5 ก.ค. 2025 เส้นตายคำทำนายมังงะ ‘แผ่นดินไหว-สึนามิ’ มีโอกาสเกิดแค่ไหน?

4 ก.ค. 2568 - 06:11

  • 5 กรกฎาคม 2025 กำหนดเส้นตาย “แผ่นดินไหว-สึนามิ” มหาภัยพิบัติจากคำทำนายของมังงะกับทัศนะนักวิชาการ และโอกาสความเป็นได้

  • เปิดสาเหตุแผ่นดินไหวถี่ในโทคาระ ญี่ปุ่น ความบังเอิญหรือสัญญาณเตือน?

  • “ร่องลึกนันไก” ภัยที่รอวันปะทุ และแผนรับมืออภิมหาแผ่นดินไหวของประเทศนักคิดโลก

5 ก.ค. 2025 เส้นตายคำทำนายมังงะ ‘แผ่นดินไหว-สึนามิ’ มีโอกาสเกิดแค่ไหน?

สัปดาห์นี้มีกระแสข่าวเขย่าความวิตกกังวลเกี่ยวกับ “แผ่นดินไหวขนาดใหญ่” ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2025 ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ หลังมีการหยิบยกคำทำนายจากมังงะดังเรื่อง “The Future I Saw” (อนาคตที่ฉันเห็น) ผลงานของ เรียว ทัตสึกิ (Ryo Tatsuki) ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 1999 และถูกตีพิมพ์ในรูปแบบรวมเล่มปี 2011 โดยมีข้อความอ้างถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 กรกฎาคม (ในปีที่ไม่มีการระบุชัด)

คำทำนายจากมังงะดังกล่าวถูกนำไปโยงเข้ากับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นถี่ใน “หมู่เกาะโทคาระ” จังหวัดคาโกชิมะ โดยเฉพาะแผ่นดินไหวขนาด 5.5 ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม (เมื่อวานนี้) ยิ่งตอกย้ำความหวาดวิตกในหมู่ประชาชนที่ต้องอพยพไปที่ปลอดภัย แม้ผู้เชี่ยวชาญจะออกมายืนยันว่าเหตุการณ์เหล่านี้ “ไม่มีความเชื่อมโยงกับร่องลึกนันไก” ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นก็ตาม

กระแสความตื่นตระหนกส่งผลให้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด โดยสายการบิน Greater Bay Airlines จากฮ่องกง ต้องปรับลดเที่ยวบินมายังญี่ปุ่นลง 3–4 เที่ยวต่อสัปดาห์ ขณะที่บางเส้นทาง เช่น โทกุชิมะ มียอดจองลดลงถึง 50% รายงานประเมินว่าความวิตกเกี่ยวกับวันที่ 5 กรกฎาคม อาจทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวสูงถึง 5.6 แสนล้านเยน

แผ่นดินไหวถี่ในโทคาระ ความบังเอิญหรือสัญญาณเตือน?

สถิติของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ระบุว่า ช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์ (วันที่ 21 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 2025) หมู่เกาะโทคาระ เกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 1,000 ครั้ง โดยมีระดับแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่ระดับ 1 จนถึงระดับ 6 ตามมาตราวัดของญี่ปุ่น โดยเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เวลาประมาณ 16:13 น. มีความรุนแรงระดับ 5 บนเกาะคุจิโนะเอระ ทำให้เกิดคำสั่งอพยพชั่วคราวจากหมู่บ้านโทชิมะ

แม้จะมีความผิดปกติด้านความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหว แต่นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น เช่น ผศ.ยากิฮาระ ฮิโรชิ จากมหาวิทยาลัยคาโกชิมะ ชี้ว่าแผ่นดินไหวในบริเวณนี้เกิดจากแรงเครียดที่สะสมในรอยเลื่อนท้องถิ่น “ไม่มีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับร่องลึกนันไก” ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์กับยูเรเชียที่อยู่ห่างออกไป และเป็นบริเวณที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต

โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ออกแถลงเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมว่า เหตุการณ์ในโทคาระยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะสงบเมื่อใด พร้อมเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวระดับ 5 ได้ทุกเมื่อ โดยยังยืนยันว่าไม่มีสัญญาณชัดเจนที่บ่งชี้ถึงแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระยะใกล้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาชี้แจงว่า โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จากเหตุการณ์นี้มี “ความเป็นไปได้ต่ำมาก” แม้ว่ากิจกรรมแผ่นดินไหวในหมู่เกาะโทคาระ ช่วงนี้จะรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็ตาม

ญี่ปุ่นตั้งอยู่บนรอยต่อ 3 plate จึงมีแผ่นดินไหวเยอะกว่าประเทศอื่น / ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
ญี่ปุ่นตั้งอยู่บนรอยต่อ 3 plate จึงมีแผ่นดินไหวเยอะกว่าประเทศอื่น / ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

ทำไมญี่ปุ่นแผ่นดินไหวบ่อย?

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า ญี่ปุ่นตั้งอยู่บนรอยต่อของ 3 แผ่นเปลือกโลก ได้แก่ เรเซียน, แปซิฟิก และฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดแรงเคลื่อนไหวใต้พื้นโลกบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือแม้แต่สึนามิ

วงแหวนแห่งไฟ อยู่ตามขอบแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกชนกันแผ่นอื่นๆ
วงแหวนแห่งไฟ อยู่ตามขอบแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกชนกันแผ่นอื่นๆ
ภูเขาไฟที่ยังแอคทีฟในญี่ปุ่นมากกว่า 100 ลูก ทั้งบนบกและในทะเล มีทั่วประเทศ จากโอกินาวาถึงฮอกไกโด สีม่วงคือลูกใหญ่ / ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
ภูเขาไฟที่ยังแอคทีฟในญี่ปุ่นมากกว่า 100 ลูก ทั้งบนบกและในทะเล มีทั่วประเทศ จากโอกินาวาถึงฮอกไกโด สีม่วงคือลูกใหญ่ / ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

ด้วยภูมิประเทศที่ยาวและตั้งอยู่บนขอบแผ่นยูเรเซียนตลอดแนว ประเทศจึงเสี่ยงต่อภัยพิบัติทั่วทั้งพื้นที่ ขณะที่ภูเขาไฟ active ในญี่ปุ่นกว่า 111 ลูก คิดเป็น 10% ของทั้งโลก ทั้งนี้ แผ่นดินไหวบ่อย คือการปลดปล่อยพลังงานของโลก แม้ยังไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่า “เมื่อไร” จะเกิดมหันตภัยใหญ่ แต่ความถี่ที่เพิ่มขึ้นคือสัญญาณให้เตรียมพร้อมเสมอ

ร่องลึกนันไก ภัยที่รอวันปะทุ

สำหรับ “ร่องลึกนันไก” หรือ Nankai Trough คือพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นเฝ้าระวังมากที่สุด มีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 ขึ้นไปหลายครั้งในช่วง 1,400 ปีที่ผ่านมา โดยมีรอบการเกิดอยู่ระหว่าง 100–200 ปี เหตุการณ์ครั้งล่าสุดคือแผ่นดินไหวโชวะ-นันไก เมื่อปี 1946

ข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่น ณ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ความเสี่ยงที่แผ่นดินไหวระดับ 8–9 จะเกิดขึ้นในร่องลึกนันไกภายใน 30 ปีข้างหน้า มีสูงถึง 82% หากเกิดขึ้นจริง อาจมีผู้เสียชีวิตมากถึง 298,000 ราย และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะจาก “สึนามิ” ที่อาจซัดเข้าสู่ชายฝั่งในเวลาเพียงไม่กี่นาทีหลังเกิดแรงสั่นสะเทือน

