เมนู ‘แมลง’ โปรตีนทางเลือกคาร์บอนต่ำจากครัวไทย เลี้ยงง่าย โตไว และรักษ์โลก

17 พ.ค. 2568 - 08:44

  • การเลี้ยงวัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 27–40 kgCO₂ ต่อโปรตีน 1 kg แต่แมลงปล่อยเพียงประมาณ 1 kgCO₂ เท่านั้น

  • โปรตีนแมลงไทย ทางเลือกอาหารยั่งยืนคาร์บอนต่ำที่โลกและอนาคตต้องการ ทางรอดความมั่นคงทางอาหาร

ในวันที่มนุษย์กำลังเผชิญความท้าทายรอบด้านจากภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ การสูญพันธุ์ ความไม่มั่นคงทางอาหาร และทรัพยากรที่ลดน้อยถอยลง คำถามสำคัญที่หลายฝ่ายกำลังขบคิดคือ “เราจะผลิตอาหารอย่างไรให้เพียงพอกับประชาการโลกและยั่งยืนในอนาคต?”

หนึ่งในคำตอบที่เริ่มชัดเจนขึ้นทุกทีอาจไม่ได้อยู่ในแหล่งโปรตีนจากพืช หรือเนื้อสัตว์ในห้องแล็บเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกความหวังอยู่ใน “แมลง” ที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วในครัวไทย ซึ่ง ณ วันนี้โปรตีนจากแมลงคือทางออกที่เป็นไปได้และจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ บนเวทีโลก เพราะไม่เพียงแต่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

 

ทำไมโลก (และไทย) กำลังสนใจโปรตีนแมลง?

ความจริงแล้วต้องบอกว่าแมลงกินได้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่า “แมลง” กำลังโบยบินบนเวทีความยั่งยืนจนกลายเป็น “เทรนด์ยั่งยืนแห่งอนาคต” ที่กำลังมาแรง โดยตลาดโปรตีนแมลงทั่วโลกในปี 2024 มีมูลค่ากว่า 1,350 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะโตเฉลี่ยกว่า 25% ต่อปีไปจนถึง 2030 โดยเฉพาะในรูปแบบโปรตีนผง โปรตีนอัดแท่ง หรือส่วนผสมในอาหารสัตว์ ซึ่งแปรรูปจนแทบไม่เหลือเค้าความเป็นแมลงแบบที่เราคุ้นตา

สำหรับประเทศไทยแม้จะยังมีสัดส่วนการส่งออกน้อยเมื่อเทียบกับผู้นำอย่างสเปน จีน และออสเตรเลีย แต่เราก็อยู่ในอันดับ 6 ของโลก โดยหากดูอัตราการส่งออกหลักไปยังสหรัฐฯ ก็สามารถบ่งชี้ถึงศักยภาพที่ยังเติบโตได้อีกมาก

ประเด็นที่น่าสนใจคือ...ไทยไม่ได้เริ่มจากศูนย์


ในประเทศไทยมีองค์ความรู้พื้นบ้านในการเพาะเลี้ยงแมลงอยู่แล้วจากฟาร์มจิ้งหรีดในอีสาน ถึงการปรุงแมลงเป็นของว่างแบบบ้านๆ ตามท้องตลาด แมลงจึงไม่ใช่แค่อาหาร แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และตอนนี้กำลังกลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

 

แมลงโปรตีนคาร์บอนต่ำ ตัวเลือกที่ยั่งยืน เลี้ยงง่าย โตไว และรักษ์โลก

สิ่งที่ทำให้แมลงเป็นโปรตีนทางเลือกที่น่าจับตา ไม่ได้มีแค่ต้นทุนถูกหรือแปรรูปได้หลากหลาย แต่คือ “ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่ามาก” เมื่อเทียบกับปศุสัตว์ โดยภาคปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 7,100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq) ต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 14.5% ของก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเริ่มปรับพฤติกรรมไปบริโภคโปรตีนจากแมลงทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมเพิ่มขึ้น

การผลิตโปรตีนจากแมลง 1 กิโลกรัม มีการปล่อย GHG เพียง 1 กิโลกรัม CO2eq ซึ่งน้อยกว่าการทำปศุสัตว์ดั้งเดิม 27–40 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณโปรตีนที่ได้รับในจำนวนที่เท่ากัน อีกทั้งการทำฟาร์มแมลงกินได้สามารถเลี้ยงในพื้นที่จำกัด ใช้น้ำ และปริมาณอาหารน้อยกว่าปศุสัตว์อื่นๆ อย่าง วัว-หมู-ไก่ ราว 5-13 เท่า ทำให้หากเทียบเป็นปริมาณโปรตีนที่ได้รับเท่ากัน การทำฟาร์มแมลงจะเป็นทางเลือกที่ต้นทุนทรัพยากรต่ำที่สุดและมีความยั่งยืนกว่ามาก

 

อากาศร้อนคือข้อได้เปรียบ?

ในขณะที่โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหากับการเลี้ยงวัว หมู หรือไก่ ซึ่งเสี่ยงต่อโรคระบาดและผลผลิตลดลง แต่แมลงจำนวนมากกลับเติบโตได้ดีขึ้นในอุณหภูมิที่สูงขึ้น
สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นเขตร้อนและมีแนวโน้มจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต สิ่งนี้จึงนับเป็นข้อได้เปรียบเชิงธรรมชาติที่ไม่ควรมองข้าม

ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ฟาร์มจิ้งหรีดพื้นฐานลงทุนเพียง 45,000–75,000 บาท อาจสร้างรายได้ถึง 260,000 บาทต่อปี หากแปรรูปเป็นโปรตีนผง ซึ่งหากเปรียบเทียบ “กำไรต่อตารางเมตร” แล้ว โปรตีนแมลงให้ผลตอบแทนสูงถึง 9,300 บาทต่อ ตร.ม. เทียบกับโคนมที่ทำได้เพียง 1,500 บาทต่อ ตร.ม.

