จากวาเลนไทน์สีดำ ของ ‘พญาแร้ง’ สู่ความหวังใหม่ในรอบกว่า 30 ปี

14 กุมภาพันธ์ 2567 - 10:32

The-first-Sarcogyps-calvus-after-30-years-of-extinction- Good-Valentine-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อ่านมิติความหวังของการฟื้นฟูประชากร 'พญาแร้ง' พร้อมถอดบทเรียนการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่กลางป่าห้วยขาแข้ง ที่เกิดขึ้นใน 'วันวาเลนไทน์' เมื่อ 30 ปีก่อน

14 กุมภาพันธ์ของทุกปี เต็มไปด้วยงานรื่นเริงเฉลิมฉลองเนื่องใน ‘วันแห่งความรัก’ แต่รู้หรือไม่ว่า ‘วาเลนไทน์’ ช่วง 30 ปีก่อนกลาง ‘ผืนป่าห้วยขาแข้ง’ เกิดเรื่องสลดจากโศกนาฏกรรมแสนเศร้า ที่น้อยคนนักจะเคยรับรูh

The-first-Sarcogyps-calvus-after-30-years-of-extinction- Good-Valentine-SPACEBAR-Photo02.jpg

โศกนาฏกรรมที่ ‘ผืนป่าไทย’ ต้องสูญเสีย

สารคดีของ ‘พงศกร ปัตตพงษ์’ เรื่อง ‘แร้งไทยในวิกฤต’ ซึ่งบันทึกเรื่องราวระหว่างทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักวิจัยภาคสนาม โครงการวิจัยเพื่อความยั่งยืนของความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย เมื่อปี 2535 โดยช่วงนั้นเขาได้มีโอกาสเก็บรวบรวมข้อมูลและบันทึกพฤติกรรมผ่านภาพถ่าย โดยมี ‘แร้งหัวแดง’ (Red – Headed Vulture) หรือพญาแร้งเป็นพระเอกของเรื่อง มีป่าห้วยขาแข้งเป็นฉากแสดง 

ในบันทึกของพงศกรมีข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องนิเวศพงไพรหลายเรื่อง แต่ที่เห็นจะเป็นประเด็นหลัก คือ เหตุการณ์เศร้าสลดสำหรับวงการอนุรักษ์เมืองไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรักตามปฏิทินสากล ผู้บันทึกกล่าวถึงเหตุการณ์กลางป่าห้วยขาแข้ง ว่าสิ่งที่ได้พบเห็นวันนั้น คือซากเก้งที่ถูกตัดแบ่งครึ่ง ทางหัวหนึ่งชิ้นทางหางอีกหนึ่งชิ้น ซึ่งเก้งเคราะห์ร้ายไร้ชีวิตถูกเจาะด้วยมีดเป็นรูพรุน แต่ละรูถูกบรรจุด้วย ‘ฟูราดาน’ ยาเกล็ดสีม่วงลักษณะคล้ายคลึงกับด่างทับทิม แต่อันตรายกว่าประมาณ 1 ล้านเท่า

วิธีของพรานป่าหัวใสที่หวังล่อเสือโคร่งให้ติดกับลงมากินซากเก้งอาบยาพิษ แล้วสิ้นใจโดยปราศจากการยิงด้วยกระสุนปืน ได้ของสมนาคุณเป็นหนังเสือที่ไร้รอยตำหนิขายราคาสูง แต่เหตุกลับตาลปัตร เมื่อผู้เคราะห์ร้ายหาใช่เจ้าลายพาดกลอน แต่เป็นนกล่าเหยื่อผู้ทำหน้าที่กำจัดซากสัตว์

พงศกรเล่าบรรยากาศผ่านตัวหนังสือระบุถึงบริเวณโดยรอบของซากเก้งนั้น ว่าถูกรายล้อมไปด้วยซากของพญาแร้ง ที่ลงมาทำหน้าที่ของมันคือการกำจัดซากเก้ง กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณจุดเกิดเหตุ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในวันวาเลนไทน์ ปี 2535 ถือเป็นการปิดฉากตำนานนกเทศบาลประจำป่าห้วยขาแข้งฝูงสุดท้ายลงอย่างนิรันดร์กาล...  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ‘ลูกพญาแร้ง’ ตัวแรกในรอบ 30 ปี กับความหวังคืน ‘เทศบาลประจำป่า’ สู่พงไพร )

