เข้าสู่ฤดูฝน หลายคนสงสัยว่าทำไม “ฟ้าผ่า” จึงเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเหตุการณ์ฟ้าผ่าได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในหลายพื้นที่ของโลก โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนอย่างอินเดีย ที่สังเวยชีวิตผู้คนราว 1,900 รายต่อปี แถมฟ้าผ่ายังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดหากเทียบกับภัยธรรมชาติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแดนภารต ซึ่งทำสถิติมากถึง 101,309 ราย ระหว่างปี 1967-2020 และเพิ่มขึ้นอย่างมากระหว่างปี 2010-2020
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดคำถามคาใจว่า ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Conditions) เรื่องเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความถี่และความรุนแรงของฟ้าผ่าหรือไม่? ซึ่งครั้งนี้ SPACEBAR รวบรวมงานวิจัยและข้อมูลที่น่าสนใจทางวิทยาศาสตร์มาให้แล้ว
ความเชื่อมโยงระหว่างอุณหภูมิโลกและฟ้าผ่า
ทุก 1°C ที่โลกร้อนขึ้น อาจทำให้ฟ้าผ่าเพิ่มขึ้น 12%
รายงานเรื่อง Projected increase in lightning strikes in the United States due to global warming โดย Romps และคณะ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ได้วิเคราะห์ความถี่ของฟ้าผ่าในสหรัฐฯ โดยใช้ตัวแปรทางอุตุนิยมวิทยาที่ชื่อว่า CAPE (Convective Available Potential Energy) ซึ่งแสดงถึงพลังงานที่อากาศมีอยู่ในการลอยตัวขึ้นสูง และอัตราการเกิดฝน พบว่าเมื่อค่าทั้งสองนี้เพิ่มขึ้นโอกาสเกิด “ฟ้าผ่าก็สูงขึ้น” ตามไปด้วย
ผลการศึกษายังระบุว่า ฟ้าผ่าในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 12% ต่ออุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทุก 1°C หากโลกร้อนขึ้น 2°C ฟ้าผ่าอาจเพิ่มขึ้นเกือบ 25% และหากโลกร้อนขึ้นต่อเนื่องจนถึง 4°C ภายในศตวรรษนี้ จำนวนฟ้าผ่าอาจเพิ่มขึ้นกว่า 50% หรือเพิ่มอีก 10 ล้านครั้งต่อปี จากที่มีประมาณ 25 ล้านครั้งต่อปี (ในปี 2014) นี่แค่เฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น
กรณีศึกษาในอินเดีย ฟ้าผ่าคร่าชีวิตจากโลกร้อน
เหตุการณ์ในอินเดียตอกย้ำแนวโน้มนี้อย่างชัดเจน โดยมีผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่าหลายสิบรายภายในวันเดียว ขณะที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ดำนา เลี้ยงสัตว์ หรือหลบฝนใต้ต้นไม้ ดร.มธวัน แนร์ ราชีวาน อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์โลก ระบุว่า ภาวะโลกร้อนทำให้เมฆพายุฝนฟ้าคะนอง (Convective Clouds) ก่อตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่ “ฟ้าผ่า”
จากข้อมูลของสถาบันอุตุนิยมวิทยาเขตร้อนแห่งอินเดีย พบว่าเหตุการณ์ฟ้าผ่าในอินเดียเพิ่มขึ้น 30-40% ระหว่างปี 1995-2014 และจากรายงานของสำนักงานทะเบียนอาชญากรรมแห่งชาติ (NCRB) ในปี 2022 ฟ้าผ่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติอันดับแรกของประเทศ

เพราะเหตุใดโลกร้อนจึงกระตุ้นฟ้าผ่า?
