ปัญหาการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทย ยังคงเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่สะท้อนถึงช่องโหว่ของนโยบาย กฎหมาย และการบังคับใช้ในระยะยาว อย่างที่เราเคยเห็นในกรณี “ลำห้วยคลิตี้” จังหวัดกาญจนบุรี วันนี้ “แม่น้ำกก” ซึ่งไหลผ่านพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย อาจกลายเป็นตัวแทนของความล้มเหลวในการนำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากลอย่าง หลักการผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย (Polluter Pays Principle - PPP) มาใช้จริงในประเทศไทย
แม้หลักการดังกล่าวจะได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ แต่ในทางปฏิบัติของไทยกลับสะท้อนตรงกันข้าม เมื่อประชาชนในพื้นที่ประสบภัยกลับต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ความเสียหาย และแบกรับค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม “แทน” ผู้ก่อมลพิษ

Polluter Pays Principle (PPP) หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย
ต้นกำเนิดของหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เริ่มจากการสนับสนุนขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-Operation and Development - OECD) ซึ่งระบุไว้เป็นในแนวทางเกี่ยวกับนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เมื่อปี 1972 โดยวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันและควบคุมมลพิษ เพื่อให้สภาพแวดล้อมอยู่ในสภาพที่ดี
หลักการนี้เป็นแนวคิดสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งหวังให้ผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แทนที่จะผลักภาระให้สังคมหรือรัฐแบกรับแทน เช่น กรณีโรงงานปล่อยน้ำเสีย หากไม่บำบัดน้ำก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ย่อมทำให้ชุมชนและรัฐต้องรับภาระในการบำบัด ซึ่งไม่เป็นธรรม เพราะผู้ผลิตเป็นฝ่ายได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง ขณะที่สิ่งแวดล้อมและประชาชนกลับต้องเสียประโยชน์
แนวคิดของหลัก Polluter Pays Principle (PPP) ได้นำไปประยุกต์ใช้ในนโยบายสิ่งแวดล้อมของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) จากกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ระบบซื้อขายใบอนุญาตปล่อยมลพิษ (Cap and Trade) ที่ให้แรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการที่ลดมลพิษได้ดีกว่าเป้าหมาย หรือแม้กระทั่งระบบมัดจำและคืนเงิน (Deposit Refund System) ที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวดน้ำ หรือกรณีการทำเหมืองแร่
ทั้งหมดนี้ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือทำให้ “ต้นทุนแฝง” กลับมาเป็นต้นทุนจริงที่สะท้อนในราคาสินค้าและบริการ นอกจากนี้ยังต่อยอดไปสู่หลักความรับผิดชอบร่วมกัน แม้ไม่ใช่แค่ผู้ก่อ เช่น User Pays Principle (UPP) คือผู้ใช้งานทรัพยากร เช่น น้ำหรือถุงพลาสติก ควรจ่ายค่าธรรมเนียมตามปริมาณการใช้ และ Beneficiary Pays Principle (BPP) คือผู้ที่ได้ประโยชน์จากคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น สวนสาธารณะหรืออากาศสะอาด ควรร่วมจ่ายค่าดูแลบำรุงรักษา
หลักการ “ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย” บนกระดาษกับความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม การนำหลักการนี้มาใช้จริงในบริบทของประเทศที่ยังมีปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย หรืออำนาจรัฐถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนเช่นในประเทศไทย ที่อาจมีใช้ในกฎหมายบางฉบับ เช่น การจัดการกากอุตสาหกรรม แต่ในภาพใหญ่กลับกลายเป็นเพียงนโยบายที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
กรณีเหมืองแร่คลิตี้ 30 ปีแห่งพิษตะกั่วและภาษีประชาชน
ย้อนกลับไปในปี 2518 ชาวบ้านคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี พบเห็นการปล่อยน้ำเสียลงในลำห้วย ก่อนจะพบว่าน้ำในลำห้วยมีความผิดปกติ ทั้งมีโคลนดินใต้ท้องน้ำมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นฉุนอย่างรุนแรง น้ำเป็นสีน้ำตาลขุ่น เมื่อดื่มเข้าไปทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เมื่ออาบน้ำหรือเล่นน้ำจะเกิดอาการคันตามตัว ปลาน้อยใหญ่ลอยตายเกลื่อนลำห้วย โดยทั้งหมดเกิดขึ้นภายหลังการเริ่มดำเนินกิจการของโรงแต่งแร่จากเหมืองตะกั่วเพียง 8 ปี
