เสี่ยงไปมั้ย? ถ้ารถไฟไม่มี ‘ตำรวจ’

21 ต.ค. 2566 - 04:55

  • ชีวิต ‘ปชช.’กำลังเสี่ยง? ชวนวิพากษ์เรื่องนี้กับ ‘ประภัสร์ จงสงวน’ อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ย้ำว่ารถไฟต้องมีตำรวจ ไม่มีไม่ได้ เพราะหากเจ้าหน้าที่ไม่มีความพร้อมเหมือนเอาชีวิตประชาชนไปเสี่ยง

  • ย้อนสถิติผลงาน ‘ตำรวจรถไฟ’ พบจับผู้ต้องตามหมายจับ ได้เกือบ 1,000 รายต่อปี ยึดเสพติด สกัดแรงงานเถื่อนเพียบ

former-srt-governor-emphasizes-that-trains-must-have-police-SPACEBAR-Hero.jpg

รู้หรือไม่?

‘30 ล้านคน’ คือตัวเลขคร่าวๆ ของจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟไทยใน 1 ปี สถานีรถไฟและชานชาลากว่า 450 แห่ง เส้นทางรถไฟกว่า 4,000 กิโลเมตร และขบวนรถโดยสารกว่า 240 ขบวน(ไม่รวมขบวนสินค้า) เกือบทั้งหมดอยู่ในความดูแลของ ‘กองบังคับการตำรวจรถไฟ’ หัวหอกหลักที่คอยคุ้มกันภัยให้ขบวนม้าเหล็ก 

อัตรากำลังพลกว่า 800 คน ถูกกระจายอยู่ใน 15 สถานีตำรวจที่อยู่ตามแนวเส้นทางของรถไฟ และยังมีหน่วยบริการอยู่ตามสถานีรถไฟอีก 40 แห่ง ภารกิจพิทักษ์ความปลอดภัยให้ผู้โดยสารที่มีมานานกว่า 70 ปี ต้องจบลง เมื่อ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ถูกประกาศใช้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 โดยเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่าให้ยุบ ‘กองบังคับการตำรวจรถไฟ’ เมื่อครบ 1 ปี หลังประกาศใช้กฎหมาย โดยมีผลเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา 

ประเด็นที่เกิดขึ้นนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และสร้างความแคลงใจให้ผู้ใช้บริการรถไฟที่สะท้อนถึงความกังวลเรื่องความปลอดภัยว่าต่อจากนี้พวกเขาจะปลอดภัยเหมือนเดิมหรือไม่ เมื่อไม่มีตำรวจรถไฟ? ขณะที่ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับการยุบตำรวจรถไฟ เพราะมองว่าไม่มีความสำคัญอะไร และยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว รวมถึงมองว่าทาง ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)’ มีมาตรการจัดหาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(รปภ.) มาดูแลทดแทน และได้ขอกำลังเจ้าหน้าที่จาก ‘กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.)’ ให้เข้ามาช่วยดูแลขบวนรถโดยสารที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอาชญากรรม จำนวน 30 ขบวนต่อวัน โดยใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจขบวนละ 2 นาย 

อีกทั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ยังมอบหมายให้ตำรวจท้องที่เป็นผู้รับผิดชอบ กรณีเกิดเหตุอาชญกรรมบนขบวนรถไฟ หรือในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟแทน 

— ปลอดภัยขึ้นจริงหรือ? —

อดีตตำรวจรถไฟนายหนึ่ง ให้ข้อมูลกับทีมข่าวสเปซบาร์ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วขบวนรถทางไกลมีทั้งหมด 52 ขบวน (ส่วนใหญ่เป็นขบวนที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอาชญากรรม) เหตุใด รฟท. ถึงขอกำลัง บช.ก. ให้มาช่วยดูแลแค่ 30 ขบวน แม้เดิมตำรวจรถไฟจะมีกำลังดูแลได้แค่ 30 ขบวนเท่ากัน แต่ขบวนที่เหลือได้ขอกำลังสนับสนุนจาก ‘ตำรวจในพื้นที่’ ให้ช่วยขึ้นไปสุ่มตรวจขบวนที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดปัญหา จึงเหมือนกับว่ามีตำรวจดูแลทุกขบวน 

