อากาศร้อนจนโกรธและสิ้นหวัง ! นักวิทย์เกินครึ่งคาดอุณหภูมิโลกจะพุ่งเกิน 2.5 องศา ฯ

10 พ.ค. 2567 - 09:21

  • นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศระดับโลกจำนวนมาก ใน IPCC คาดว่าอุณหภูมิโลกจะพุ่งสูงเกิน 2.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้โลกย่ำแย่ ทั้งอดอยาก ขัดแย้ง อพยพมหาศาลจากภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นกว่าที่เคยเป็น

  • พวกเขารู้สึกสิ้นหวัง โกรธ และกลัว จากความล้มเหลวของรัฐบาลที่ต้องลงมือทำต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Climate-scientists-expect-global-temperature-to-past-1.5-degree-celsius-SPACEBAR-Hero.jpg

ขณะที่ทั่วโลกพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมตามข้อตกลงปารีส เพราะเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดหายนะอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติและโลกใบนี้ แต่อุณหภูมิในปีที่แล้วได้ทำลายสถิติ และปีนี้มีแนวโน้มจะทำลายสถิติใหม่อีก พร้อมทั้งเกิดภัยพิบัติหนักขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลก จนประเมินกันว่าอุณหภูมิโลกจะแตะ 1.5 องศาเซลเซียสเร็ว ๆ นี้ หลังปรากฏให้เห็นในบางเดือนแล้ว และช่วงระยะ 12 เดือนจากปี 2023 ถึงมกราคม 2024 พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก แม้เป็นช่วงเวลาเพียงหนึ่งปียังไม่นับว่าเกินที่จำกัดในข้อตกลงปารีสที่นับเกณฑ์ระยะยาว  

แต่ข่าวร้ายก็คือ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศชั้นนำของโลกนับร้อยคนคาดว่า อุณหภูมิโลกจะสูงเกิน 2.5 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ จากการเปิดเผยผลสำรวจโดยสำนักข่าว The Guardian 

 77 % ของผู้ตอบแบบสำรวจ ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือ IPCC คาดการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้นอย่างน้อย 2.5 องศาเซลเซียส 

ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งคาดว่าจะสูงขึ้นอย่างน้อย 3 องศาเซลเซียส และมีเพียง 6 % ที่คิดว่าสามารถจำกัดให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงได้ 

นักวิทยาศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่าอนาคตจะเป็นโลก ‘กึ่งดิสโทเปีย’ (ดิสโทเปียหมายถึงชุมชนหรือสังคมที่เลวร้ายอย่างมาก และน่าหวาดกลัว) โดยจะมีความอดอยาก ความขัดแย้งและการอพยพมหาศาล ซึ่งเกิดจากคลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วมและพายุที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากกว่าที่เคยเกิดขึ้น

Climate-scientists-expect-global-temperature-to-past-1.5-degree-celsius-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ชาวบ้านประสบกับน้ำท่วมในนครการาจี ปากีสถาน ปี 2020

ผู้เชี่ยวชาญมากมายกล่าวว่าพวกเขาเหลือแต่ความรู้สึกสิ้นหวัง โกรธ และกลัว จากความล้มเหลวของรัฐบาลที่ต้องลงมือทำ แม้จะได้เสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนไปแล้วก็ตาม 

เกร็ตตา เพค แห่งมหาวิทยาลัยแทสมาเนีย ออสเตรเลีย กล่าวว่า “ฉันคิดว่าพวกเรากำลังมุ่งหน้าไปสู่การหยุดชะงักของสังคมอย่างมากภายใน 5 ปี และจะต้องประสบกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งจะทำให้การผลิตอาหารหยุดชะงัก ฉันคงไม่รู้สึกสิ้นหวังไปมากกว่านี้ต่ออนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น”  

แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็กล่าวว่าการต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศยังต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าอุณหภูมิโลกได้สูงขึ้นแล้ว เพราะทุกเลขเศษอุณหภูมิแม้เล็กน้อยที่หลีกเลี่ยงได้ก็จะลดความทรมานของมนุษย์ได้ 

ปีเตอร์ คอกซ์ แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่เป็นอันตรายทันทีที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งมันขึ้นไปถึงแล้ว และมันจะไม่ ‘จบเห่’ ถ้าถึง 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเราอาจทำได้ดี” 

ในการสำรวจนี้ The Guardian ได้ติดต่อนักเขียนหรือบรรณาธิการที่เขียนรีวิวรายงานของ IPCC ตั้งแต่ปี 2018 โดยตอบกลับเกือบครึ่ง จำนวน 380 คนจาก 843 คน  

รายงานของ IPCC นับว่าเป็นการประเมินเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีมาตรฐานอย่างมาก ซึ่งได้รับการเห็นชอบโดยรัฐบาลทั้งหมดและจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์และสังคม  