นี่ไม่ใช่แค่ทางเลือกของเกษตรกร แต่คือโมเดลใหม่ของการผลิตอาหารในอนาคตที่ประหยัดทรัพยากร และตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานรากได้พร้อมกัน


ความท้าทายยังมี แต่โอกาสยิ่งใหญ่กว่านั้น

แม้โปรตีนจากแมลงจะมีข้อดีหลายด้าน แต่ความท้าทายก็ยังมีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่อง “ภาพลักษณ์” และ “การยอมรับของผู้บริโภค” ซึ่งยังเป็นกำแพงสำคัญ แม้วันนี้นวัตกรรมการแปรรูปจะช่วยได้มาก แต่ในระดับการบริโภคทั่วไป แมลงยังไม่ใช่อาหารที่ได้รับความนิยมเทียบเท่าเนื้อสัตว์หรือโปรตีนพืช
นอกจากนี้ การขยายการผลิตในระดับอุตสาหกรรมยังต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร มาตรฐานสุขอนามัย และผลกระทบต่อระบบนิเวศร่วมด้วย

ถึงกระนั้น หากรัฐสามารถสนับสนุนด้านนโยบาย มาตรฐาน และการตลาดควบคู่กันไป พร้อมกับสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคในประเทศมากขึ้น โปรตีนแมลงอาจเป็นมากกว่า “อาหารทางเลือก”
เพราะนี่อาจเป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศไทยในการขับเคลื่อน “ระบบอาหารที่ยั่งยืน” ทั้งในประเทศและระดับโลก


sustainability-low-carbon-alternative-protein-insects-SPACEBAR-Photo01.jpg

โปรตีนจากแมลงตัวเล็กๆ กับเป้าหมายใหญ่ของโลก

หากพิจารณาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งเป็นกรอบเป้าหมายระดับโลกที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของโลก เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เรื่องของแมลงโปรตีนทางเลือกเชื่อมโยงกับเป้าหมายสำคัญหลายข้อ ได้แก่ 

SDG 2: Zero Hunger ขจัดความหิวโหย

แมลงคือแหล่งโปรตีนที่ราคาถูก แต่คุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทหรือประเทศกำลังพัฒนา การเลี้ยงแมลงไม่ต้องใช้ทุนสูง ไม่ต้องมีที่ดินมาก และสามารถเพาะเลี้ยงได้ในระดับครัวเรือน
สิ่งนี้ช่วยเพิ่มโอกาสให้ชุมชนเข้าถึงอาหารที่ดี มีคุณภาพ และปลอดภัยในระยะยาว

SDG 12: Responsible Consumption and Production การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน

เมื่อพูดถึงระบบอาหารในปัจจุบัน หนึ่งในปัญหาใหญ่คือการใช้ทรัพยากรที่มากเกินไปและของเสียจากกระบวนการผลิต แต่โปรตีนจากแมลงสามารถผลิตได้โดยใช้ น้ำ อาหาร และพื้นที่น้อยกว่าปศุสัตว์หลายเท่า
แถมยังแปรรูปและเก็บรักษาได้ง่าย ลดของเสียในห่วงโซ่อาหาร จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

SDG 13: Climate Action การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาคปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นถึง 14.5% ของการปล่อยทั้งหมดในโลก ขณะที่แมลงปล่อยก๊าซในระดับต่ำมาก
การเปลี่ยนมาบริโภคโปรตีนจากแมลงจึงช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของระบบอาหารลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังตอบโจทย์นโยบาย Climate-smart agriculture ที่ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อน

SDG 15: Life on Land อนุรักษ์ระบบนิเวศบนบก

แมลงสามารถเลี้ยงในพื้นที่จำกัด ไม่ต้องใช้ทุ่งหญ้าหรือพื้นที่ป่าอย่างกว้างขวาง ต่างจากการผลิตเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมที่ต้องขยายพื้นที่การเกษตร
การลดการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ย่อมหมายถึงการช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และลดความเสี่ยงต่อการพังทลายของระบบนิเวศที่เปราะบางอยู่แล้ว

SDG 8: Decent Work and Economic Growth เศรษฐกิจและการจ้างงานที่มีคุณภาพ

ฟาร์มแมลงไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ในทางตรงกันข้ามหลายแห่งสามารถเริ่มต้นได้จากระดับครัวเรือน ลงทุนต่ำ สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีศักยภาพขยายสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศ
โปรตีนแมลงจึงไม่ใช่แค่คำตอบของความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของคนตัวเล็กๆ ที่ต้องการเริ่มต้นอาชีพใหม่


เรื่องของ “แมลงกินได้” อาจฟังดูแปลกมากเมื่อทศวรรษก่อน แต่ ณ วันนี้กลับเป็นสิ่งที่น่าสนใจในเวทีโลก ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ “แมลง” อาจเป็นส่วนประกอบในอาหารหลักที่เราต้องกินเพื่อเซฟสิ่งแวดล้อมก็เป็นไปได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์