ธาริษา ส่งสัญญาณแรง! เตือนอย่าเลือกผู้ว่าฯ ธปท. สั่งได้

8 ก.ค. 2568 - 08:49

  • ดร.ธาริษา ส่งจดหมายเปิดผนึกเตือน รมว.คลัง

  • ชี้อย่าเลือกผู้ว่าฯ ธปท. ที่ขาดอิสระจากการเมือง

  • หวั่นกระทบเชื่อมั่นทั้งระบบ

ธาริษา ส่งสัญญาณแรง! เตือนอย่าเลือกผู้ว่าฯ ธปท. สั่งได้

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์เกี่ยวกับการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเสนอชื่อ ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อแสดงความห่วงใยต่อแนวโน้มการตัดสินใจที่อาจกระทบต่อหลักการสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะหลัก “ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” (Central Bank Independence)

ในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ซึ่งสะท้อนความกังวลจากผู้มีประสบการณ์ตรงในการบริหารนโยบายการเงินระดับประเทศ ระบุว่า

“ขณะนี้ท่านมีรายชื่อแคนดิเดตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ในมือสองคน อยู่ที่ท่านว่าจะเสนอใครต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป เรื่องความเหมาะสมมีการพูดกันมากแล้ว ดิฉันใคร่ขอเตือนสติท่านเพียงประเด็นเดียวว่า...”

คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้ว่าการธนาคารกลางคือ การทำนโยบายอย่างเป็นอิสระจากการเมือง หรือที่เราเรียกว่า Central Bank Independence ซึ่งเป็นสิ่งที่จะธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือในการทำนโยบายของธนาคารกลาง และมีผลพวงถึงความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศด้วย ไม่ได้หมายความว่าธนาคารกลางและรัฐบาลจะต้องขัดแย้งกัน ทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายของการทำนโยบายระยะสั้นยาวไม่เท่ากัน...

ใจความสำคัญของจดหมาย ชี้ให้เห็นว่าการเลือกบุคคลซึ่งเคยทำงานในธนาคารของรัฐ และคุ้นชินกับการสนองนโยบายของรัฐบาล อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อ ‘ความเป็นอิสระ’ ของธนาคารกลาง ซึ่งถือเป็นรากฐานของความน่าเชื่อถือทั้งในด้านนโยบายการเงินและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ

ดร.ธาริษา ยกตัวอย่างกรณีของประเทศตุรกี ภายใต้การนำของประธานาธิบดีแอร์โดอัน ซึ่งการแทรกแซงธนาคารกลางอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทั้งเงินเฟ้อสูง ค่าเงินอ่อน และความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจทรุดตัว

เตือน! อย่าเลือกผู้ว่าฯ ที่เคยชินกับการ ‘รับคำสั่ง’

“...ตรงกันข้าม ผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจคุ้นเคยกับการรับนโยบายของรัฐบาลไปทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อเกิดความเสียหาย รัฐบาลก็ต้องชดเชยให้... ซึ่งต่างจากกรณีขององค์กรเช่น ธปท. อย่างมาก เพราะถ้าเกิดความเสียหายคือความเสียหายของประเทศชาติ”

เนื้อหาในจดหมายยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการถ่วงดุลเชิงนโยบายระยะยาว ซึ่งธนาคารกลางมีบทบาทเป็น “กลไกคานอำนาจ” ไม่ให้ประเทศดำเนินแต่นโยบายระยะสั้นแบบประชานิยมที่อาจให้ผลเสียในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงถึง 87.5% การเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ หรือความเสี่ยงจากมาตรการภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทย

“...ดิฉันหวังว่าท่านจะไม่ทำให้ความน่าเชื่อถือต่อธนาคารกลางเสื่อมถอยไปอีกสถาบันหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ความเชื่อมั่นต่อประเทศชาติหดหายไปมากยิ่งขึ้นอีก”

จดหมายฉบับนี้ของอดีตผู้ว่าการ ธปท. ไม่เพียงเป็นการสะท้อนมุมมองจากคนในระบบ แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนถึงผลกระทบเชิงโครงสร้าง หากการตัดสินใจในระดับนโยบายสูงสุดละเลยหลักการสำคัญที่ธนาคารกลางทั่วโลกยึดถือมาโดยตลอด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์