7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของอังกฤษที่มีมายาวนานเกือบ 1,000 ปี

4 เม.ย. 2566 - 07:00

  • เปิดเรื่องน่ารู้ 7 ประการของ ‘พิธีบรมราชาภิเษกแห่งราชวงศ์อังกฤษ’ ประเพณีศักดิ์สิทธิ์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนานกว่า 9 ศตวรรษ

7-Facts-About-British-Royal-Coronations-SPACEBAR-Thumbnail
นับถอยหลังเพียง 1 เดือนเท่านั้นสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ พระราชพิธีที่แสดงถึงการเสด็จขึ้นสู่บัลลังก์อย่างเป็นทางการของพระมหากษัตริย์อังกฤษ โดยงานนี้เป็นส่วนผสมของพิธีกรรมทางการเมืองและศาสนาที่เต็มไปด้วยความเอิกเกริก ความยิ่งใหญ่ที่มีมาอย่างยาวนาน 

“สถาบันมีอายุมากกว่า 1,000 ปี ด้วยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้นมีการจัดพระราชพิธีอย่างเต็มรูปแบบ โดยพิธีราชาภิเษกเป็นโอกาสสำหรับสถาบันกษัตริย์ที่จะย้ำเตือนทุกคนถึงบทบาทที่ยั่งยืนในอังกฤษและทั่วโลก” อาเรียน เชอร์น็อค ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบอสตันกล่าว 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นกษัตริย์องค์ที่ 40 ที่สวมมงกุฎ ณ มหาวิหารเวสต์มินเตอร์ โดยคาดว่าจะมีแขกมาร่วมงานประมาณ 2,000 คน ซึ่งตรงกันข้ามกับในสมัยควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมีผู้ร่วมงานถึง 8,000 คนด้วยกัน  

ต่อไปนี้เป็นเรื่องน่ารู้ 7 ประการเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของอังกฤษและพิธีกรรมของราชวงศ์ 

1. รายชื่อแขกที่ร่วมงานอาจไม่ใช่สมาชิกราชวงศ์เสมอไป 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4enQIXxoIn082opn583Z0M/9963b4053f248d66dfeee0fba7ea771b/7-Facts-About-British-Royal-Coronations-SPACEBAR-Photo02
Photo: Daniel LEAL / AFP
รายชื่อแขกที่จะเข้าร่วมพิธีราชาภิเษกของอังกฤษประกอบด้วยสมาชิกราชวงศ์และประมุขแห่งรัฐจากทั่วเครือจักรภพและทั่วโลก รวมถึงนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ขุนนางสืบตระกูล ตลอดจนพระสหายของราชวงศ์ 

ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีก็ถูกเปิดเผยเช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ในรายชื่อแขกเหมือนกัน “ในพิธีราชาภิเษกของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 สหภาพโซเวียตเองก็ไม่ได้เข้าร่วมงานในครั้งนั้น เนื่องจากสภาวะสงครามเย็น” เชอร์น็อคกล่าว 

อย่างไรก็ดี การเป็นสมาชิกราชวงศ์ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับคำเชิญเสมอไป ในปี 1821 กษัตริย์จอร์จที่ 4 ก็ทรงห้ามไม่ให้พระราชินีแคโรไลน์ พระมเหสีของพระองค์เองร่วมพิธีราชาภิเษกด้วยเหตุผลที่พระองค์กำลังอยู่ในสภาวะที่จะหย่าร้างกัน  

นอกจากนี้ในปี 1937 ดยุคและดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ (พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และวอลลิส ซิมป์สัน) ซึ่งมีฐานะเป็นพระเชษฐาและพระเชษฐนี (พี่สะใภ้) ของกษัตริย์จอร์จที่ 6 ก็ทรงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยเหตุผลภายในราชวงศ์ แต่คาดว่าเป็นเพราะเรื่องผิดใจกันระหว่างพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และพระเจ้าจอร์จที่ 6 

แล้วรู้หรือไม่ว่า? โดยทั่วไปแล้วพิธีราชาภิเษกจะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์วัย 4 พรรษากลายเป็นพระราชโอรสองค์แรกที่ได้เข้าร่วมพิธีราชาภิเษกของพระราชบิดามารดามาแล้วเมื่อปี 1953 ขณะที่เจ้าหญิงแอนน์ในเวลานั้นยังทรงพระเยาว์เกินไปจึงไม่ได้เข้าร่วม 

สำหรับงานของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าพระราชนัดดาองค์ใดจะได้เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่คาดว่าเจ้าชายจอร์จจะทรงอยู่ที่งานในครั้งนี้ด้วย และแน่นอนว่าหลายคนคงจับตามองว่าดยุกและดัสเชสแห่งซัสเซกซ์ (เจ้าชายแฮร์รีและเมแกน) จะทรงได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีนี้ด้วยหรือไม่? 

