'ทรัมป์' คงอัตราภาษีนำเข้าไทยร้อยละ 36 สูงสุดในอาเซียน ผลกระทบทางเศรษฐกิจและแรงงาน

8 ก.ค. 2568 - 11:37

  • ภาษีนำเข้า 36%: ไทยหนักสุดในอาเซียน

  • แรงงาน 18 ล้านคนเสี่ยง! ส่งออกทรุด ตลาดสหรัฐฯ หาย

  • ถ้าไม่ดีลทัน 1 ส.ค. = NPL พุ่ง–เศรษฐกิจโตไม่ถึง 1%

'ทรัมป์' คงอัตราภาษีนำเข้าไทยร้อยละ 36 สูงสุดในอาเซียน ผลกระทบทางเศรษฐกิจและแรงงาน

ล่าสุดคืนวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศอัตราภาษีนำเข้ากับประเทศได้เปรียบดุลการค้าและไม่เอื้อเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์หรือ “Reciprocal Tariff” ซึ่งไทยติดอยู่ใน 1 ใน 14 ประเทศซึ่งติดโผลชุดแรกที่ได้รับเอกสาร อัตราเรียกเก็บของไทยอยู่ที่ร้อยละ 36 หากไม่นับประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา เป็นอัตราสูงสุดในอาเซียนและใน 14 ประเทศดังกล่าว การออกเอกสารแจ้งอัตราภาษีหลังจากที่สหรัฐฯ ผ่อนปรนอัตราร้อยละ 10 ซึ่งครบกำหนด 90 วัน เป็นคำถามว่าทำไมประเทศไทยจึงถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บอัตราภาษีสูงกว่าทุกประเทศ

ในเอกสารหรือจดหมายที่ทรัมป์ส่งไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้ลงนามด้วยตัวเองมีข้อความบางส่วนระบุว่า “เป็นการนำอำนาจอธิบไตยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับคืนมาด้วยการจัดการกับความสัมพันธ์ทางการค้าที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งคุกคามเศรษฐกิจของประเทศตลอดจนความมั่นคงของชาติ” จะเห็นได้ว่าข้อความไม่ได้แสดงอาการประนีประนอมทางการทูตแต่อย่างใด มาตรการภาษี “Reciprocal Tariff” คือผลประโยชน์ของสหรัฐฯ สำคัญที่สุด เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการผลักดันนโยบาย “The America First” เป็นวลีหรือแนวคิดที่เน้นย้ำถึงแนวคิดที่ว่าผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาควรมาก่อน แนวคิดนี้มีความหมายถึงชาตินิยมอเมริกัน เน้นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและเกี่ยวข้องกับนโยบายการค้าแบบคุ้มครอง

ที่พึงเข้าใจการเจรจากับทีมงานของปธน.ทรัมป์ ไม่ใช่ลักษณะการเจรจาต่อรองแบบมีแผนในลักษณะ “Win/Win Situation Negotiate” คือต่างคนต่างได้แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่อกันแต่การเจรจากับสหรัฐฯ ด้วยปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เหนือกว่าเขาไม่ต้องการต่อรองแต่เพียงให้เราไปบอกว่าจะให้อะไรมากที่สุดและเขาพอใจไหมคือคู่เจรจามีแต่ Lost & Loss ตอนที่ทีมไทยแลนด์ก่อนบินไปเจรจากับทรัมป์บอกว่าต้องการผลแบบ Win/Win ก็สังหรณ์ใจแล้วว่าการเจรจาจบคงไม่สวย นอกจากนี้อัตราภาษีที่ไทยถูกเก็บร้อยละ 36 ยังถูกทรัมป์ขู่ว่าหากไทยขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราใดก็จะจัดเก็บภาษีเพิ่มเข้าไปอีกในสัดส่วนที่เท่ากัน แต่ยังให้ความหวังว่าอัตราภาษีดังกล่าวสามารถลดได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ต้องจบก่อนเส้นตาย (1 สิงหาคม 68)

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและแรงงาน

ฉากทัศน์ไทยเป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกมีสัดส่วนใน GDP ในประมาณร้อยละ 57 ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสัดส่วนอันดับหนึ่ง ปีพ.ศ. 2567 มีสัดส่วนร้อยละ 18.30 อัตราการขยายตัวร้อยละ 13.66 ในช่วง 5 เดือนแรกปีพ.ศ. 2568 (ม.ค. - พ.ค.) สัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 19.61 อัตราการขยายตัวกระโดดไปถึงร้อยละ 27.2 มูลค่า 27,098.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีที่แล้ว 5,795.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นผลจากการเร่งส่งออกให้ทันดีเดย์ซึ่งขยายเวลา 90 วันจะจัดเก็บอัตราภาษีใหม่ซึ่งผู้นำเข้าสหรัฐฯ คาดการณ์ไม่ได้จึงเร่งการนำเข้า อัตราภาษีร้อยละ 36 ที่ไทยถูกเรียกเก็บเกินความคาดหมายและเป็น “Worst-Case Scenario” เพราะคิดว่าอย่างเก่งอาจต่อรองได้เหลือร้อยละ 20 – 25%

