นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ย้ำความมุ่งมั่นในการเฝ้าระวังและปราบปรามการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste แม้จะมีมาตรการเข้มงวดแต่ก็ยังพบผู้ประกอบการนอกแถวบางรายพยายามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบผิดกฎหมาย ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อตรวจสอบตู้สินค้าต้องสงสัยที่คาดว่าอาจเป็นการนำเข้าเศษอลูมิเนียมปนเปื้อนขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยร่วมกับชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือทีมสุดซอย นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวศิริลักษณ์ วิศวรุ่งโรจน์ อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี นายวุฒิ เร่งประดุงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบในครั้งนี้

จากการตรวจสอบ พบตู้สินค้าจำนวน 6 ตู้ นำเข้าโดยบริษัทเอกชนรายหนึ่งในจังหวัดชลบุรี มีใบขนส่งสินค้าขาเข้าแสดงข้อมูลนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา สำแดงสินค้าเป็นเศษอลูมิเนียมผสมที่ยังไม่ได้คัดแยก (Mix Metal Scrap) น้ำหนักกว่า 118 ตัน แต่เมื่อตรวจสอบปรากฏว่าสินค้าทุกตู้มีการปะปนเศษแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก เข้าข่ายเป็นของเสียอันตราย ภายใต้อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal) และเข้าข่ายเป็นของเสียเคมีวัตถุ (Chemical Wastes) ลำดับที่ 2.18 จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ และต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่อนุสัญญาบาเซลฯ กำหนด อีกทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานยังมีลักษณะขัดต่อประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน พ.ศ. 2563 อีกด้วย

นางสาวฐิติภัสร์ เปิดเผยว่า แม้บริษัทผู้นำเข้าจะอ้างว่าสินค้าดังกล่าวนำเข้ามาพักเพื่อเตรียมส่งออกไปประเทศจีนก็ตาม แต่เศษอลูมิเนียมปะปนเศษแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ถือเป็นการเคลื่อนย้ายข้ามแดนแบบผิดกฎหมาย ภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ เนื่องจากยังไม่ได้รับความยินยอมจากประเทศปลายทาง จึงมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานผู้มีอำนาจ (Competent Authority) ตามอนุสัญญาบาเซลฯ ของราชอาณาจักรไทย แจ้งการกระทำความผิดและส่งคืน (Return Shipment) ตู้สินค้ากลับไปยังประเทศผู้ส่งออกต้นทาง ขณะเดียวกัน กรมศุลกากรก็จะดำเนินคดีกับบริษัทผู้นำเข้าและผลักดันตู้สินค้าดังกล่าวกลับประเทศต้นทางต่อไป
จากนั้น เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ขยายผลหาข้อเท็จจริงในทันที รุดลงพื้นที่ตรวจค้นบริษัทผู้นำเข้าสินค้าขยะของเสียอันตรายดังกล่าว ในตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปลอดอากร (Free Zone) พบพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นอาคารโกดัง 2 หลัง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารโกดังเพิ่มอีก 2 หลัง ลักษณะเป็นคลังพักสินค้าจากต่างประเทศสำหรับรอส่งต่อไปยังประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา สินค้าส่วนใหญ่เป็นโลหะบรรจุในถุงบิ๊กแบ็ครอการส่งออก

พื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน 6 หลัง ซึ่งพบว่ามีจำนวน 4 หลัง เป็นโรงงานที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ได้แก่ โรงงานหลอมโลหะ โรงงานทำยางแผ่น และโรงงานผลิตอลูมิเนียมระบายความร้อน เมื่อตรวจสอบเครื่องจักรแล้วพบว่ามีการติดตั้งเครื่องจักรเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต ส่วนโรงงานอีก 2 หลัง ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พบการประกอบกิจการนำโลหะมาตัด คัดแยก และประกอบการฉีดพลาสติกขึ้นรูปบานพับ เข้าข่ายการตั้งและประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตยังมีการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ แล้วรอส่งออกไปต่างประเทศหรือส่งให้โรงงานอื่นที่อยู่ในเขตปลอดอากร ซึ่งนับเป็นการประกอบกิจการศูนย์เหรียญอย่างชัดเจน

