#หมอลาออก (3): แก้ที่ ‘คน’ หรือ ‘ระบบ’ ในวันที่ Work ไร้ Balance

5 ก.ค. 2566 - 04:03

  • นโยบายที่มุ่งเน้น ‘ผลิต’ แพทย์จำนวนมากยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด หากไม่แก้ไขตัวระบบราชการ ระบบอาวุโส และวัฒนธรรมการทำงานที่บั่นทอนจิตใจ

TAGCOUD-the-great-resignation-of-intern-doctors-is-just-the-tip-of-the-iceberg-3-SPACEBAR-Thumbnail
แม้ดราม่า #หมอลาออก ประเด็นร้อนเมื่อต้นเดือนมิถุนายน จะถูกกระแสการเมืองเรื่อง ‘ประธานสภาฯ’ และ ‘เลือกนายกฯ’ กลบ แต่ปัญหาการทำงานในวงการแพทย์ไทยยังคงอยู่ 

หมออินเทิร์นบางส่วนยังคงทำงานนอกเวลาหรือ ‘อยู่เวร’ อย่างน้อย 16 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 960 นาที ซึ่งเป็นตัวเลขชั่วโมงการทำงานที่ทารุณ เมื่อเทียบกับอาชีพทั่วไปที่ทำงานประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน 

บทความที่แล้ว #หมอลาออก (2): เสียงสะท้อนจากอินเทิร์น ไม่อดทนหรือการทำงานไม่เป็นธรรม? เราได้พูดคุยกับอดีตหมออินเทิร์นที่ปัจจุบันเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ 2 ในโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดสงขลา ที่พาเราดำไปสำรวจปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็ง #หมอลาออก มาถึงตอนนี้เราจะไปดูกันว่า ‘ทางออก’ ของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีหรือไม่ ถ้ามีควรแก้อย่างไร 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5Ss6YVPlt5Mwbyco64v6DC/7e5e14eaa0ea7a9e734b03442d82b641/TAGCOUD-the-great-resignation-of-intern-doctors-is-just-the-tip-of-the-iceberg-3-SPACEBAR-Photo01
Photo: ถ้าคุณเป็นหมออินเทิร์นแล้วต้องเผชิญกับการทำงาน 16 ชั่วโมงต่อวัน จะเลือกทำ ลาออก หรือมีทางออกที่ดีกว่านี้ไหม?
คราวนี้ นอกจากแพทย์ที่เคยเป็นอดีตหมออินเทิร์น เราได้ชวนอาจารย์แพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์มาร่วมกันมองทางออกเพื่อหาทางให้หมอ (ไม่) ลาออก 

หมอลาออก: แก้ที่คนหรือระบบ?

แพทยสภาเผยข้อมูลว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ที่ active หรือยังติดต่อได้ 66,685 คน แต่เกือบครึ่งหนึ่งกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 32,198 คน ที่เหลืออีก 34,487 คนทำงานในต่างจังหวัด ทำให้โรงพยาบาลระดับจังหวัดและชุมชนมีแพทย์ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทาง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1X8OODbtiY9tLTdyzJ9s37/b3db1267d005d09b461c81398a40897c/infoTAGCOUD-the-great-resignation-of-intern-doctors-is-just-the-tip-of-the-iceberg-3
อย่างไรก็ตามนโยบายที่มุ่งเน้น ‘ผลิต’ แพทย์จำนวนมากยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหานี้ หากไม่มีการแก้ไขตัวระบบราชการ ระบบอาวุโส และวัฒนธรรมการทำงานที่บั่นทอนจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ ต่อให้ผลิตแพทย์ออกมามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแพทย์ออกจากระบบของรัฐ เพราะรูรั่วที่ไม่เคยได้รับการสมาน 

“เขาแค่แก้ปัญหาหมอขาดแคลนด้วยการเพิ่มจำนวนแพทย์ แต่มองข้ามกระบวนการระหว่างนั้นไป ถ้าแพทย์ที่เพิ่มมาใหม่ได้รับสวัสดิการที่ดี การปฏิบัติที่ดี เขาก็จะไม่ลาออกไปทำงานเอกชน หมอทั่วประเทศไม่ได้ขาดแคลน แต่หมอในระบบโรงพยาบาลรัฐมันขาดแคลน คนเลือกไปทำงานเอกชนเพราะมีสวัสดิการดีกว่า เงินเดือนก็ดีกว่าด้วย” 

“เราควรจะมี work-life balance เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ในกลุ่มสหวิชาชีพแพทย์และพยาบาล ทุกคนยอมทำงานหนัก และเสียสละค่อนข้างมาก แต่เราไม่จำเป็นต้องทำงานหนักจนเสียสุขภาพกายและใจไปขนาดนั้น เราควรมีเวลาพักผ่อนเหมือนกับคนทั่วไปบ้าง เพราะเราไม่ใช่หุ่นยนต์ เรารู้สึกว่าทำงานเหมือนหุ่นยนต์มาตลอด” 

