“เอเวอเรสต์” บนเทือกเขาหิมาลัยไม่ใช่แค่ตำนานแห่งการพิชิตยอดเขาสูงอีกต่อไป แต่กำลังกลายเป็นพื้นที่ทดลองนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนแห่งใหม่ของโลก เนื่องจากในทุกๆ ปีเอเวอเรสต์ เป็นจุดหมายปลายทางของเหล่าผู้กล้าที่ขอมาท้าความแข็งแกร่งและพิชิตยอดเขาซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “หลังคาโลก” ทว่า สิ่งที่ตามมาคือปัญหา “ขยะ” ที่คนนำติดตัวขึ้นไป...ไม่เคยเอาติดตัวกลับลงมา
ปี 2025 ฤดูปีนเขาเอเวอเรสต์จะเป็นปีแรกที่มีการใช้ “โดรนเก็บรวบรวมขยะ” ที่ถูกทิ้งไว้บนยอดเขาเพื่อส่งคืนไปที่เบสแคมป์ ซึ่งการใช้โดรนนับว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เซฟแรงงานทหาร และราคาถูกกว่าใช้เฮลิคอปเตอร์

ในอดีตการเก็บขยะบนเอเวอเรสต์ไม่ใช่เรื่องง่าย ภารกิจนี้ต้องอาศัยแรงงานมนุษย์ ทั้งผู้นำทางท้องถิ่น หรือเชอร์ปา และเจ้าหน้าที่ทหารเนปาล ทั้งหมดต้องเสี่ยงชีวิตเดินข้ามธารน้ำแข็ง ผ่านจุดอันตราย และสภาพอากาศที่แปรปรวน เพื่อขนขยะของบรรดานักปีนเขากลับลงสู่เบสแคมป์ โดยหนึ่งในจุดที่อันตรายที่สุดคือ น้ำตกน้ำแข็งคุมบู ที่คร่าชีวิตคนมาแล้วกว่า 50 รายนับตั้งแต่ปี 1953
...แต่ในปีนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อโดรนกลายเป็น “ลูกหาบลอยฟ้า” ท้าภารกิจเก็บขยะจากสวรรค์
![[object Object]](/_next/image?url=%2Fapi%2Fmedia%2Ffile%2Fsustainability-garbage-collecting-drones-a-cleaner-future-for-everest-SPACEBAR-Photo03.jpg&w=3840&q=75)
โดรนที่ใช้ในภารกิจครั้งนี้เป็นผลงานของสตาร์ทอัพ Airlift Technology ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการทำแผนที่และการขนส่งด้วยโดรนโดยเฉพาะ แต่ละตัวมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมขนาด 12 กิโลกรัมสองก้อน สามารถขนของได้สูงสุด 25 กิโลกรัมต่อเที่ยว และบินจากเบสแคมป์ไปถึงแคมป์หนึ่งภายใน 10 นาที ซึ่งถือว่าดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการเดินทาง 6 ชั่วโมงของคนนำทางและลูกหาบ หรือเร็วกว่าเส้นทางเดินเท้าถึง 36 เท่า!!
![[object Object]](/_next/image?url=%2Fapi%2Fmedia%2Ffile%2Fsustainability-garbage-collecting-drones-a-cleaner-future-for-everest-SPACEBAR-Photo02.jpg&w=3840&q=75)
ผู้ร่วมก่อตั้ง Airlift Technology เล่าว่า ในอดีตเชอร์ปาต้องแบกของมากมาย ทั้งบันได เชือก และอุปกรณ์กู้ภัยขึ้นไปด้วยตัวเอง แต่จากนี้ไปโดรนจะบินส่งของให้ล่วงหน้า ทำให้ภาระของพวกเขาเบาลงและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งนอกจากขนของ โดรนยังทำหน้าที่ “ขนขยะ” ที่นักปีนเขาทิ้งไว้ตามเส้นทาง และส่งคืนลงมาที่เบสแคมป์ด้วย นับเป็นทางเลือกที่ทั้ง “ถูกกว่า” และ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มากกว่าการใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและปล่อยคาร์บอนสูงกว่าอย่างมาก
จากสถิติปีที่ผ่านมา พบว่าทหารเนปาลต้องใช้เวลากว่า 55 วัน ในการเก็บขยะกว่า 11 ตันจากยอดเอเวอเรสต์และยอดเขาใกล้เคียง โดยมีปริมาณขยะสะสมทั้งหมดนับตั้งแต่ปี 2019 มากถึง 119 ตัน นอกจากนี้ยังพบศพและโครงกระดูกของนักปีนเขาที่เสียชีวิตจากการเดินทางอันหฤโหดบนยอดเขาสูงที่สุดในโลก
แม้เอเวอเรสต์จะสูงเสียดฟ้าแต่ขยะก็สูงตาม วันนี้มนุษย์เริ่มตระหนักว่าเราไม่สามารถปล่อยให้ยอดเขาศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นสุสานของเศษซากพลาสติก เต็นท์ใช้แล้ว หรือถังออกซิเจนเก่าได้อีกต่อไป
ในวันที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีอย่างโดรนมาใช้ในภารกิจที่ยากเย็นและท้าทายเช่นนี้ ถือเป็นอีกก้าวเล็กๆ ที่ทรงพลังของแนวทางความยั่งยืน (Sustainability) เพราะไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงต่อชีวิตมนุษย์ แต่ยังช่วยฟื้นฟูสมดุลให้ธรรมชาติทีละน้อย