ต้องเข้าใจว่าภาคส่งออกของไทยเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ โซ่อุปทานมีขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน อาทิเช่น อุตสาหกรรมในประเทศที่ขายให้กับผู้ส่งออก ได้แก่ วัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป อะไหล่เครื่องจักร วัสดุสิ้นเปลืองในการผลิต ภาคการส่งออกยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการ เช่น โลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านเดินเรือ เครื่องบิน รถบรรทุก ศูนย์กระจายสินค้าตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่อง ลัง พาเลท นอกจากนี้ภาคส่งออกยังเชื่อมโยง อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรตลอดจนผลิตภัณฑ์จากภาคเกษตรกรรม เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ประมง ปศุสัตว์

จากที่กล่าวภาคการส่งออกและโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงานโดยมีการประมาณการเบื้องต้นว่ามีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 18 – 20 ล้านคน หากอัตราภาษีนำเข้าไปตลาดสหรัฐฯ ที่ไทยถูกเรียกเก็บสูงกว่าประเทศคู่แข่งสูงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซียจะมีผลอย่างมากต่อ
การลดลงทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ผลที่ตามมาคือการลดกำลังการผลิตซึ่งจะมีผลต่อแรงงานส่วนเกินทั้งทางตรงและทางอ้อมที่อาจต้องสูญเสียตำแหน่งงานและ/หรืออาชีพ ผลกระทบขึ้นอยู่กับว่าแรงงานเหล่านั้นทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมหรือภาคบริการที่ต้องพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนเท่าใดยิ่งสัดส่วนมากผลกระทบก็ยิ่งสูง ตัวอย่างภาคส่วนที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ เช่น

1) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

2) ผลิตภัณฑ์ยาง

3) อัญมณีและเครื่องประดับ

4) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

5) เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์และส่วนประกอบอื่นๆ

6) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

7) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

8) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ-ทรานซิสเตอร์

9) เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก

10) ผลิตภัณฑ์พลาสติก

11) อาหารสัตว์

12) อาหารทะเล/ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ฯลฯ

ปฏิเสธไม่ได้ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของไทย ผลจากที่ปธน.ทรัมป์คงภาษีนำเข้า “Reciprocal Tariff” ในอัตราร้อยละ 36 สูงสุดในอาเซียน หากไม่สามารถมีข้อเสนอหรือดีลใหม่ๆ ให้ปธน.ทรัมป์สนใจและลดภาษีให้ใกล้เคียงหรือเท่ากับเวียดนามจะส่งผลกระทบกับภาคส่วนเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากภาคส่งออกมีโซ่อุปทานขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน อัตราภาษีในระดับนี้สูงกว่าประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะประเทศเวียดนามซึ่งอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 20 ส่งผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันด้านราคาลดลงหรือแข่งไม่ได้ ภายใต้ภาวะเช่นนี้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะมีการปรับพอร์ตแหล่งนำเข้าใหม่ซึ่งคาดว่าคำสั่งซื้อจะเริ่มลดลงในช่วงเดือนกันยายน อุตสาหกรรมและภาคบริการอย่างน้อย 1 ใน 5 จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การผลิตที่ลดลงมีผลต่อการใช้แรงงานลดลงแต่จำนวนเท่าใดในขณะนี้ยังประเมินไม่ได้

ภาคแรงงานที่อยู่ในภาคส่งออกและโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบเป็นทั้งผู้ผลิตขณะเดียวกันเป็นผู้บริโภค ครัวเรือนแรงงานจึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดของประเทศส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่จะลดลงกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงภาคค้าส่ง-ค้าปลีกและการซื้อสินค้าประเภทถาวร เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ยานพาหนะหรืออสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะได้รับผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน ยอดขายที่หดตัวนำมาซึ่งปัญหาสภาพคล่องในภาคธุรกิจ การเลิกจ้างต่อยอดไปถึงหนี้เสียหรือ NPL ของสถาบันการเงิน ทีมเจรจาหรือ “Thailand Team” คงต้องมีงานหนักในช่วงเวลาที่เหลือไม่มากอย่าเพียงบอกวลีว่า “เสนอไปแล้ว” แต่ไม่รู้ว่าทรัมป์จะดูหรือไม่ดูจำเป็นต้องมีการล็อบบี้ให้ทรัมป์มีการลดภาษีลงมาให้ใกล้เคียงกับเวียดนามแต่วิธีการอย่างไรคงไม่ง่าย

ในเวลาเช่นนี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องประเมินว่าเศรษฐกิจไทยภายใต้ภาษีโหดแบบนี้จะรับมืออย่างไรและประเมินว่าหากส่งออกไปสหรัฐฯ หายไปครึ่งหนึ่งผลกระทบจะเป็นอย่างไรโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคแรงงาน สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจภาคเอกชนประเมินว่าหากภาษีของทรัมป์อยู่ในระดับนี้เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ร้อยละ 1 หรือต่ำกว่า ในระยะกลางการลงทุนจะลดลงยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อ่อนแอเป็นทุนอยู่แล้ว ขณะที่รัฐบาลอยู่ในช่วงขาดความเชื่อมั่นและขาดเสถียรภาพทางการเมืองทำให้ความทุ่มเทในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอ่อนแอ ภายใต้สภาวการณ์ที่ไม่เอื้อและมีความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของธุรกิจ ภาคเอกชนทั้งนายจ้างและลูกจ้างคงต้องจับมือกันจะเดินกันไปอย่างไรคงต้องรับมือกันให้ดี บอกได้เลยว่า ... รอบนี้หนัก

บทความพิเศษ : โดย ดร.ธนิต  โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์