นอกจากเรื่องการพักผ่อนแล้ว เธอมองว่าควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของแพทย์อีกด้วย เช่น หอพักแพทย์บางแห่งอยู่ติดกับหอผู้ป่วย แต่ประตูเสีย ล็อกไม่ได้ ทำให้แพทย์รู้สึกไม่ปลอดภัย แม้จะแจ้งไปยังอาจารย์แพทย์แล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณที่ต้องดำเนินเรื่องนาน รอเบิกงบปีหน้า ทำให้ไม่สามารถปรับปรุงหอพักแพทย์ได้

ช่องว่างระหว่างเจนฯ เมื่อค่านิยมและคุณค่าของการทำงานเปลี่ยนไป

“เราเคยเชื่อค่านิยมที่ว่าหมอเป็นอาชีพที่มั่นคง เงินเดือนดี พอได้เป็นหมอจริงๆ เงินเดือนที่ดีก็ต้องแลกกับชั่วโมงนอน และการทำงานที่ขาดความเป็นส่วนตัว ยุคนี้เราคิดว่าอาชีพอื่นๆ มีเวลาพักผ่อนมากกว่าและได้เงินเดือนใกล้เคียงกัน เทรนด์มันน่าจะเปลี่ยนไปแล้ว” 

เอ (นามสมมติ) แพทย์อินเทิร์น 2 มองว่าโซเชียลมีเดียมีผลต่อการทำงานและความปลอดภัยของแพทย์เช่นกัน เธอเล่าว่ามีบางเคสที่ถ่ายคลิปวิดีโอหรือภาพตอนรักษา แล้วนำไปลงในโซเชียลมีเดีย ทำให้คนเหมารวมว่าหมอทุกคนเป็นเหมือนกัน บางคนไม่ให้เกียรติหมอ คุณหมอบางคนถูกนำไปโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่ารักษาไม่ดี เพราะเปิดอินเทอร์เน็ตค้นหาข้อมูล 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/wpY1VmtUzUMy607cdSuAE/df5d5b4c615b6a9514075f6ec35d4130/TAGCOUD-the-great-resignation-of-intern-doctors-is-just-the-tip-of-the-iceberg-3-SPACEBAR-Photo02
Photo: ‘หมอ’ อาชีพที่มีค่านิยมว่า รายได้ดี มั่นคง แต่ก็ต้องแลกมากับชั่วโมงการนอน และการทำงานที่ขาดความเป็นส่วนตัว
“จริงๆ มันมีข้อบังคับห้ามถ่ายรูปหรือบันทึกภาพและเสียงขณะการรักษาด้วยซ้ำ แต่คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้ บางคนด่าหมอลงในโซเชียลฯ แล้วก็ลบโพสต์ มาขอโทษ เราควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน และเคารพสิทธิกันดีกว่า” 

ด้านอาจารย์แพทย์จากโรงพยาบาลในหาดใหญ่ได้ให้ความคิดเห็นต่อประเด็นโซเชียลมีเดียว่า เมื่อก่อนคนไข้ที่มีอาการไม่หนัก พยาบาลจะช่วยดูแลรักษาเบื้องต้น เพื่อให้แพทย์เคลียร์เคสผู้ป่วยกะดึกให้เรียบร้อยก่อน แล้วเข้ามาดูคนไข้ในวอร์ด 

แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียแสดงความคิดเห็นต่างๆ ถ่ายรูป หรือไลฟ์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบุคลากรทางการแพทย์ คนไข้ต้องการให้หมอตรวจเท่านั้น ภาระงานจึงตกอยู่กับแพทย์ไปโดยปริยาย 

อาจารย์แพทย์ท่านนี้เคยเป็นหมออินเทิร์นในโรงพยาบาลจังหวัดปัตตานี ด้วยประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลรัฐมานาน จึงมองว่าความท้าทายที่คนรุ่นนี้ต้องรับมือคือ แรงกดดันและความคาดหวังจากสังคมที่เพิ่มมากขึ้น โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการทำงานของแพทย์อย่างเห็นได้ชัด เช่น คนไข้โพสต์บ่นไม่พอใจการทำงานของหมอ 

“หลังเรียนจบปีที่ 6 หมอทุกคนต้องผ่านอินเทิร์น ถ้าไม่มีใบรับรองการเพิ่มพูนทักษะ เขาจะไปเปิดคลินิกไม่ได้ มันเป็นไฟลต์บังคับที่หมอทุกคนจะต้องเจอ บางส่วนเลือกที่จะไม่อยู่ในระบบรัฐ และไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนแทน เรียนคอร์สสั้นเกี่ยวกับโรคผิวหนัง และเปิดคลินิกความงาม ถ้าบ้านมีฐานะ ก็จะไปเรียนต่อต่างประเทศ คนที่ลาออกไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะเรียนจบแพทย์เฉพาะทาง และเหนื่อยกับงานโรงพยาบาลรัฐ จากที่ต้องตรวจคนไข้เป็นร้อยๆ ก็เหลือวันละ 5-10 คน และได้เงินมากกว่า 3 เท่า” 

