สาร ‘ทริเทียม’ ในน้ำปนเปื้อนที่ญี่ปุ่นกำลังจะปล่อยอันตรายแค่ไหน? ทำไมกำจัดยาก?

6 ก.ค. 2566 - 10:01

  • ‘ทริเทียม’ สารปนเปื้อนในน้ำที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อเทียบกับสารตัวอื่นอาจอันตรายน้อยกว่า แต่หากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากและเป็นเวลานานก็ไม่ดีเหมือนกัน

What-is-tritium-how-much-dangerous-to-humans-and-animals-SPACEBAR-Thumbnail
จากกระแสข่าวที่สำนักงานพลังงานปรมาณูณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้อนุมัติแผนการปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะของญี่ปุ่นลงสู่ทะเล ท่ามกลางความกังวลของประเทศเพื่อนบ้านว่าอาจส่งผลกระทบต่อการปนเปื้อนในอาหารและผลิตภัณฑ์ทางทะเลที่นำเข้ามาจากแดนปลาดิบนี้  

ทำไมหลายๆ ประเทศถึงกังวลนัก ในน้ำที่ปนเปื้อนมีสารอะไรซ่อนอยู่ที่เป็นอันตรายกันแน่? 

หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คงต้องย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีก่อน ในปี 2011 ในเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะระเบิดหลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงและสึนามิทำให้โรงไฟฟ้าชายฝั่งได้รับความเสียหายหนัก ผลที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ แกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ร้อนเกินไป จึงต้องแก้ด้วยการฉีดพ่นน้ำทะเลมากกว่า 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตรบนแกนกลางที่เสียหายเพื่อไม่ให้ความร้อนสูงเกินไป 

และนั่นแหละที่ทำให้น้ำปนเปื้อนไปด้วยธาตุกัมมันตรังสี  64 ชนิด ซึ่งเรียกว่า ‘สารกัมมันตรังสี’ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือ สารที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ ได้แก่ คาร์บอน-14, ไอโอดีน-131, ซีเซียม-137, สตรอนเทียม-90, โคบอลต์-60 และไฮโดรเจน-3 หรือที่เรียกว่า ‘ทริเทียม’ 

นิวไคลด์กัมมันตรังสีเหล่านี้บางส่วนก็มีครึ่งชีวิตที่ค่อนข้างสั้น (เวลาที่สารกัมมันตรังสีสลายตัว) และน่าจะสลายตัวไปแล้วเมื่อ 12 ปีก่อนนับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติ แต่สารตัวอื่นอาจใช้เวลานานกว่านั้นในการสลายตัว ตัวอย่างเช่น คาร์บอน-14 ที่มีครึ่งชีวิตมากกว่า 5,000 ปี 

แต่สารอีกตัวที่น่ากังวลอีกชนิดนั่นก็คือ ‘ทริเทียม’ แม้ว่าครึ่งชีวิตจะแค่ 12.32 ปีก็ตาม แต่เพราะอะไรน่ะหรอ? คำตอบก็คือ ‘มันเป็นสารที่ไม่สามารถกำจัดออกด้วยน้ำปริมาณมากได้ มันสามารถปนอยู่กับน้ำได้’ ซึ่งแก้ไขเพียงแค่การเจือจางให้ต่ำกว่ามาตรฐานของ WHO เท่านั้น 

‘ทริเทียม’ ตัวร้ายคืออะไร?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2IUY1dijiTDdF0E4FDwjjy/c605389e4f94363a7dc9e6c334f50281/What-is-tritium-how-much-dangerous-to-humans-and-animals-SPACEBAR-Photo01
Photo: Jung Yeon-je / AFP
‘ทริเทียม’ (Tritium) เป็นสารกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของไฮโดรเจนซึ่งผลิตขึ้นในชั้นบรรยากาศเมื่อรังสีคอสมิกชนกับโมเลกุลของอากาศ และยังเป็นผลพลอยได้จากการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่มีผลกระทบทางรังสีน้อยที่สุดในบรรดานิวไคลด์รังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในน้ำทะเล  

ทริเทียมมีครึ่งชีวิตกัมมันตภาพรังสี 12.32 ปีซึ่งหมายความว่าสำหรับปริมาณไอโซโทปใดๆ ก็ตามจะมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่จะคงอยู่หลังจากผ่านไป 12.32 ปี เนื่องจากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี 

‘น้ำไตรไทต์ (Tritiated)’ หรือน้ำที่ปนเปื้อนทริเทียมเป็นของเหลวไม่มีสี และมีครึ่งชีวิตค่อนข้างสั้นในร่างกายมนุษย์ 7-14 วัน จากนั้นจะถูกกำจัดออกจากร่างกายด้วยการดื่มน้ำมากๆ 

ทริเทียมจะปล่อยอนุภาคบีตาอ่อนๆ เช่น อิเล็กตรอนด้วยพลังงานเฉลี่ย 5.7 keV (กิโลอิเล็กตรอน-โวลต์) ที่สามารถทะลุผ่านอากาศได้ประมาณ 6.0 มม. ซึ่งไม่สามารถทะลุผ่านผิวหนังมนุษย์เข้าสู่ร่างกายได้ แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากรังสีหากสูดดมหรือกินเข้าไป และจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์หากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเท่านั้น 

แล้วทำไม ‘ทริเทียม’ ถึงกำจัดออกยากล่ะ?