ฟ้าผ่าเกิดจากความไม่สมดุลของประจุไฟฟ้าในเมฆที่มีโครงสร้างสูงและหนา (Deep Clouds) การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้อากาศสามารถเก็บไอน้ำได้มากขึ้น ส่งผลให้เมฆพายุขนาดใหญ่เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น เมื่อมีพลังงานมากขึ้นในระบบ ก็มีโอกาสที่ฟ้าผ่าจะเกิดบ่อยและรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย
ผู้เชี่ยวชาญในไทยโพสต์เตือนภัยภาวะโลกร้อนทำให้ฟ้าผ่าบ่อยขึ้น
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเตือนภัยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนทำให้ฟ้าผ่าบ่อยขึ้น ระบุว่า ช่วงนี้เกิดพายุฤดูร้อนฟ้าฝนคะนองเกิดฟ้าผ่าบ่อยขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย สาเหตุจากโลกร้อนขึ้นทำให้มีความชื้นในอากาศในช่วงฤดูร้อนเพิ่มขึ้นเกิดเมฆคิวมูโลนิมบัส ก่อตัวขึ้นในท้องฟ้ามากขึ้นเป็นสาเหตุของฝนฟ้าคะนองและเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบและฟ้าผ่าบ่อยขึ้น
“ฟ้าผ่า” เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของประจุอิเล็กตรอนภายในก้อนเมฆหรือเกิดขึ้นระหว่างก้อนเมฆ หรือเกิดขึ้นระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน มีการเคลื่อนที่ของกระแสอากาศขึ้นลงภายในก้อนเมฆ ก้อนเมฆที่มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าเกิดจากก้อนเมฆคิวมูโลนิมบัส (เป็นก้อนเมฆที่เกิดจากอากาศร้อนแล้วมีไอน้ำสะสมไว้มากต่อตัวในแนวตั้ง) ทำให้เกิดความต่างศักย์ไฟฟ้าในแต่บริเวณของก้อนเมฆและก้อนเมฆกับพื้นดินกลายเป็นสนามแม่เหล็กขนาดใหญ่ โดยมีประจุบวกอยู่ด้านบนของก้อนเมฆและมีประจุลบอยู่ด้านล่างของก้อนเมฆ เมื่ออิเล็กตรอนภายในก้อนเมฆเคลื่อนที่ทำให้เกิดแสงสว่างเรียกว่า “ฟ้าแลบ” เมื่อเกิดการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนในก้อนเมฆทำให้บริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูงมากจนขยายตัวอย่างฉับพลันส่งผลทำให้เกิด Shock Wave ส่งเสียงดังเรียกว่า “ฟ้าร้อง”
ส่วนฟ้าผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้นดินเรียกว่า “ฟ้าผ่าแบบลบ” ส่วนใหญ่จะผ่าลงบริเวณใต้เงาของเมฆฝนฟ้าคะนอง แต่ฟ้าผ่าที่มาจากยอดเมฆลงสู่พื้นดินเรียกว่า “ฟ้าผ่าแบบบวก” สามารถผ่าได้ไกลจากก้อนเมฆถึง 40 กม.ภายใน 1 วินาที จะเกิดขึ้นหลังจากที่ฝนฟ้าคะนองซาลงแล้วจะทำอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสิ่งต่างๆ ได้มาก
หากมีเมฆฝนคะนองอยู่เหนือศีรษะแล้วเส้นขนบนผิวหนังลุกขึ้นหรือเส้นผมบนศีรษะลุกตั้งขึ้น แสดงว่ากำลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า หรือหากเกิดฝนฟ้าคะนองใกล้ตัวระยะ 16 กม.และได้ยินเสียงฟ้าร้องหลังจากฟ้าแลบแล้วน้อยกว่า 30 วินาทีแสดงว่าอยู่ใกล้เขตเสี่ยงต่อฟ้าผ่า

วิธีป้องกันฟ้าผ่า
1. อาคารสูงต้องติดตั้งสายล่อฟ้าไว้บนยอดอาคาร และเดินสายกราวด์ไปยังพื้นดินเพื่อเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าจากอาคารให้ผ่านลงสู่พื้นดินโดยไม่สร้างความเสียหายให้แก่ตัวอาคาร
2. หากอยู่ในที่โล่งแจ้งให้หาที่หลบที่ปลอดภัย เช่นอาคารขนาดใหญ่แต่อย่าอยู่ใกล้ผนังของอาคาร ประตูและหน้า ต่างหรือหากขับรถให้จอดข้างทางห่างจากต้นไม้ใหญ่และหลบอยู่ภายในรถยนต์ที่ปิดกระจกมิดชิด แต่ห้ามสัมผัสกับตัวถังรถโดยเด็ดขาด ในกรณีหาที่หลบฝนที่มีฟ้าแลบฟ้าร้องไม่ได้ ให้ใช้วิธีหมอบนั่งยองๆ ซุกศรีษะระวังขา เพื่อลดพื้นที่สัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุด แต่อย่านอนหมอบกับพื้นเพราะกระแสไฟฟ้าอาจวิ่งตามพื้นได้
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโลหะทุกชนิดและสายไฟ เนื่องจากโลหะเป็นตัวนำไฟฟ้า รวมทั้งอย่าสัมผัสกับน้ำเพราะน้ำเป็นตัวนำไฟฟ้า
4. ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้ง หากอยู่ในบ้านหรืออาคารห้ามใช้โทรศัพท์บ้านหรือเล่นอินเตอร์เน็ต ขณะเกิดฟ้าฝนคะนองต้องดึงเสาอากาศของทีวีออก รวมทั้งถอดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดออกให้หมด
5. เตรียมไฟฉายและกระเป๋าฉุกเฉินให้พร้อม ในกรณีเกิดฝนตกหนักและไฟฟ้าอาจดับได้
บทสรุปของโลกร้อนทำให้ฟ้าผ่าบ่อยขึ้นจริงหรือ?
จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก สามารถตอบได้ว่า “โลกร้อนทำให้ฟ้าผ่าบ่อยขึ้นจริง” ทั้งนี้ ภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองมากขึ้น และยังมีโอกาสเกิดปรากฏการณ์ระเบิดฝน หรือ Rain Bomb และยังนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของฟ้าผ่าทั้งในด้านความถี่และความรุนแรง ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งผลกระทบที่ชัดเจนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษยชาติจำเป็นต้องตระหนักและเตรียมรับมืออย่างจริงจัง