ทำให้ตอนนี้มีตำรวจที่ดูแลขบวนรถไฟจริงๆ แค่ 30 ขบวนเท่านั้น ไม่มีกำลังตำรวจในพื้นที่ขึ้นไปสุ่มตรวจแล้ว ส่วนขบวนอื่นๆ อาจมีเพียง รปภ. ของ รฟท. ที่ดูแลเท่านั้น ซึ่งเกรงว่าจะไม่เพียงพอต่อการดูแลความปลอดภัยอย่างทั่วถึง 

อดีตตำรวจรถไฟนายนี้ ยังอธิบายว่าเดิมตำรวจรถไฟมีกำลังพลดูแลขบวนรถไฟครบทั้ง 52 ขบวน แต่ช่วงปี 2547 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตำรวจรถไฟ จึงทำให้กำลังพลลดลง ทำให้ดูแลได้เพียง 30 ขบวนเท่านั้น  

— ‘ตำรวจ’ VS ‘รปภ.’ เดิมพันที่แลกด้วยความปลอดภัยของประชาชน —

ข้อถกเถียงเรื่อง ‘อำนาจหน้าที่’ ระหว่าง ‘ตำรวจ’ และ ‘รปภ.’ คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของปัญหาเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่ รปภ. ไม่มีเหมือนตำรวจคืออำนาจหน้าที่ตาม ป.วิ.อาญา ที่ให้สิทธิตำรวจในการสอบสวน ตรวจค้น จับกุม ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยได้ 

ขณะที่ผู้ใช้บริการรถไฟจำนวนไม่น้อย แสดงความคิดเห็นผ่านการนำเสนอข่าวดังกล่าวๆ จากหลายๆ สำนัก สะท้อนความเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และความสบายใจของประชาชนโดยตรง เพราะไม่รู้ว่า ‘รปภ.’ ที่มาทำหน้าที่แทนจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ที่สำคัญมองว่าตำรวจสามารถประสานงานกับหน่วยตำรวจด้วยกันได้คล่องกว่า อีกทั้งตำรวจรถไฟยังสามารถจับยาเสพติดที่ลักลอบเข้าได้เป็นจำนวนมาก แต่หากเป็นไปได้ก็อยากให้ตำรวจรถไฟบางนายดูมีความมิตรมากกว่านี้ 

นอกจากนี้ วินมอเตอร์ไซค์ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ยังสะท้อนความกังวลให้ทีมข่าวสเปซบาร์ฟังว่า สิ่งที่เขาห่วงคือ รปภ. จะดูแลความปลอดภัย ได้ไม่ดีเท่าตำรวจ โดยเฉพาะพวกขี้เมา-ขี้ยา และคนเร่ร่อนที่หัวลำโพง เพราะคนกลุ่มนี้หากเห็น รปภ.หรือพนักงานมาเตือนจะไม่เกรงกลัวและจ้องจะทำร้ายกลับ ต่างจากตำรวจที่คนกลุ่มนี้จะให้ความเกรงกลัวมากกว่า 

— ‘อดีตผู้ว่าการ รฟท.’ ย้ำ รถไฟต้องมีตำรวจ ไม่มีไม่ได้ —

‘ประภัสร์ จงสงวน’ อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวสเปซบาร์ ย้ำว่า รถไฟต้องมีตำรวจ ไม่มีไม่ได้ เพราะการเดินทางบนขบวนรถไฟ เป็นการเดินทางระยะทางไกล โอกาสที่จะมีมิจฉาชีพปะปนขึ้นไปก่อเหตุอันตราย และเมื่อเป็นการเดินทางไกล ใน 10 ชม. ของการเดินทางอะไรก็เกิดขึ้นได้ และตอนนี้ที่มีข่าวว่า รฟท. ไปขอกำลังพลจากสำนักงานตรวจแห่งชาติให้มาดูแลขบวนรถไฟ แต่ไม่ครบทุกขบวนเหมือนเดิม 