ผลสรุปแสดงว่าผู้คนที่มีความรู้ที่สุดจำนวนมากบนโลกคาดการณ์ว่าความหายนะจากสภาพภูมิอากาศจะเกิดขึ้นในไม่กี่ทศวรรษที่กำลังมาถึง 

วิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตและการดำรงชีวิตทั่วทุกมุมโลก ด้วยอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นโดยเฉลี่ยเพียง 1.2 องศาเซลเซียสในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

“นี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้น : คาดเข็มขัดนิรภัยเลย”

เจสส์ คีแนน แห่งมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐฯ กล่าว

ด้าน นาตาลี ฮิลมี แห่งศูนย์วิทยาศาสตร์โมนาโก ซึ่งคาดว่าอุณหภูมิจะสูงเกิน 3 องศาเซลเซียส กล่าวว่า “เราไม่สามารถอยู่ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส” 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเตรียมการที่แน่นหนาในการป้องกันผู้คนจากภัยพิบัติสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายที่สุดที่กำลังเข้ามา เวลานี้ยังวิกฤต

Climate-scientists-expect-global-temperature-to-past-1.5-degree-celsius-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ผู้คนออกมาประท้วงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ในบรัสเซลส์ เบลเยียมระหว่างการประชุม COP28 ที่จัดขึ้นในดูไบ

เป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสถูกนำมาใช้ในการป้องกันความเลวร้ายสุดที่จะเกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และดูเหมือนจะเป็นดาวนำทางที่สำคัญสำหรับการเจรจาระดับสากล โดยนโยบายเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันหมายความว่าโลกกำลังอยู่บนเส้นทางที่จะไปถึง 2.7 องศาเซลเซียสได้ และการสำรวจนี้ได้แสดงให้เห็นว่ามีผู้เชี่ยวชาญของ IPCC เพียงน้อยนิดที่คาดว่าโลกจะมีการกระทำที่ยิ่งใหญ่เพื่อทำให้อุณหภูมิลดลง

นักวิทยาศาสตร์อายุไม่มากคาดการณ์โดยมองในแง่ร้ายมากกว่า คือ 52 % ของผู้ตอบที่อายุต่ำกว่า 50 ปี คาดว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างน้อย 3 องศาเซลเซียส เทียบกับ 38 % ที่ตอบโดยผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี  

ส่วนนักวิทยาศาสตร์ผู้หญิงไร้ความหวังมากกว่าผู้ชาย โดย 49 % ที่คิดว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอย่างน้อย 3 องศาเซลเซียส เทียบกับ 38 % ขณะที่มีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่มาจากต่างทวีป  

ผู้เชี่ยวชาญมีความใสสะอาดในการที่จะบอกว่าทำไมโลกถึงล้มเหลวในการจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยผู้ตอบเกือบสามในสี่ไม่กล่าวอ้างเกี่ยวกับการเมือง ขณะที่ 60 % ยังถูกกล่าวหาว่าอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ขององค์กร เช่น อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล 

หลายคนยังกล่าวถึงความไม่เท่าเทียม และความล้มเหลวของโลกร่ำรวยในการช่วยเหลือผู้ยากจน ซึ่งทุกข์ทรมานมากที่สุดจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ

“ฉันคาดว่าอนาคตสังคมกึ่งดิสโทเปียที่มีความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นกับผู้คนในโลกทางใต้...การตอบสนองของโลกจนถึงทุกวันนี้เป็นสิ่งที่น่าประณาม - เราอยู่ในยุคของความโง่”

นักวิทยาศาสตร์ชาวแอฟริกาใต้ซึ่งไม่ขอออกนาม กล่าว

ประมาณหนึ่งในสี่ของผู้เชี่ยวชาญ IPCC ซึ่งตอบแบบสอบถามคิดว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นไปจนถึง 2 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า แม้ว่าพวกเขามีความหวังน้อยลง 

เฮนรี นิวเฟลด์ แห่งศูนย์ภูมิอากาศโคเปนเฮเกน (Copenhagen Climate Centre) ของสหประชาชาติ กล่าวว่า “ผมคิดว่าพวกเราต้องการทางออกสำหรับ 1.5 องศาเซลเซียส และเราจะทำให้สำเร็จในอีก 20 ปีที่กำลังมาถึง แต่ผมกลัวว่าการกระทำของพวกเราจะสายเกินไป และพวกเราก้าวข้าม หนึ่งหรือหลายจุดพลิกผัน”  

ลิซา ชิปเปอร์ แห่งมหาวิทยาลัยบอน เยอรมนี กล่าวว่า “ในฐานะนักการศึกษา แหล่งความหวังเดียวของฉันคือความจริงที่ว่าฉันสามารถเห็นคนรุ่นใหม่ฉลาดมากและมีความเข้าใจการเมือง”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์