แผนรับมือ “อภิมหาแผ่นดินไหว” ของญี่ปุ่น

เพื่อรับมือกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น ญี่ปุ่นได้ปรับแผนบรรเทาภัยพิบัติในปี 2025 โดยตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง 80% และลดความเสียหายต่ออาคารลง 50% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมาตรการสำคัญ ได้แก่ การสร้างแนวเขื่อนกั้นคลื่นสึนามิ อาคารอพยพที่ทนทานต่อสึนามิ การฝึกซ้อมอพยพทั่วประเทศที่บ่อยขึ้น การสำรองเสบียงที่จำเป็น และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทนทานต่อแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม แม้มีเป้าหมายที่สูง แต่เจ้าหน้าที่ยอมรับว่ามาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้เพียง 20% เท่านั้น 

ผู้นำย้ำความร่วมมือทุกภาคส่วน

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ แถลงว่า รัฐบาล เอกชน และภาคประชาสังคมต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อปกป้องชีวิตประชาชนจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น โดยเน้นการเตรียมพร้อม การสื่อสารฉุกเฉิน และการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ทางด้านของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้ประกาศเตือนคนไทยที่อาศัยหรือท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้หมู่เกาะโทคาระ ให้ติดตามข่าวสารจากทางการญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

sustainability-manga-doomsday-quake-tsunami-fears-on-july-5-2025-SPACEBAR-Photo01.jpg

คำทำนายไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับ

นักวิชาการไทยหลายรายต่างให้ความเห็นตรงกันว่า คำทำนายในมังงะ “ไม่อาจใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้” เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดสามารถพยากรณ์วันและเวลาของแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีระบบตรวจจับและเตือนภัยแผ่นดินไหวที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ก็สามารถแจ้งเตือนได้เพียงไม่กี่วินาทีก่อนแรงสั่นสะเทือนถึงพื้นผิว

ผศ.ดร.ธรณ์ อธิบายว่าข่าวแผ่นดินไหวรัวๆ ในญี่ปุ่น เป็นสัญญาณเตือนว่าแผ่นเปลือกโลกกำลังปลดปล่อยพลังงาน มีแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดเป็นระยะ แต่จะเกิดระดับรุนแรงหรือไม่ คงไม่มีใครบอกได้ (ที่ตื่นเต้นกันคือการ์ตูน)

ทางด้าน อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย ยืนยันว่าข่าวลือว่าจะเกิดสึนามิในวันที่ 5 กรกฎาคม “ไม่เป็นความจริง” เพราะไม่มีนักวิทยาศาสตร์ทำนายการเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ ยิ่งแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดสึนามิ ยิ่งทำนายไม่ได้ โดยสึนามิทั่วไป หากเกิดที่รอยเลื่อนที่หมู่เกาะนิโคบาร์เหมือนครั้งก่อน จะสูงสุดได้ประมาณ 10-20 เมตร ไม่ใช่ 200 เมตรตามที่อ้างกัน ส่วนเรื่องทำนายว่าจะเกิดในวันที่ 5 กรกฎาคม น่าจะเอามาจากนักเขียนการ์ตูนที่เขียนทำนายไว้ที่ญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อถือไม่ได้

ทั้งนี้ มีการเตือนว่าการเผยแพร่คำทำนายโดยไม่มีหลักฐานรองรับ อาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น พร้อมแนะนำให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร และให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเป็นลำดับแรก

ท้ายที่สุด แม้คำทำนายจะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ แต่สิ่งที่สะท้อนจากกระแสวิตกคือ “ความเปราะบางของมนุษย์ต่อภัยธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมได้” ในโลกที่อุณหภูมิสูงขึ้น ความถี่ของแผ่นดินไหว ภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงของระบบโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จึงไม่ใช่เพียงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่คือการสร้างความพร้อมของสังคมในการรับมือความไม่แน่นอน ปลูกฝังวัฒนธรรมการเฝ้าระวังแทนความตื่นตระหนก และลงทุนในระบบเตือนภัยที่ยึดโยงกับความรู้และความยืดหยุ่นของชุมชนอย่างแท้จริง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์