“คำถามคือขบวนที่ไม่มีตำรวจประจำจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะปลอดภัย ผมว่าตรงนั้นมันไม่ควรมีช่องว่าง ชีวิตพี่น้องประชาชนมีความสำคัญทุกคนครับ”

ส่วนแนวทางที่ รฟท. พยายามผลักดันให้มี รปภ. ดูแลความปลอดภัยแทนตำรวจ ย้ำว่า รปภ. ไม่มีอำนาจเหมือนที่ตำรวจมี เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จับคนร้ายไม่ได้ พกอาวุธไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย พูดง่ายๆ เหมือนทำหน้าที่เป็นยามที่ทำได้แค่ขอความร่วมมือ ‘ประภัสร์’ พยายามชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และอยากให้ ผบ.ตร. เข้ามาแก้ปัญหานี้โดยเร็ว

“ ถามว่าพอเกิดเหตุแล้ว มันสามารถรายงานเหตุได้ทันทีหรือเปล่า เช่นกลางคืน เกิดเหตุหญิงสาวถูกทำมิดีมิร้ายระหว่างนอนหลับอยู่ในขบวนรถไฟชั้นสอง กว่าจะแจ้งความได้ ตรงไหนคือพื้นที่เกิดเหตุ มันมีเรื่องของการสอบสวน ขอบเขตอำนาจมันจะวุ่นไปหมด นอกจากนี้หากมีการปล้นแล้วโจรกระโดดลงตรงไหนไม่รู้ อันนี้ยิ่งจะหนักไปอีกว่าจะเริ่มตามกันตรงไหน ผมถึงเรียนว่า เขาน่าจะคิดกันมากกว่านี้

‘ประภัสร์’ ยังบอกว่า มีตำรวจเล่าให้ฟังว่าระหว่างที่ พ.ร.บ.ตำรวจฉบับนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาในที่ประชุมของคณะกรรมการร่างกฎหมาย ทาง รฟท. เป็นคนบอกเองว่าตำรวจรถไฟไม่จำเป็น แต่ประเด็นคือ รฟท. ไม่มีหน่วยงานรักษาความปลอดภัยที่มีอำนาจตามกฎหมาย ที่ได้รับการฝึกอบรมให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ก่อการร้ายที่จำเป็นต้องใช้อาวุธ เหมือนการท่าอากาศยาน หรือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

คุณไม่รู้หรอตำรวจสำคัญขนาดไหน แล้วที่ทางตำรวจมีแนวคิดว่าจะเอาตำรวจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลตำรวจจริงๆ เอาไปทำหน้าที่ตำรวจ ผมถามว่าตำรวจที่ดูแลบนขบวนรถไฟเขาทำหน้าที่ตำรวจหรือเปล่าครับ ลองไปดูประวัติการจับกุมคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคดียาเสพติด คดีของเถือน คดีค้ามนุษย์ อย่าลืมว่ารถไฟมีคนใช้เยอะ ยืนยันว่าตำรวจรถไฟต้องกลับมา ”

ตำรวจรถไฟที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ‘ประภัสร์’ ย้ำว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และควรมีต่อไป ประเทศไทยไม่ควรถอยหลังในเรื่องนี้ เพราะต่างประเทศมีแต่จะพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้ตำรวจรถไฟ หรือหาก รฟท. ต้องการมีหน่วยรักษาความปลอดภัยเอง ให้ทำแบบ รฟม. คือไปแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่และเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้พร้อม “ไม่เช่นนั่น ท่านกำลังเอาชีวิตประชาชนไปเสี่ยง”

— ‘คดีน้อย’ ไม่ได้หมายความตำรวจทำงานไม่ดี —

‘ประภัสร์’ ยังอธิบายว่า ตำรวจรถไฟ ไม่ใช่ไม่มีผลงานการจับกุม เพียงแต่ว่าจับได้แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว และคนส่วนมากมองว่าคนที่ใช้รถไฟเป็นคนที่มีรายได้น้อย และประเทศไทยมักจะให้ความสำคัญกับผลงานการจับกุมจำนวนมากๆ แต่การที่จับได้กับการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นมาเลย อันไหนเป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่า เพราะอย่าลืมว่าที่จับได้หมายความว่ามีการเสียหายเกิดขึ้นแล้ว 