ในทางเทคนิคแล้ว การกำจัดน้ำไตรไทต์ออกจากน้ำเป็นเรื่องยากมาก เพราะ ทริเทียมเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจน และน้ำที่มีทริเทียมปนเปื้อนอยู่ก็มีคุณลักษณะทางเคมีเกือบจะเหมือนกับน้ำที่มีไฮโดรเจนธรรมดา (น้ำไม่มีสี มันคล้ายกับน้ำปกติมากๆ) 

แม้จะมีเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดทริเทียมที่มีความเข้มข้นสูงในน้ำปริมาณเล็กน้อยได้ เช่น ที่โรงงานนิวเคลียร์ฟิวชัน แต่ทว่าน้ำที่เก็บไว้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนั้นมีความเข้มข้นของทริเทียมต่ำในน้ำปริมาณมาก ดังนั้นเทคโนโลยีที่มีอยู่จึงไม่สามารถใช้ได้ 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่ทั่วโลกจะปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วเป็นประจำและปลอดภัย โดยมีทริเทียมและนิวไคลด์กัมมันตรังสีในระดับต่ำสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามปกติ 

ขณะที่มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับทริเทียมคือ 10,000 เบคเคอเรล (Bq) ต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าความเข้มข้นของน้ำที่ปล่อยออกมาที่ฟุกุชิมะตามแผนหลายเท่า 

เมื่อ ‘ทริเทียม’ ปนเปื้อนในน้ำ ‘อันตราย’ หรือเปล่า?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7scm3TxR2Sxw2MI1cM9K2c/1d7320d75a1494dc60e9c15d81db80e7/What-is-tritium-how-much-dangerous-to-humans-and-animals-SPACEBAR-Photo02
Photo: Jung Yeon-je / AFP
หากถามว่า ‘น้ำที่ปนเปื้อนทริเทียม’ อยู่อันตรายหรือเปล่า? คำตอบที่ได้กลับแตกเป็น 2 เสียง! 

อันตราย VS ปลอดภัย???

เมื่อถามว่า ‘การปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากฟุกุชิมะนั้นปลอดภัยทั้งต่อมหาสมุทรและสุขภาพมนุษย์ รวมถึงชาวประมงหรือไม่?’ โรเบิร์ต ริชมอนด์ นักชีววิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยฮาวายตอบว่า “ไม่” และกล่าวเสริมว่า “เราได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจากบริษัทสาธารณูปโภคไฟฟ้า (TEPCO) และรัฐบาลญี่ปุ่น พร้อมทั้งไปที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะมาแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบเกี่ยวกับทรัเทียมและคาร์บอน-14”

ขณะที่ TEPCO กล่าวว่า “การประมงไม่ได้ออกหาปลาเป็นประจำในพื้นที่ภายใน 3 กิโลเมตรจากจุดที่ปล่อยน้ำ แต่ ริชมอนด์ก็กังวลว่า ทริเทียมอาจมีความเข้มข้นในสายใยอาหาร (ห่วงโซ่อาหาร) เนื่องจากสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่จะกินสิ่งปนเปื้อนที่มีขนาดเล็กกว่า “แนวคิดของการเจือจางเป็นวิธีแก้ปัญหามลพิษได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นเท็จ คุณสมบัติทางเคมีของการเจือจางนั้นถูกตัดทอนโดยชีววิทยาของมหาสมุทร” 

ในทางตรงกันข้ามนั้น จิม สมิธ นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ สหราชอาณาจักร กลับบอกว่า “ความเสี่ยงของการปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ฟุกุชิมะนั้นอาจจะมีผลต่อประเทศต่างๆ รอบมหาสมุทรแปซิฟิกเล็กน้อย…ผมมักจะลังเลที่จะพูดว่าอันตรายเป็น 0 แต่ก็เกือบจะเป็น 0” 

“แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นจากการเก็บน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไว้ในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้งหรือพายุไต้ฝุ่นที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของถังน้ำมันนั้นอาจจะมีมาก” 

แล้วส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ยังไง?

ว่ากันว่าทริเทียมจะปล่อยรังสีบีตาซึ่งมีพลังงานอ่อนๆ โดยจะผ่านเข้าสู่ร่างกายด้วยการสูดดมและการดื่ม หรือทานอาหารที่ปนเปื้อนสารเข้าไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์นั้นมีน้อยมากเมื่อเทียบกับกัมมันตรังสีซีเซียม แต่ถ้าได้รับสารมากเกินไปและเป็นเวลานานก็ไม่ดีต่อร่างกายเหมือนกัน เนื่องจากมันจะไปสะสมในร่างกายซึ่งอาจเป็นสารก่อมะเร็งในระดับสูงได้ 

ตามรายงานของคณะกรรมการความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของแคนาดาระบุว่า มนุษย์จะต้องได้รับสารจากการดื่มหรือกินไปประมาณหลายพันล้านเบคเคอเรล (หน่วยวัดกัมมันตภาพรังสี) ก่อนที่จะเห็นผลเสียต่อสุขภาพ 

สรุปง่ายๆ ก็คือ มันอันตรายนั่นแหละ แค่ผลกระทบน้อยกว่าซีเซียมเท่านั้นเอง 

อ่านข่าวเพิ่มเติม  

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์