แวดวงการแพทย์ยังประสบปัญหาเรื่องวัฒนธรรมการทำงานที่ยึดถือระบบอาวุโส บางรายโยนภาระหน้าที่ให้อินเทิร์นดูแล แล้วไปทำงานส่วนตัวที่เพิ่มรายได้ ปัญหาที่สั่งสมทับซ้อนจึงยากจะแก้ไขในเร็ววัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6m6jGizGL5k9Bke1vUHNnv/f37a8a32aa09ce9e82d966228ee50c42/TAGCOUD-the-great-resignation-of-intern-doctors-is-just-the-tip-of-the-iceberg-3-SPACEBAR-Photo03
Photo: แพทย์หลายคนออกจากระบบรัฐไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน เพราะงานเบากว่า รายได้มากกว่า 3 เท่า
“อินเทิร์นเหมือนกับ Barrier ของทุกอย่าง ปีแรกของการฝึกงานเป็นปีแรกที่เขาจะต้องรับผิดชอบความเป็นความตายอย่างแท้จริง สามารถสั่งยาและตัดสินใจได้ ดังนั้นเขาต้องรับผิดชอบทุกออเดอร์ของตัวเอง บางคนเพิ่งจบ ยังไม่มีประสบการณ์ ขอคำปรึกษาจากอาจารย์ยาก เขาไม่ช่วย แถมทำให้น้องทุกข์และเศร้ามากขึ้น บางคนถูกผลักให้เป็นผู้ใหญ่ทันทีที่อยู่โรงพยาบาลอำเภอ ขณะเดียวกันก็มีบางคนที่มั่นใจในตัวเองเกินไป ไม่ยอมปรึกษา เก็บเคสคนไข้ไว้ ก็จะถูกอาจารย์แพทย์ด่า นั่นคือคนรุ่นก่อนที่มีอายุเยอะ (มากกว่า 40 ปี) ไม่ได้มองว่าอินเทิร์นเป็นลูกศิษย์หรือรุ่นน้องที่ต้องช่วย ส่วนคนรุ่นเราจะได้รับการอบรมเรื่องการฟีดแบ็กอย่างสร้างสรรค์ ทั้งสอนและแนะนำน้องๆ ด้วย” 

ที่สำคัญไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้ยึดติดกับการทำงานราชการเพื่อความมั่นคง แต่ให้ความสำคัญกับ work-life balance อย่างจริงจัง และมีเส้นทางอาชีพให้เลือกหลากหลาย จึงมีแนวโน้มที่จะลาออกจากระบบของภาครัฐและจ่ายเงินใช้ทุนการศึกษาแทน 

ทางออกที่ต้องพยายามร่วมกัน

“ทุกๆ ปีเราจะจัดประชุมผู้ดูแลอินเทิร์น แต่เรื่องสตาฟฟ์อาวุโสบางคนมันเป็นเรื่องที่แก้ไม่ได้ มนุษย์มี 2 ประเภท คือ คนที่เราพูดกับเขาได้ พร้อมรับฟังและปรับปรุง กับประเภทที่พูดด้วยไม่ได้ เราก็พยายามแก้ในส่วนที่ทำได้ สมัยที่เป็นอินเทิร์นเคยถูกหมอปิดห้องเพื่อด่า แต่เพื่อนๆ จะช่วยเหลือกัน ทำให้ผ่านช่วงเวลาที่เหนื่อยยากไปได้ แต่คนรุ่นนี้เน้นทำงานหนักแบบ work hard, play hard อยากไปเที่ยวต่างประเทศ มันเป็นวิธีคิดของคนแต่ละรุ่นที่ไม่เหมือนกัน 

“สตาฟฟ์บางแผนกจะเดินตรวจคนไข้รอบเดียว ที่เหลือปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของอินเทิร์นทั้งหมด ทำให้น้องๆ ต้องเจองานหนัก เมื่อก่อนเราจะใช้วิธีการทำงานเป็นทีม ถ้าทีมดี เราก็จะช่วยกันแก้ปัญหาได้ แต่พอเกิดโควิด คนตกงานและมาโรงพยาบาลรัฐมากขึ้น เพราะมันไม่มีที่อื่นที่จะรองรับคนกลุ่มนี้แล้ว ตอนนี้คนไข้เยอะทั้งวันทั้งคืน ต่อให้เพิ่มอินเทิร์น ก็ยังมีจุดรั่วเสมอ” 

นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนเล็กๆ จากบุคลากรทางการแพทย์ต่างวัย ต่างมุมมองความคิด พยายามถ่ายทอดออกมา พร้อมกับความหวังว่าแพทย์รุ่นต่อๆ ไปจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาลักษณะนี้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจในการช่วยเหลือและรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์