี่ปุ่น ในการใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในยุคสมัยนี้ นั่นคือ “วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์