5 ฮีโร่สัตว์ผู้พิทักษ์! ต่อสู้วิกฤต ‘Climate Change’ ลดผลกระทบจากโลกร้อน

26 ธ.ค. 2567 - 00:00

  • รู้หรือไม่ว่าเพื่อนร่วมโลกของเราอย่าง ‘สัตว์ป่า’ และ ‘สัตว์ทะเล’ ที่นอกจากจะช่วยสร้างสมดุลในระบบนิเวศแล้ว บางชนิดยังทำหน้าที่เป็นฮีโร่ต่อสู้กับโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอีกด้วย

  • แต่หลายคนอาจจะงงว่าสัตว์เหล่านี้จะช่วยพิทักษ์โลกได้อย่างไร? ว่าแต่ว่า ฮีโร่เหล่านี้มีสัตว์ชนิดไหนกันบ้าง?

animals-can-help-fight-climate-change-SPACEBAR-Hero.jpg

รู้หรือไม่ว่าเพื่อนร่วมโลกของเราอย่าง ‘สัตว์ป่า’ และ ‘สัตว์ทะเล’ ที่นอกจากจะช่วยสร้างสมดุลในระบบนิเวศแล้ว บางชนิดยังทำหน้าที่เป็นฮีโร่ต่อสู้กับโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอีกด้วย แต่หลายคนอาจจะงงว่าสัตว์เหล่านี้จะช่วยพิทักษ์โลกได้อย่างไร? 

ในความเป็นจริงก็คือ ‘พฤติกรรมการใช้ชีวิตตามธรรมชาติ’ ของสัตว์เหล่านี้ต่างหากที่มีส่วนช่วยโลกลดความรุนแรงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ว่าแต่ว่า ฮีโร่เหล่านี้มีสัตว์ชนิดไหนกันบ้าง? 

-ช้างป่าแอฟริกัน : ชาวสวนแห่งคองโก-

‘ช้างป่าแอฟริกา’ หรือ ‘ชาวสวนแห่งคองโก’ เป็นช้างที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาช้างป่าทั้ง 3 สายพันธุ์ อาศัยอยู่ในป่าฝนคองโก ช้างป่าแอฟริกาชอบต้นไม้ที่มีรสชาติดีและเติบโตเร็ว พวกมันจะดึงต้นไม้เหล่านี้ออกจากดินตั้งแต่ต้นไม้ยังค่อนข้างเล็ก และในขณะที่พวกมันควานหาเมล็ดพืช ผลไม้ หรือใบไม้ พวกมันก็เดินจะเหยียบย่ำพุ่มไม้ที่เติบโตเร็ว ซึ่งช่วยให้ต้นไม้ที่เติบโตช้าสามารถเติบโตได้ดี 

ด้วยเหตุนี้ ป่าที่มีช้างจึง ‘มีต้นไม้น้อยกว่า’ ป่าที่ไม่มีช้าง ป่าดังกล่าวอาจดูเหมือนว่ากักเก็บคาร์บอนได้น้อยกว่า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น นอกจากนี้ ช้างป่าแอฟริกาแต่ละตัวช่วยดักจับคาร์บอนได้มากกว่า 9,000 ตันตลอดช่วงชีวิตของพวกมัน 

อีกทั้ง ช้างป่าแอฟริกายังช่วยเร่งการเติบโตของต้นไม้ขนาดใหญ่ด้วยการกินต้นไม้ที่โตเร็ว ต้นไม้เหล่านี้จะดูดซับคาร์บอนออกจากอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ ต้นไม้ที่โตช้าจะสร้างเนื้อไม้ที่แข็งแรงและหนาแน่นกว่า นั่นหมายความว่าต้นไม้เหล่านี้จะกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้ที่เติบโตเร็วต่อหน่วยปริมาตร 

-นากทะเล : ผู้พิทักษ์ป่าสาหร่ายทะเล-

‘นากทะเล’ ได้ชื่อว่าเป็น ‘ผู้พิทักษ์ป่าสาหร่ายใต้น้ำ’ เนื่องจากนากทะเลเป็นผู้ล่าหลักสำคัญและคอยควบคุมประชากรเม่นทะเลที่คอยกินสาหร่ายทะเล หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เม่นทะเลจะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และกินสาหร่ายทะเลจนหมดทั้งแปลง 

ป่าสาหร่ายทะเลเป็นพืชที่ช่วยดูดซับคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดชนิดหนึ่ง อีกทั้งยังมีรสชาติดีเป็นพิเศษ ทำให้กลายเป็นแหล่งอาหารอันโอชะของเม่นทะเล 

การศึกษาวิจัยพบว่าป่าสาหร่ายทะเลที่มีนากทะเลคอยปกป้องนั้น จะสามารถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าป่าสาหร่ายทะเลที่ไม่มีนากทะเลถึง 12 เท่า 

-วาฬ : สัตว์ทะเลผู้แก้ไขสภาพอากาศใต้ท้องทะเลลึก-

‘วาฬ’ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งแต่ละตัวสามารถดูดซับคาร์บอนได้โดยเฉลี่ย 33 ตันตลอดช่วงชีวิตของมัน เมื่อวาฬตาย ซากของมันจะตกลงสู่ก้นมหาสมุทรและอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายศตวรรษ ทำให้คาร์บอนที่สะสมไว้ไม่หลุดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ  