2. พราราชพิธีบรมราชาภิเษกแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน 

ในส่วนแรกจะเริ่มต้นที่คำถวายสัตย์สาบาน หรือที่เรียกว่า ‘คำสาบานราชาภิเษก’ กษัตริย์จะต้องถวายคำสัตย์นั้นต่อหน้าราชวงศ์ โดยต้องให้คำมั่นว่าจะปกครองอาณาจักรด้วยกฎหมาย ความยุติธรรม และความเมตตา นอกจากนี้ในปี 1689 นับตั้งแต่มีการผ่านพระราชบัญญัติพิธีราชาภิเษก กษัตริย์ยังต้องให้คำสัตย์สาบานว่าจะสนับสนุนนิกายแองกลิคันโปรเตสแตนต์ด้วย 

ต่อมาขั้นตอนการเจิม พระมหากษัตริย์จะประทับบนพระที่นั่งเก้าอี้ราชาภิเษกหรือที่เรียกว่า ‘บัลลังก์เซนต์เอ็ดเวิร์ด’ จากนั้นอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีผู้เป็นประมุขแห่งคริสตจักรอังกฤษจะทำการเจิมด้วยน้ำมันเจิมศักดิ์สิทธิ์ (ซึ่งมีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยจากงา กุหลาบ มะลิ อบเชย เป็นต้น) ที่พระหัตถ์ พระอุระ และพระเศียร 

“ช่วงเวลานี้จะทำให้กษัตริย์ขึ้นครองราชย์ด้วยความศักดิ์สิทธิ์” แอนดริว วอล์คกิง ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาษาอังกฤษ และการละครแห่งมหาวิทยาลัยบิงแฮมตันกล่าว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/j34zmTCAKGRrPK2CfMqiL/c4135ca590d9e692f2f7c1a27d008277/7-Facts-About-British-Royal-Coronations-SPACEBAR-Photo03
Photo: พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 ณ มหาวิหารเวสต์มินเตอร์ ลอนดอน (Photo: PA / AFP)
ตามมาด้วยการถวายบังคมและสวมมงกุฎเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพิธีราชาภิเษก ได้แก่ ลูกโลกประดับกางเขน พระธํามรงค์ราชาภิเษก คทา และไม้เท้า  

เมื่ออาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีวางมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดบนพระเศียรของกษัตริย์องค์ใหม่ ผู้ร่วมงานจะโห่ร้องว่า ‘God Save the King / Queen’ ขณะที่เสียงระฆังจะดังไปทั่วราชอาณาจักรและเสียงยิงปืนสลุต 62 นัดจากหอคอยแห่งลอนดอน จากนั้นพระมหากษัตริย์จะถูกนำขึ้นสู่พระราชบัลลังก์ 

สำหรับขั้นตอนสุดท้ายเหล่าพระราชวงศ์และขุนนางผู้เข้าร่วมพิธีจะทยอยเข้าเฝ้าถวายความเคารพโดยคุกเข่าลงต่อหน้าพระพักตร์กษัตริย์ / ราชินี ขณะเดียวกัน ขุนนางฝ่ายศาสนจักรอย่าง อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีและบิชอปอื่นๆ ขุนนางฝ่ายอาณาจักร บรรดาเจ้าชาย รวมถึงดยุคองค์อื่นๆ เองก็ให้คำสัตย์สาบานว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์ผู้ปกครององค์ใหม่ด้วยเช่นกัน  

หากกษัตริย์มีพระมเหสี พอหลังจากเสร็จพระราชพิธีก็จะมีการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์และสวมมงกุฎให้กับสมเด็จพระราชินีด้วย 