เจ้าหน้าที่จึงออกคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการที่เป็นการฝ่าฝืนไม่ตรงตามเงื่อนไขการอนุญาต พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดกั้นการนำเข้า/ครอบครองวัตถุอันตราย และกวาดล้างขบวนการเหล่านี้มาลงโทษตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด
ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงมีคำสั่งให้หยุดดำเนินกิจการทันที พร้อมเก็บรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกเป็น “แหล่งพักของเสีย” จากต่างชาติ

มิติสิ่งแวดล้อม
ความเสี่ยงจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และอนาคตของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสารพิษที่แฝงอยู่ในแผงวงจร เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม เป็นภัยคุกคามต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ การปนเปื้อนของสารเหล่านี้ในน้ำ ดิน และอากาศสามารถนำไปสู่โรคเรื้อรังและโรคมะเร็ง
แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการควบคุมการนำเข้าขยะอุตสาหกรรมและ E-Waste อย่างเข้มงวด หากแต่ “ช่องว่างทางกฎหมาย” และ “พื้นที่พิเศษทางเศรษฐกิจ” เช่น เขตปลอดอากร กลับกลายเป็นจุดอ่อนที่ขบวนการลักลอบใช้ประโยชน์
ต้นปี ครม.เห็นชอบเพิ่ม 463 รายการห้ามนำเข้า E-Waste เดินหน้าปิดช่องโหว่ทางกฎหมาย
เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับใหม่ว่าด้วยการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมอีก 463 รายการ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการใช้ “ของเก่าแฝงพิษ” ภายใต้การสำแดงว่านำเข้าเพื่อรีไซเคิล
รายการที่ถูกแบนเพิ่มเติม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอทีเก่า สายไฟ ชิปอิเล็กทรอนิกส์ และแบตเตอรี่ที่หมดอายุ โดยมุ่งยกระดับมาตรการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาบาเซลและพิกัดศุลกากรสากลปี 2022
บทเรียนจากปฏิบัติการ ระบบตรวจสอบที่โปร่งใสและการบูรณาการคือคำตอบ
กรณีการจับกุมเครือข่ายศูนย์เหรียญครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม พร้อมแสดงให้เห็นว่า “เทคโนโลยี” และ “กฎหมายที่ทันสมัย” จะเป็นหัวใจของการป้องกันการนำเข้าขยะซ่อนรูปในอนาคต
ข้อเสนอเชิงนโยบายจากนักสิ่งแวดล้อมชี้ว่า ประเทศไทยควรพัฒนา AI และระบบภาพสแกนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงล่วงหน้า ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมกิจกรรมในเขตปลอดอากร ส่งเสริมการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศอย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน
จากศูนย์เหรียญสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ความท้าทายของความยั่งยืน
กรณีนี้ยังสะท้อนถึงความท้าทายของโมเดล “ศูนย์เหรียญ” หรือการผลิตเพื่อส่งออกแบบต้นทุนต่ำโดยใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ ผ่านพื้นที่ปลอดภาษี ซึ่งอาจนำไปสู่การหลีกเลี่ยงข้อจำกัดสิ่งแวดล้อม
เพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็น “ถังขยะของโลก” อีกครั้ง การลงทุนในอุตสาหกรรมรีไซเคิลภายในประเทศ การกำกับกิจการให้โปร่งใส และการสร้างระบบนิเวศของการผลิตอย่างยั่งยืน คือทางรอดในระยะยาว
ทั้งนี้ มาตรการล่าสุดของรัฐบาลไม่เพียงตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังปูทางสู่การบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืนที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับนโยบาย พร้อมยกระดับความน่าเชื่อถือของภาคอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลกภายใต้กรอบ ESG
การปราบปรามเครือข่ายลักลอบและการประกาศแบนขยะอิเล็กทรอนิกส์ในครั้งนี้ จึงอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทิศทางสิ่งแวดล้อมไทยในศตวรรษที่ 21