— เปิดสถิติ ‘ตำรวจรถไฟ’ จับยาเสพติด-ผตห.-แรงงานต่างด้าวเพียบ —

สำหรับข้อมูลสถิติการจับกุมคดียาเสพติดของ ‘กองบังคับการตำรวจรถไฟ’ ที่ทีมข่าวได้รับเอกสารมาจากตำรวจรถไฟ พบว่าสามารถจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางในคดียาเสพได้จำนวนมาก เฉพาะของกลางที่เป็นยาบ้า ในช่วงปีงบประมาณ 2561-2565 สามารถตรวจยึดของกลางได้มากสุดถึง 800,000 เม็ด 

ปี 2561 : จับยาบ้าได้ 801,282 เม็ด 

ปี 2562 : จับยาบ้าได้ 645,527 เม็ด 

ปี 2563 : จับยาบ้าได้ 102,607 เม็ด

ปี 2564 : จับยาบ้าได้ 109,640 เม็ด 

ปี 2565 : จับยาบ้าได้ 351,013 เม็ด  

คดีความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง

ปี 2560 : จับผู้ต้องหาได้ 9,840 ราย 

ปี 2561 : จับผู้ต้องหาได้ 4,377 ราย

ปี 2562 : จับผู้ต้องหาได้ 2,199 ราย

ปี 2563 : จับผู้ต้องหาได้ 913 ราย

ผลการจับกุมตามหมายจับของตำรวจรถไฟ

วันที่ 1 ต.ค. 63- 30 ก.ย.64 : จับผู้ต้องหาได้ 816 คน 

วันที่ 1 ต.ค. 64- 30 ก.ย.65 : จับผู้ต้องหาได้ 1,191 คน 

นอกจากนี้ ยังมีคดีอุบัติเหตุทางรถไฟ คดีประสงค์ต่อทรัพย์ คดีฆ่าผู้อื่น คดีข่มขื่น อีกจำนวนมากที่ตำรวจรถไฟเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งบางคดีต้องอาศัยประสบการเฉพาะของตำรวจรถไฟในการทำงาน เช่น การสังเกตการวางกระเป๋า สีหน้าท่าทางของคนร้ายที่แฝงตัวมาในคราบของผู้โดยสาร และระบบการสืบสวนที่ล็อกเป้าหมายได้ว่ารถไฟขบวนนั้นๆ มีผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับมาใช้บริการหรือไม่ 

คำถามคือหากเป็น ‘รปภ.’ ที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการจับกุม ตรวจค้น สืบสวน เหมือนอย่างที่ตำรวจรถไฟมี คดีเหล่านี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อ ‘รปภ.’ ที่มีไม่สามารถจัดการได้เหมือนตำรวจ อย่าลืมว่าขนาดมีตำรวจรถไฟ อาชญากรยังเหิมเกริมก่อเหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญมาแล้ว และหลายคดีคนจำไม่เคยลืม เช่น คดีคืนบาปพรหมพิราม และ คดีน้องแก้ม ด.ญ.วัย 13 ที่ถูกฆ่าข่มขืนบนรถไฟ ก่อนโยนรางลงข้างทาง

อ้างอิง : ไทยพีบีเอส : 72 ปีตำรวจรถไฟ นับถอยหลังภารกิจดูแลความปลอดภัยผู้โดยสาร , ผลงานการจับกุมของตำรวจรถไฟ : กองบังคับการตำรวจรถไฟ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : Photo Story: ปิดตำนาน 72 ปี ‘ตำรวจรถไฟ’ , Photo Story: ตำรวจรถไฟคนสุดท้าย แห่งสถานีนพวงศ์ , Photo Story: กำลังใจแด่ ‘ตร.รถไฟคนสุดท้าย’ , 5 คำถามที่คนอยากรู้ - ยุบ ‘ตำรวจรถไฟ’ ปฏิรูปแบบโง่ๆ ?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์