อินเดียแซงหน้าสหรัฐฯ ‘จันทรายาน-3’ จอดขั้วใต้ดวงจันทร์สำเร็จชาติแรกของโลก!

24 สิงหาคม 2566 - 03:15

chandrayaan-3-india-historic-landing-near-moons-south-pole-SPACEBAR-Thumbnail
  • ความสำเร็จของยานภารกิจอินเดียนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ยานอวกาศลูนา-25 (Luna-25) ของรัสเซียสูญเสียการควบคุมและชนเข้ากับดวงจันทร์

  • ในอีกไม่กี่ชั่วโมง เมื่อฝุ่นจางลงแล้ว ยานโรเวอร์ 6 ล้อจะออกสำรวจรอบๆ โขดหินและหลุมอุกกาบาตบนพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อรวบรวมข้อมูลและภาพสำคัญก่อนจะส่งมายังโลก

หลังจากประสบความสำเร็จในการส่งยานภารกิจ ‘จันทรายาน-3’ ขึ้นสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง พร้อมทั้งอวดภาพบนผิวดวงจันทร์ชุดแรกส่งตรงกลับมายังโลกเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อ่านข่าวเพิ่มเติม ‘อินเดียไปดวงจันทร์แล้ว! โชว์ภาพถ่ายผิวดวงจันทร์ชุดแรก ลุ้นลงจอด’ 
 
และก็เป็นไปตามคาด เมื่อ ‘ยานภารกิจสามารถลงจอดบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก’ ในวันพุธ (23 ส.ค.) ที่ผ่านมา เวลา 18.04 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) อีกทั้งยังเป็นชาติที่ 4 รองจาก สหรัฐฯ รัสเซีย และจีนในการลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จด้วย 
 
สำหรับการลงจอดนั้น ยานลงจอด ‘วิกรม’ (Vikram) ซึ่งบรรทุกโรเวอร์สำรวจ ‘Pragyaan’ น้ำหนัก 26 กิโลกรัม ค่อยๆ ลดความเร็วจาก 1.68 กม. ต่อวินาที จนเกือบเป็น 0 จึงทำให้ยานภารกิจสามารถลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้อย่างนุ่มนวล 
 
นักวิทยาศาสตร์เผยว่า ในอีกไม่กี่ชั่วโมง เมื่อฝุ่นจางลงแล้ว ยานโรเวอร์ 6 ล้อจะออกสำรวจรอบๆ โขดหินและหลุมอุกกาบาตบนพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อรวบรวมข้อมูลและภาพสำคัญก่อนจะส่งมายังโลก
ท่ามกลางความปลื้มปีติและการเฉลิมฉลองทั่วประเทศ “ตอนนี้อินเดียอยู่บนดวงจันทร์แล้ว…เราได้ไปถึงจุดที่ประเทศอื่นไม่สามารถทำได้แล้ว มันเป็นโอกาสที่น่ายินดี” นเรนทระ โมที นายกฯ อินเดียกล่าว 
 
ขณะที่ ศรีธาระ โสมานาถ หัวหน้าองค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) เผยว่า “การลงจอดสำเร็จนั้นไม่ใช่งานของเราเพียงลำพัง แต่เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อรุ่นของ ISRO”  
 
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของยานภารกิจอินเดียนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ยานอวกาศลูนา-25 (Luna-25) ของรัสเซียสูญเสียการควบคุมและชนเข้ากับดวงจันทร์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการย้ำถึงความยากลำบากในการลงจอดบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ ซึ่งมีพื้นผิว ‘ไม่เรียบมาก และ ‘เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตและก้อนหิน’ ทั้งนี้ อินเดียเคยล้มเหลวมาแล้วในภารกิจ ‘จันทรายาน-2’ สำหรับการลงจอดเมื่อปี 2019 

ภารกิจต่อไปของอินเดีย… 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/MYZfhjeIbsNtKuzo8FCzZ/3f67dc6c1619b5b74d62fa23ecdadb67/chandrayaan-3-india-historic-landing-near-moons-south-pole-SPACEBAR-Photo01
เป้าหมายหลักประการหนึ่งของภารกิจคือ ‘การตามล่าหาน้ำแข็งที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ’ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามันจะสามารถรองรับการอยู่อาศัยของมนุษย์บนดวงจันทร์ได้ในอนาคต นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อขับเคลื่อนจรวดสำหรับยานอวกาศที่มุ่งหน้าไปดาวอังคารและจุดหมายปลายทางอื่นๆ ที่ห่างไกลได้อีกด้วย โดยพื้นผิวที่ยังคงอยู่ในเงามืดตลอดกาล (permanent shadow) นั้นมีขนาดใหญ่มากและสามารถกักเก็บน้ำแข็งไว้ได้ 
 
สำหรับยานลงจอดและโรเวอร์สำรวจจะทำหน้าที่สำรวจลักษณะทางกายภาพบนพื้นผิวดวงจันทร์ บรรยากาศใกล้กับพื้นผิว และการแปรสัณฐานธรณีภาคเพื่อศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นใต้พื้นผิว นอกจากนี้ ในล้อของโรเวอร์สำรวจซึ่งมีโลโก้และสัญลักษณ์ ISRO ปรากฏอยู่ยังทิ้งรอยประทับไว้บนพื้นดินบนดวงจันทร์ในระหว่างการสำรวจอีกด้วย  
 
ทั้งนี้ จันทรายาน-3 ถือเป็นภารกิจบนดวงจันทร์ครั้งที่ 3 ของอินเดียที่จะทำงานต่อยอดความสำเร็จของภารกิจสำรวจดวงจันทร์ก่อนหน้านี้ (จันทรายาน-1 (2008) และ จันทรายาน-2 (2019)) “ภารกิจนี้จะช่วยสร้างการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญมาก” เจ้าหน้าที่ ISRO กล่าว 
 
อินเดียไม่ใช่ประเทศเดียวที่เฝ้าจับตาดูดวงจันทร์ แต่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจดวงจันทร์มากขึ้น และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีภารกิจอื่นๆ อีกมากมายที่มุ่งหน้าสู่พื้นผิวดวงจันทร์ โดยนักวิทยาศาสตร์บอกว่า “ยังมีอะไรอีกมากมายที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับดวงจันทร์ซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็น ‘ประตูสู่ห้วงอวกาศ’” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์