3. ส่วนของพระราชพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดจะไม่เผยให้สาธารณชนได้ชม 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3GrhKd8GMh8o66LT1v18ze/01230a18df4144e548043b4ae7aa56cd/7-Facts-About-British-Royal-Coronations-SPACEBAR-Photo04
Photo: INTERCONTINENTALE / AFP
เนื่องจากมีความเชื่อกันว่ากษัตริย์อังกฤษปกครองโดยสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจึงเทน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จากพระสถูปทองคำของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เพื่อเจิมกษัตริย์องค์ใหม่แต่ละพระองค์ “ทำให้กษัตริย์หรือราชินีได้รับพระวิญญาณของพระเจ้า” เทรซี บอร์แมน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Crown & Sceptre: ประวัติศาสตร์ใหม่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษกล่าว 

หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘พิธีถวายตัว’ ซึ่งส่วนนี้ของพิธีถือว่าศักดิ์สิทธิ์มากจนเป็นส่วนเดียว และในพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ไม่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ด้วย  

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 กษัตริย์ผู้ปกครองอังกฤษจะได้รับการเจิมโดยใช้ช้อนราชาภิเษก ซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพิธีบรมราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุด 

แล้วรู้หรือไม่? น้ำมันราชาภิเษกถูกทำลายในปี 1941 ระหว่างการทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยน้ำมันราชาภิเษกของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ถูกทำขึ้นจากสูตรในศตวรรษที่ 17 ซึ่งมีน้ำมันมะกอก เมล็ดงา และน้ำหอมที่มีส่วนประกอบของดอกกุหลาบ ดอกส้ม ดอกมะลิ ขี้ฬาร (ambergris) และอบเชย 

4. หนังสือยุคกลาง ‘Liber Regalis’ เป็นคู่มือในพระราชพิธี

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5eNEKnsIsnOy9akcYxYuC6/4ae64838a53a1b0df1d5040ce4675ef0/7-Facts-About-British-Royal-Coronations-SPACEBAR-Photo05
Photo: Wikipedia
‘Liber Regalis’ หรือ ‘หนังสือของราชวงศ์’ ต้นฉบับที่เขียนรายละเอียดลำดับพิธีราชาภิเษก (ซึ่งเป็นพิธีพิเศษที่กษัตริย์หรือราชินีองค์ใหม่จะได้สวมมงกุฎ) เป็นภาษาละตินในปี 1382 และแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1603 สำหรับพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 “พิธีในวันนี้เมื่อปี 1603 อิงจากการแปลเอกสารที่ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 14” วอคกิงกล่าว 

แม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่า Liber Regalis ถูกสร้างขึ้นเพื่อใคร แต่ก็คาดว่ามันถูกสร้างขึ้นก่อนพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ริชาร์ดที่ 2 และราชินีแอนน์แห่งโบฮีเมีย  

พิธีบรมราชาภิเษกประกอบด้วยส่วนต่างๆ พระมหากษัตริย์จะปรากฏตัวต่อหน้าประชาชน (การยอมรับ) ให้คำสัตย์สาบานกับพระเจ้า (คำสาบาน) รับพรด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (การเจิม) และรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ดาบ ลูกโลกประดับกางเขน พระธำมรงค์ราชาภิเษก คทา ไม้เท้า และสวมมงกุฎ (การมอบหมายอำนาจ)  

อย่างไรก็ดี Liber Regalis แสดงให้เราเห็นถึงระเบียบพิธีการของคริสเตียนที่ใช้กันมานานหลายร้อยปี โดยรายละเอียดของพิธีราชาภิเษกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ลำดับพื้นฐานของพิธีคริสเตียนนี้ยังคงเหมือนเดิมดังที่ได้อธิบายไว้ใน Liber Regalis 