ปี 2521 เริ่มมีการร้องเรียนต่อทางเหมืองและโรงแต่งแร่ครั้งแรก (และเงียบไป)
ระหว่างปี 2532-2541 ประชาชนในหมู่บ้านมีอาการเจ็บป่วยอย่างผิดปกติ แต่คล้ายคลึงกัน คือถ่ายท้อง ปวดหัว ปวดกระดูก ชาตามร่างกาย บางรายตาบอดสนิท และเริ่มทยอยเสียชีวิต หญิงที่ตั้งครรภ์แท้งบุตร ทารกเกิดใหม่บางรายมีอาการผิดปกติด้านร่างกายและสมอง ขณะเดียวกันสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านล้มตาย ส่วนใหญ่มีอาการล้มชักน้ำลายฟูมปาก ปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทำให้ชาวคลิตี้ล่างรวมตัวกันส่งตัวแทนชุมชนไปเจรจากับโรงแต่งแร่หลายครั้ง รวมทั้งปรึกษากับหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน แต่ปัญหาก็ยังไม่รับการแก้ไข
เดือนเมษายน 2541 มีการร้องเรียนไปยังกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รับรู้ในสาธารณะจากการนำเสนอข่าว ภายหลังการร้องเรียน คพ.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และพบการปนเปื้อน “สารตะกั่ว” ในน้ำ ตะกอนดิน ท้องน้ำ และในสัตว์น้ำ สูงกว่าค่ามาตรฐานอาหารให้มีสารปนเปื้อนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (ปี 2529) ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะจุดที่อยู่ใต้โรงแต่งแร่คลิตี้ลงไป
ปี 2542 มีการตรวจติดตามสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง โดยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่กรมอนามัย ตรวจเลือดเพื่อหาระดับสารตะกั่วในเลือด พบทั้งเด็กและผู้ใหญ่ “มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูง” และแพทย์ลงความเห็นในใบรับรองแพทย์ให้ผู้ป่วยบางรายในหมู่บ้านว่า “เป็นโรคพิษสารตะกั่ว” ขณะที่น้ำในลำห้วยยังคงเป็นสีดำแดง และในปีเดียวกัน บริษัทตะกั่ว “ได้ปิดกิจการ” ลง
2543 คพ.ยังคงเฝ้าติดตามและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ พบว่าในลำห้วยยังคงมีสารตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูง
29 กรกฎาคม 2545 สาธารณสุขประกาศ “งดบริโภคน้ำและปลาในลำห้วยชั่วคราว” เพื่อเตือนมิให้ใช้น้ำและจับสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่มีความคืบหน้า มีชาวคลิตี้ล่างจำนวน 8 คนที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลราชวิถี และแพทย์บ่งชี้ว่าทั้ง 8 คนป่วยจาก “พิษสารตะกั่วเรื้อรัง” ซึ่งต่อมาผู้ป่วยกลุ่มนี้มีระดับตะกั่วในเลือดลดลงและสุขภาพดีขึ้น
30 มกราคม 2546 ผู้ป่วย 8 คนยื่นฟ้องเป็น “คดีแพ่ง” ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเอาผิดกับบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ
ปี 2547 ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ 22 คน ยื่นฟ้อง คพ.เป็น “คดีอาญา” ต่อศาลปกครองกลาง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการฟื้นฟูลำห้วย
ตุลาคม 2550 ชาวบ้านคลิตี้ล่างรวม 151 คน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีบริษัทตะกั่วเป็นจำเลย ในฐานความผิด “ละเมิด” ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นคดีแพ่ง (หมายเลขดำที่ 2659/2550 หมายเลขแดงที่ 1290/2553) โดยเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,041,952,000 บาท พร้อมทั้งขอให้จำเลยรับผิดชอบในการฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้ ในปีนั้นศาลอุธรณ์ภาค 7 (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) ได้มีคำพิพากษาตัดสินให้ “บริษัทผู้ก่อมลพิษต้องชดใช้เงินค่าเสียหาย” ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 คนเป็นจำนวนเงิน 29,551,000 บาท
ปี 2551 ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาว่า คพ.ล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วย และให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 743,226 บาท จากนั้นคดีได้ขึ้นสู่ชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
20 ธันวาคม 2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี มี “คำพิพากษา” ให้จำเลยทั้งหมด (บริษัทเหมือง) ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวคลิตี้ล่างจำนวน 151 คน เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้อง “จากการที่จำเลยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง และไม่สามารถใช้สอยลำห้วยได้เหมือนเดิม” นอกจากนี้ ยังให้จำเลยดำเนินการฟื้นฟูหรือขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป
7 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ “บริษัทผู้ก่อมลพิษ” และกรรมการ จ่ายเงินค่าเสียหายจำนวน 36,050,000 บาท ฐานเป็นผู้ก่อมลพิษ (...แต่ในประเด็นเรื่องการฟื้นฟูลำห้วย ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย“ โดยเห็นว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้บัญญัติให้ประชาชนทั่วไปเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเอกชนผู้ก่อมลพิษดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยได้โดยตรง แต่เป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษที่จะบังคับตามกฎหมายให้ผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูลำห้วย หากผู้ก่อมลพิษไม่ทำ”)
10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุด ได้คำพิพากษาให้ คพ.ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 ราย รายละ 177,199.55 บาท และให้ติดตามตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งให้กำหนดแผนหรือแนวการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จนกว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ ในลำห้วยคลิตี้อยู่ในระดับไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี รวมถึงต้องแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบโดยวิธีการเปิดเผย
ทำให้ คพ.ต้องจ่ายค่าชดเชยและทำโครงการกำหนดแนวทางฟื้นฟูลำห้วย (ระยะที่ 1) พร้อมให้ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศึกษาแนวทางฟื้นฟูมานำเสนอในเดือนกันยายน 2556 โดยมีกรอบทำงาน 120 วัน
สิงหาคม 2556 คพ.รับอนุมัติงบประมาณประจำปี 2556 เป็นงบกลางวงเงิน 11,850,000 บาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อใช้ดำเนินโครงการกำหนดแนวทางฟื้นฟู ลำห้วยคลิตี้ จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว
หลังจากนั้นเราพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมแต่ไร้วี่แววหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการดำเนินการอย่างไร และผลเป็นอย่างไร มีเพียงรายงานของสื่อในไทยระบุว่า ล่าสุดเมื่อต้นปี 2567 ยังมีรายงานพบค่าปนเปื้อนของตะกั่วไม่ลดลงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกาดหางแร่ตะกอนในลำห้วย ตะกอนขอบลำห้วย และบนตลิ่ง ยังปนเปื้อนสูง ทั้งที่ใช้งบประมาณไปกว่า 800 ล้านบาทในการฟื้นฟู (แต่ไม่ได้ผล)
จุดจบที่เจ็บปวด คือนายทุนทำผิด แต่ประชาชนต้องจ่าย
กรณีของคลิตี้จึงกลายเป็นภาพสะท้อนอย่างชัดเจนว่า แม้หลักการ PPP จะระบุให้ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ แต่ในทางปฏิบัติ (ณ ตอนนั้น) กลับไม่มีการนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง และสุดท้ายคือ “ภาษีของประชาชน” ที่ต้องถูกนำมาเยียวยาผลกระทบจากปัญหาที่พวกเขาไม่ได้ก่อ

แม่น้ำกก ภัยเงียบจากแร่หายาก
อีกเหตุการณ์คล้ายกันและหวั่นจะซ้ำรอย คือปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณลุ่มน้ำกก ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในรัฐฉานของเมียนมา ที่ถูกมองว่าอาจรุนแรงยิ่งกว่ากรณีคลิตี้ ทั้งในเชิงพื้นที่ ขอบเขตผลกระทบ และความซับซ้อนทางภูมิรัฐศาสตร์
จากข้อมูลของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) มีการเปิดเผยว่าเหมืองที่อยู่ใกล้แม่น้ำกกในรัฐฉานไม่ใช่เพียงเหมืองทองเท่านั้น หากแต่เป็นเหมืองขุด “แร่แรร์เอิร์ธ” (Rare Earth Elements) ซึ่งเป็นแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี ชิป AI และเทคโนโลยีสำคัญในปัจจุบัน การขุดแร่ชนิดนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับสูงมาก โดยเฉพาะการปล่อย “สารหนู” ซึ่งเป็น “สารก่อมะเร็ง” ลงสู่แหล่งน้ำ