คาร์บอนส่วนใหญ่ที่ดูดซับไว้จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในอากาศในภายหลัง แต่บางส่วนจะจมลงใต้มหาสมุทรลึก หากว่าเศษซากที่มีคาร์บอนสูงจมลงไปลึกมากพอ ก็จะลึกเกินกว่าที่พายุ กระแสน้ำ หรือสิ่งอื่นๆ จะมาผสมกัน 

แม้แต่มูลของวาฬก็ยังมีประโยชน์! มูลของพวกมันเป็นปุ๋ยอุดมไปด้วยสารอาหารที่แพลงก์ตอนพืชต้องการ ซึ่งดึงคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศจำนวน 10 กิกะตันลงสู่มหาสมุทรลึกทุกปี “ปุ๋ยส่วนใหญ่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ...สิ่งที่วาฬเหล่านี้ทำอยู่ ก็คือการเพิ่มปุ๋ยให้กับทะเล” ไฮดี เพียร์สัน นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยอลาสกาเซาท์อีสต์ในเมืองจูโน กล่าว 

สารอาหารเหล่านี้ช่วยให้แพลงก์ตอนพืชเติบโตและเพิ่มจำนวนได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น แพลงก์ตอนพืชก็จะช่วยดูดคาร์บอนออกจากอากาศได้มากขึ้น 

แต่น่าเสียดายที่ประชากรวาฬลดลงอย่างมากเนื่องจากมลพิษและการล่า หากประชากรวาฬกลับมาอยู่ที่ราวๆ 4-5 ล้านตัว จะสามารถดักจับคาร์บอนได้มากถึง 1.7 พันล้านตันต่อปี 

-สมเสร็จ : นักฟื้นฟูป่าฝน-

‘สมเสร็จ’ สัตว์ป่าน่ารักที่มีร่างกายคล้ายหมู แต่จมูกมีงวงสั้นคล้ายช้าง แม้รูปลักษณ์อาจดูแปลกๆ แต่พวกมันมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ป่าฝนที่เสื่อมโทรมกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจากพฤติกรรมการกินของพวกมันเองนี่แหละ เพราะหลังจากที่พวกมันกินผลไม้หลากหลายชนิด พวกมันจะทิ้งเมล็ดไว้ในมูล จากนั้นเมล็ดเหล่านี้ก็จะงอกงาม และเติบโตต่อไป  

การศึกษาวิจัยพบว่า สมเสร็จจะช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่เสื่อมโทรมมากกว่าในป่าถึง 3 เท่า การฟื้นตัวตามธรรมชาตินี้ถือเป็นหนึ่งในวิธีฟื้นฟูป่าเขตร้อนที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด 

นักวิจัยเผยว่า เมล็ดพันธุ์ 24 สายพันธุ์ที่อยู่ในมูลของสมเสร็จนั้น ส่วนใหญ่จะเติบโตเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ในป่าที่ช่วยดูดซับคาร์บอนชะลอภาวะโลกร้อน 

-อีคิดนา : ตัวกินมดหนามนักขุดดินชั้นดีช่วยดักจับคาร์บอน-

‘อีคิดนา’ หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘ตัวกินมดหนาม’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลเดียวกับตุ่นปากเป็ด มีขนาดเท่าแมว จมูกยาวแคบ มีถุงคล้ายจิงโจ้ และมีหนามปกคลุมร่างกายตั้งแต่คอถึงหาง พวกมันมีนิสัยชอบขุดดินเป็นชีวิตจิตใจ ทั้งขุดหลุมและโยนดินเป็นกองๆ เพื่อหาอาหาร แถมหลุมเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญในการป้องกันไม่ให้คาร์บอนไดออกไซด์ลอยอยู่ในอากาศ ทำให้อีคิดนาเป็นหนึ่งในสัตว์หลายชนิดที่ช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

อีคิดนาใช้กรงเล็บทรงพลังขุดหาปลวกและมดได้ ทั้งใบไม้ร่วง เมล็ดพืช แมลงที่ตายแล้ว และสารอินทรีย์อื่นๆ จะสะสมอยู่ในหลุมที่อีคิดนาขุดไว้ทำให้สารเหล่านี้สัมผัสกับจุลินทรีย์ในดิน “จุลินทรีย์จะย่อยสลายสารอินทรีย์และรวมคาร์บอนเข้าไปในดิน ซึ่งจะช่วยสร้างคาร์บอนในดิน” เดวิด เอลดริดจ์ นักวิทยาศาสตร์ระบบนิเวศจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าว 

หากไม่มีหลุมของอีคิดนา แสงแดดจะย่อยสลายสารอินทรีย์และปล่อยคาร์บอนไดออกไซค์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ 

หลุมเหล่านี้สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและการดูดซับคาร์บอนได้ ใบไม้ที่ร่วงหล่นจะถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ยหมักและปล่อยสารอาหาร พื้นดินที่แตกยังช่วยให้น้ำซึมเข้าไปในดินที่อัดแน่น ทำให้เมล็ดพืชงอกได้ง่ายขึ้นด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์