The-first-Sarcogyps-calvus-after-30-years-of-extinction- Good-Valentine-SPACEBAR-Photo V01.jpg

ความหวังใหม่ที่เกิดขึ้น ‘เดือนกุมภาพันธ์’

แม้จะโศกเศร้าเสียใจมากเพียงใด ประกายความหวังไม่เคยจางหายในแวดวงอนุรักษ์ เพราะแสงสว่างจากปลายอุโมงค์เริ่มชัดขึ้น หลังเครือข่ายอนุรักษ์รวมตัวกันในฐานะ ‘โครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย’ มีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มความหลากหลายในระบบนิเวศโดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่เป็นสัตว์กินซาก (Scavenger) โดยการเพิ่มประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย บริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ และสร้างเครือข่ายด้านการอนุรักษ์แร้งทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งได้มีการนำพญาแร้งในกรงเลี้ยงที่มีอยู่ในประเทศ 6 ตัวที่ขณะนี้ 4 ตัว ถูกดูแลอย่างดีภายในกรงเลี้ยง ณ สวนสัตว์นครราชสีมา และ อีก 2 ตัว อยู่ที่ กรงที่ถูกสร้างขึ้นกลางป่า ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 

ต่อมา เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 มีข่าวดีเผยแพร่สู่สาธารณชน กรณีการถือกำเนิดใหม่ของ ‘พญาแร้ง’ สัตว์ป่าสำคัญที่สูญหายจากป่าเมืองไทยไปแล้วกว่า 30 ปี โดย ‘ลูกพญาแร้ง’ ตัวนี้เกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ของพญาแร้งสองตัว ‘แจ๊ค’ (เพศผู้) และ ‘นุ้ย’ (เพศเมีย) นกล่าเหยื่อที่อยู่ในกรงเลี้ยงภายใต้การดูแลของ สวนสัตว์นครราชสีมา (องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ) โดยก่อนหน้านี้ ‘แม่นุ้ย’ ได้ออกไข่เมื่อวันที่ 17 มกราคม ซึ่งทีมงานได้เก็บรักษาอย่างดีในตู้ฟักไข่เพื่อโอกาสรอดของลูกนก กระทั่งวันที่ 9 มีนาคม พญาแร้งน้อยก็ได้ลืมตาดูโลกเป็นวันแรก

ความคืบหน้าล่าสุด ในฝากฝั่งห้วยขาแข่งหลังจาก ‘ป๊อก’ พญาแร้งเพศผู้จากสวนสัตว์โคราช และ ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมียจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรงฟื้นฟูฯ กลางป่า ร่วมกันราว 2 ปี จนทั้งสองได้เริ่มมีการผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 และมีการผสมพันธุ์หลังจากนั้นอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง

จนถึงวันนี้ 17 ธันวาคม 2566 ทางผู้ดูแลพญาแร้งแจ้งว่า กล้องวงจรปิดได้จับภาพขณะที่พญาแร้งกำลังวางไข่ ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ความหวังก็ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง ‘พญาแร้งฟักไข่ใบแรกกลางป่าห้วยขาแข้ง’ ได้สำเร็จ หลังจากที่รอคอยมานานกว่า 30 ปี โดยระหว่างนี้อยู่ในช่วงการดูแลอย่างประคบประหงมและผลัดกัน โดยพ่อแม่ของพวกมัน 

นี่จึงเป็นสัญญาณดี ที่เกิดขึ้นในแวดวงอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าไทย ที่ ‘ชุบชีวิต’ พญาแร้งกลางผืนป่าที่พวกมันเคยสูญพันธุ์ไปเมื่อ 30 ปีก่อน หวังว่าอนาคตในวันข้างหน้า ธรรมชาติและพงไพรจะครบถ้วนไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมี ‘พญาแร้ง’ เป็น ‘เทศบาลประจำผืนป่า’ คอยทำหน้าที่รักษาสมดุลให้กับธรรมชาติ อย่างที่เคยเป็นมาก่อนตั้งแต่โบร่ำโบราณ

มันคือความสำเร็จน้อยนิด แต่มหาศาลยิ่งนัก…

หมายเหตุ : สนับสนุนการดำเนินงานฟื้นฟูพญาแร้งสามารถบริจาคผ่านบัญชี ‘โครงการพญาแร้งคืนถิ่น’ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5 ใบเสร็จจากการบริจาค สามารถลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์