5. ‘เวสต์มินเตอร์’ มหาวิหารที่จัดพิธีราชาภิเษกมาเกือบ 1,000 ปีแล้ว 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4GtMOU0El93knUc2oKlooM/c9088b786441d0a15970efb11a182daf/7-Facts-About-British-Royal-Coronations-SPACEBAR-Photo06
Photo: Anthony Devlin / POOL / AFP
มหาวิหารเวสต์มินเตอร์ สถานที่ที่ใช้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตลอดนับตั้งแต่ปี 1066 ในพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ จนปัจจุบันเป็นพิธีทางศาสนาที่จัดในวิหารแห่งนี้ราว 957 ปีแล้ว “มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ไม่ได้มีแค่ประวัติศาสตร์ทางศาสนาหรือราชวงศ์เท่านั้น แต่ยังเคยเป็นบ้านสุสานนักรบนิรนามอีกด้วย” เชอร์น็อค กล่าว 

มหาวิหารดังกล่าวไม่ได้ควบคุมโดยคริสตจักรแห่งอังกฤษ เนื่องจากเป็นวิหาร ‘เฉพาะของราชวงศ์’ หรือคริสตจักรที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของอธิปไตย ดังนั้นจึงไม่ขึ้นอยู่กับบิชอปหรืออาร์คบิชอปคนใดคนหนึ่ง 

ขณะที่วิหารอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกษัตริย์ ได้แก่ วิหารเซนต์จอร์จในพระราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นที่ฝังพระศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 วิหาร ‘Chapel Royal’ ณ พระราชวังฮอลีรูด และวิหารอีกหลายแห่งในลอนดอน 

อย่างไรก็ดี มหาวิหารแห่งนี้เป็นสถานที่จัดพิธีราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์มาแล้วทุกพระองค์ตั้งแต่พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ยกเว้นกษัตริย์อยู่ 2 พระองค์ที่ไม่ได้จัดพระราชพิธีสวมมงกุฎนี้ ได้แก่ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8  

สำหรับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา และทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน 1483 แต่ยังไม่ทันได้เข้าพิธีสวมมงกุฎ พระองค์ก็ถูกปลดและหายตัวสาบสูญไป (คาดว่าอาจถูกปลงพระชนม์) ส่วนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ทรงสละราชบัลลังก์หลังครองราชย์ได้ไม่ถึง 1 ปี เพื่อแต่งงานกับวอลลิส ซิมป์สัน หรือดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ จนเรียกได้ว่าเป็น ‘วิกฤตการณ์สละราชสมบัติ’ 

6. มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2LgFCNwlDlZouNXrFyQs8x/0080b5d55315fbfbd2b5fa1ae90f2336/7-Facts-About-British-Royal-Coronations-SPACEBAR-Photo07
Photo: JACK HILL / POOL / AFP
‘มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St Edward's Crown)’ สร้างขึ้นสำหรับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ในปี 1661 เพื่อใช้ในพิธีราชาภิเษก โดยใช้ทดแทนมงกุฎยุคกลางซึ่งถูกทำลายไปในปี 1649 ช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ 

มงกุฎทองคำแท้สูง 30 เซนติเมตร (12 นิ้ว) หนัก 2.23 กิโลกรัม (4.9 ปอนด์) และประดับด้วยอัญมณีล้ำค่าและกึ่งมีค่า 444 ชิ้น รวมทั้งทับทิม ไพลิน โกเมน และทัวร์มาลีน 

หลังจากปี 1689 ก็ไม่มีกษัตริย์องค์ใดใช้มงกุฎในช่วงศตวรรษที่ 18-19 เป็นเวลานานกว่า 200 ปี จนในปี 1911 มงกุฎก็ได้รับการฟื้นฟูโดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 และยังคงดำเนินการใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กระทั่งในปี 1953 มงกุฎก็ถูกนำมาใช้อีกครั้งในพิธีราชาภิเษกของควีนเอลิซาเบธที่ 2  

ปัจจุบันมงกุฎถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยในหอคอยแห่งลอนดอน และสำหรับพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ พระองค์จะเป็นกษัตริย์องค์ที่ 7 ที่ได้สวมมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด  

นอกจากนี้ พระองค์จะสวมมงกุฎอิมพีเรียลสเตต (Imperial State Crown) ในระหว่างพิธีราชาภิเษกด้วย ซึ่งเป็นมงกุฎที่วางบนโลงพระบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เดิมทีผลิตขึ้นเพื่อพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในปี 1937 แทนที่มงกุฎที่ทำขึ้นสำหรับสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียในปี 1838 และถูกสวมใส่โดยควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในพิธีบรมราชาภิเษก 

แล้วราชินีคามิลลาจะทรงสวมมงกุฎอะไรในพิธีราชาภิเษก? คำตอบคือ ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าราชินีจะได้สวมมงกุฎใด แต่มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะเป็นมงกุฎของควีนเอลิซาเบธที่ 2 หรือมงกุฎของราชินีแอดิเลดปี 1831 หรือจะสวมมงกุฎของราชินีอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก หรือของราชินีแมรีแห่งเท็ค (เจ้าหญิงวิกตอเรีย) 

7. ‘ไก่โคโรเนชัน’ เมนูเฉลิมฉลองพิธีบรมราชาภิเษก 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6jTuirbLTlrkNnqnx6gMM7/f11a0d9e56e7eee99b71a6ea5efba50a/7-Facts-About-British-Royal-Coronations-SPACEBAR-Photo08
Photo: 7-Facts-About-British-Royal-Coronations-SPACEBAR-Photo08.jpg
‘ไก่โคโรเนชัน (Coronation Chicken)’ หรือ ‘Poulet Reine Elizabeth’ ปัจจุบันถูกพัฒนาไปเป็นไส้แซนวิชที่รู้จักกันดี และถูกสร้างสรรค์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1953 โดย คอนสแตนซ์ สปราย นักเขียนด้านอาหารและนักจัดดอกไม้ชาวอังกฤษ และ โรสแมรี ฮูม พ่อครัวจากสถาบัน เลอ กอร์ดอง เบลอ ลอนดอน (Le Cordon Bleu London) 

โดยเป็นเมนูสำหรับแขกต่างประเทศที่เข้าร่วมพิธีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ซึ่งเสิร์ฟเป็นไก่เย็นเนื้อติดกระดูกเคลือบซอสครีมแกงกะหรี่พร้อมสลัดข้าว ถั่วลันเตา พริกเม็ดใหญ่และสมุนไพรรวม  

สำหรับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เมนูนี้ได้มาจาก ‘Jubilee chicken’ ซึ่งเป็นไก่แกงกะหรี่มายองเนสที่รับประทานในงานเฉลิมฉลองครองราชย์ครบรอบ 25 ปีของกษัตริย์จอร์จที่ 5 พระอัยกา (ปู่) ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1935 นอกจากนี้ ยังกลายเป็นเมนูที่ใช้เสิร์ฟในงานเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 50 ปีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2002 อีกด้วย  

อย่างไรก็ดี สำหรับเมนูอาหารที่จะใช้เสิร์ฟแขกในงานราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นั้นยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน จึงมีการคาดเดาไปต่างๆ นานาว่าอาหารจานใดจะถูกเสกขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนี้  

ดูเหมือนว่าพระเจ้าชาร์ลส์จะทรงโปรดสลัดผลไม้ และคาดว่าอาจจะมีเมนูพายดั้งเดิมอย่างพายแลมป์เพรย์ หรือพายปลาไหล ที่เคยใช้เสิร์ฟในงานเฉลิมฉลองครองราชย์ครบรอบ 25 ปีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1977  แต่ในงานของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อาจจะไม่ใช้ปลาแลมป์เพรย์ 

นอกจากนี้แล้ว ในรายละเอียดงานราชาภิเษกยังระบุด้วยว่าจะมีงานเลี้ยง ‘Big Lunch’ ปาร์ตี้ริมถนนและปิกนิกในวันที่ 7 พฤษภาคมเพื่อระดมเงินบริจาคเป็นการกุศล โดยมีการแข่งขันเพื่อให้ประชาชนคิดสูตรอาหารแม้ว่าจะไม่มีผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการจากราชวงศ์ก็ตาม 

และนี่คือเรื่องน่ารู้ 7 ประการเกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกของอังกฤษและพิธีกรรมของราชวงศ์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน แม้จะไม่เหมือนเดิมตามต้นฉบับเป๊ะๆ แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ติดตามเรื่องราวบัลลังก์ราชาภิเษก 700 ปี ได้ที่ลิงก์นี้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/65gYkCB3F6xpvwG5EKJ9EB/136aba04eca8b635fe90360c6d24d3a1/info_7-Facts-About-British-Royal-Coronations__1_

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์