โลกร้อนกัดกร่อนเมืองชายฝั่ง ‘กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ’ เสี่ยงจมบาดาลปี 2050

2 ก.ค. 2568 - 07:33

  • อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น การทรุดตัวของแผ่นดิน และระดับน้ำทะเลที่พุ่งสูง กำลังเร่งให้ชายฝั่งไทยถอยร่น

  • นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเตือน หากแนวโน้มยังดำเนินต่อไปโดยไม่มีมาตรการรับมืออย่างจริงจัง กรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมถาวรในปี 2050

โลกร้อนกัดกร่อนเมืองชายฝั่ง ‘กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ’ เสี่ยงจมบาดาลปี 2050

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2025-2029 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ค.ศ.1760–1825) ราว 1.2ข1.9 องศาเซลเซียส โดยมีความเป็นไปได้สูงที่โลกจะก้าวข้ามขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการจำกัดภาวะโลกร้อน

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีโลกร้อนเร่งวิกฤตน้ำทะเลกัดเซาะกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ พร้อมวิเคราะห์ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง คือระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 21-24 เซนติเมตร (8-9 นิ้ว) การเพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็ง รวมถึงการขยายตัวของน้ำทะเลเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นโดยระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งขึ้น โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.6 มิลลิเมตรต่อปี

กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ มีการทรุดตัวของแผ่นดินเฉลี่ยประมาณ 1-2 เซนติเมตรต่อปี อย่างไรก็ตาม การทรุดตัวของดินในบางพื้นที่อาจมากกว่านั้นโดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือพื้นที่ที่มีการสูบน้ำบาดาล ปัจจัยที่ทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดินได้ แก่ การสูบน้ำบาดาล การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ การถมดินหรือการอัดแน่นของดินบริเวณฐานรากอาคาร ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการทรุดตัวของดินได้ นอกจากนี้ สภาพพื้นดินเป็นดินเหนียวอ่อนซึ่งเป็นดินที่มีการทรุดตัวได้ง่ายที่สุด

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ระบุ

ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพฯ เฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นประมาณ 5.8 มิลลิเมตรต่อปี ขณะที่มีการทรุดตัวเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 1-2 เซนติเมตร

“วัดขุนสมุทรจีน” ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่ที่มีการกัดเซาะที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย อดีตมีเนื้อที่กว่า 76 ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ไร่ / Sonthi Kotchawat
“วัดขุนสมุทรจีน” ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่ที่มีการกัดเซาะที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย อดีตมีเนื้อที่กว่า 76 ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ไร่ / Sonthi Kotchawat

สิ่งที่ตามมา หากโลกยังประสบปัญหาอุณหภูมิสูงขึ้น และประเทศไทยยังไม่มีการปรับตัวอาจจะทำให้จังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานครถูกน้ำท่วมทั้งหมดในปี 2050 ได้ หลักฐานเห็นได้ชัดคือที่ “วัดขุนสมุทรจีน” ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ กลายเป็นวัดที่อยู่กลางทะเล เป็นพื้นที่ที่มีการกัดเซาะที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย ที่ดินของวัดในอดีตมีเนื้อที่กว่า 76 ไร่ ได้รับบริจาคมาจากชาวบ้านขุนสมุทรจีน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ไร่เท่านั้น เพราะถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนหายไปหมด การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สิบปี กลายเป็นหลักฐานสำคัญของวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่งที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพบว่าพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน โดยเฉพาะเขตจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร กำลังเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและชุมชนที่มีประชากรกว่า 12 ล้านคนอยู่อาศัย ซึ่งบริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ บางขุนเทียน ปากคลองขุนราชพินิจใจ บ้านขุนสมุทรจีน และบ้านแหลมสิงห์ โดยสถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้ธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น คาดว่าในปี  2050 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นราว 0.5 เมตร และอาจสูงถึง 1 เมตรในปี  2100 ขณะที่ในกรณีเลวร้ายที่สุด อาจเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เมตร หากเกิดการล่มสลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก

ภาพการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ณ จังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร / กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ภาพการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ณ จังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร / กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้แก่ การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง การเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีน และบางปะกง รวมถึงการรุกตัวของน้ำเค็ม ซึ่งกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและการเกษตรในวงกว้าง

รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งศึกษาจัดทำ “แผนแม่บทการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยเน้นการวิเคราะห์ผลกระทบในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ เพื่อกำหนดแนวทางการรับมือที่เหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียและความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงจะมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) การรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ การวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนและการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนชายฝั่งในระยะยาวด้วย

ทั้งนี้ แผนแม่บทดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ของปี พ.ศ. 2569 ซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการกำหนดแนวทางการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบนที่เป็นรูปธรรม และนำไปสู่การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

ภาพการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ณ จังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร / กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ภาพการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ณ จังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร / กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

สำหรับทางออกของปัญหานี้จำเป็นต้องมีการปรับตัวเชิงโครงสร้างและเชิงนโยบายควบคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการใช้น้ำบาดาล การฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง เช่น การปลูกป่าชายเลนเพื่อเป็นแนวกันคลื่นธรรมชาติ การวางผังเมืองใหม่ที่คำนึงถึงระดับน้ำทะเลในอนาคต และการเสริมแนวป้องกันน้ำทะเลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องเร่งรัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังในระดับประเทศและภูมิภาค เพื่อชะลออุณหภูมิของโลกไม่ให้ทะลุขีดอันตราย เพราะหากโลกยังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงก็อาจไม่สามารถต้านทานพลังของธรรมชาติที่เปลี่ยนไปได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์