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายสื่อมีการนำเสนอข่าวพบสารปนเปื้อน “เกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก” ประกอบกับภาพปลาที่มีรูปลักษณ์ผิดแปลกไป สร้างความกังวลใจให้ประชาชน โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ได้เข้าตรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำกก ที่ไหลมาจากต้นน้ำในฝั่งประเทศเมียนมา เข้าสู่พื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากพบว่าน้ำมีสีขุ่นคล้ายกับมีตะกอนดินปนเปื้อนอยู่เป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นผลการสุ่มตรวจแม่น้ำกก พบว่าน้ำมีสีขุ่นเกินค่าปกติเกือบ 10 เท่า ที่สำคัญผลการตรวจวิเคราะห์พบ สารหนู หรือ Arsenic ซึ่งเป็นสารพิษอันตรายเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกกกว่าเท่าตัว ซึ่งปกติค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร
แม้ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประชุมกรมกิจการชายแดนทหาร คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำแม่น้ำระหว่างประเทศ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ครั้งที่ 1/2568 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธาน สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA ได้จัดทำข้อมูลย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ 2560-2568 โดยใช้ดาวเทียม พบการเปิดหน้าดินในพื้นที่เมียนมา เพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ในช่วงปี 2567-2568

วานนี้ มีรายงานความคืบหน้าจากที่กรมประมงได้เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำไปตรวจสอบวิเคราะห์โลหะหนัก พบว่าผลการตรวจไม่เกินค่ามาตรฐาน “ไม่พบแคดเมียมและตะกั่ว” ส่วนกรณีสัตว์น้ำมีตุ่มแดงเกิดจาก “ปรสิต”
ส่วนกรมอนามัย ตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านและปัสสาวะของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย ผล “ไม่พบการปนเปื้อนสารหนูและตะกั่วไม่เกินมาตรฐาน” และผลตรวจปัสสาวะ “ไม่เกินมาตรฐาน”
ทางด้านการประปาส่วนภูมิภาค ตรวจสอบคุณภาพน้ำดิบที่ใช้ในการทำประปาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่อำเภอแม่อาย 10 จุด “ไม่พบสารหนูและตะกั่วเกินมาตรฐานฯ”
ดูท่าว่าผลที่ออกมาจะค้านสายตาและความรู้สึกของคนในพื้นที่ริมกกที่ประสบปัญหา ซึ่งนี่คือสิ่งที่รัฐต้องแก้ไขต่อไป
เมื่อ PPP ถูกปิดปากด้วยอำนาจและทุน
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ เหตุใดหลักการ “ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย” จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้ในบริบทของประเทศไทย คำตอบอาจอยู่ที่การจัดสมดุลอำนาจระหว่างภาครัฐ ภาคทุน และประชาชน ในกรณี “คลิตี้” ความล้มเหลวของรัฐในการควบคุมกิจกรรมของบริษัทเหมือง รวมถึงการไม่สามารถบังคับใช้คำตัดสินศาลกับเอกชนที่ล้มละลายได้ กลายเป็นภาระของประชาชนโดยตรง
ส่วนในกรณี “แม่น้ำกก” สถานการณ์ซับซ้อนขึ้นอีกขั้น เมื่อทุนที่อยู่เบื้องหลังเหมืองมีความเชื่อมโยงกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีน และกิจกรรมเหมืองเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน การดำเนินการในระดับ “รัฐต่อรัฐ” จึงต้องอาศัยวาทะศิลป์ ความกล้าหาญทางการเมือง ความตกลงร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับชีวิตของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์
หากประเทศไทยต้องการก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง การปฏิรูปกฎหมายสิ่งแวดล้อม (หลายๆ เรื่อง) ให้สามารถบังคับใช้หลักการ PPP ได้จริงจึงถือเป็นก้าวสำคัญ เช่น การออกกฎหมายให้เหมืองต้องวางเงินประกันความเสียหายไว้ล่วงหน้า การจัดตั้งกองทุนเยียวยาจากผู้ประกอบการโดยตรง หรือการมีกลไกประเมินความเสี่ยงข้ามพรมแดนอย่างโปร่งใส
วิกฤตแม่น้ำกกครั้งนี้สะท้อนว่าเรื่องของมลพิษไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เป็น “ปัญหาความยุติธรรมในนโยบายสาธารณะ” ที่ชี้ให้เห็นว่าไทยยังไม่มีระบบจัดการมลพิษข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ และยังไม่สามารถยกระดับ “เสียงของประชาชนชายแดน” ขึ้นสู่เวทีนโยบายได้เพียงพอ
สุดท้าย การปกป้องทรัพยากรและชีวิตของประชาชนไม่ใช่เพียงหน้าที่ของภาคประชาชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชนเท่านั้น แต่คือบทบาทพื้นฐานที่รัฐจะต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็ง และไม่ปล่อยให้ “ผู้ก่อมลพิษลอยนวล” ขณะที่ “ประชาชนที่ไม่ได้ก่อต้องจ่ายแทน” หากยังไม่มีการจัดการเชิงระบบ อนาคตลุ่มน้ำกกและแม่น้ำโขง อาจตกอยู่ในอันตรายจากภัยเงียบที่ถูกผลักไสด้วยคำว่า “เรื่องทับซ้อน” ไปเรื่อยๆ จนสายเกินแก้