ทีมภารกิจ ‘CHAPEA’ เล่าประสบการณ์ “1 ปีบนดาวอังคารจำลองบางครั้งน่าเบื่อ”

31 ก.ค. 2567 - 06:30

  • สำหรับเป้าหมายหลักของภารกิจ 378 วันในครั้งนี้ คือ มนุษย์จะตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมและความท้าทายของการใช้ชีวิตบนดาวอังคารได้อย่างไร รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพของลูกเรือด้วย

  • เคลลี ฮาสตัน ผู้บัญชาการภารกิจ CHAPEA หนึ่งในอาสาสมัครที่อยู่บนดาวอังคารจำลอง และถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเป็นเวลา 1 ปี ได้ออกมาเล่าประสบการณ์จากการใช้ชีวิตในนั้นว่า “บางครั้งมันก็น่าเบื่อหน่าย”

  • ความรู้สึกที่เลวร้ายที่สุดก็คือ “ตอนที่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนๆ กำลังประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่คุณไม่สามารถอยู่เคียงข้างพวกเขาได้แบบเรียลไทม์”

one-year-on-mars-inside-nasa-ultra-realistic-isolation-study-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจากประสบความสำเร็จสำหรับ ‘CHAPEA’ (Crew Health and Performance Exploration Analog) ภารกิจแรกจากทั้งหมด 3 ภารกิจในการอาศัยอยู่บนดาวอังคารจำลอง 3 มิติที่ชื่อว่า ‘Mars Dune Alpha’ ขนาด 1,700 ตารางฟุตเป็นเวลามากกว่า 1 ปีเต็มที่ศูนย์อวกาศจอห์นสันของ NASA เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส โดยเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอาสาสมัครทั้ง 4 คนก็ได้ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนอีกครั้ง 

เคลลี ฮาสตัน ผู้บัญชาการภารกิจ CHAPEA หนึ่งในอาสาสมัครที่อยู่บนดาวอังคารจำลอง และถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเป็นเวลา 1 ปี ได้ออกมาเล่าประสบการณ์จากการใช้ชีวิตในนั้นว่า บางครั้งมันก็น่าเบื่อหน่าย” 

“จากการลองใช้ ‘Marswalks’ (เครื่องเล่นจำลองเดินบนพื้นผิวดาวอังคาร) ไปจนถึงการดูแลสวนแนวตั้ง หรือสวนในพื้นที่จำกัด (vertical garden)” แต่ฮาสตันก็แสดงถึงความภาคภูมิใจในความก้าหน้าสำหรับการสำรวจอวกาศ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เธอต้องพิจารณาความเป็นจริงของชีวิตบนดาวอังคารอีกครั้ง 

 “การได้ไปอวกาศจะเป็นโอกาสที่น่าทึ่งมาก แต่ฉันคิดว่าการได้สัมผัสประสบการณ์นี้คงยากกว่าที่จะเข้าใจว่าการต้องจากผู้คนของเราไปนั้นเป็นอย่างไร” ฮาสตัน บอกกับสำนักข่าว AFP 

สำหรับเป้าหมายหลักของภารกิจ 378 วันในครั้งนี้ คือ มนุษย์จะตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมและความท้าทายของการใช้ชีวิตบนดาวอังคารได้อย่างไร รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพของลูกเรือด้วย 

ท้ายที่สุดแล้ว การเดินทางไปกลับดาวอังคารอาจใช้เวลานานกว่า 2 ปี ซึ่งรวมเวลาที่ใช้ในการเดินทาง 6-9 เดือน และระยะเวลาที่ NASA หวังว่าจะใช้บนดาวอังคารด้วย

one-year-on-mars-inside-nasa-ultra-realistic-isolation-study-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Mark Felix / AFP

ฮาสตันเล่าถึงส่วนที่ยากที่สุดว่า “ฉันอาจจะอยู่ในที่อยู่อาศัยนั้นได้อีกปีและรอดมาได้แม้ต้องเผชิญข้อจำกัดอื่นๆ แต่ครอบครัวของคุณ คุณจะคิดถึงครอบครัวของคุณมาก”  

เนื่องจากมีการจำลองเวลาที่ใช้ในการเดินทางของสัญญาณวิทยุระหว่างโลกและดาวอังคาร ซึ่งล่าช้าไป 20 นาทีต่อเที่ยว อีกทั้งยังมีข้อจำกัดบางประการในการส่งและรับวิดีโอเพื่อให้ครอบคลุมถึงข้อจำกัดอัตราการส่งถ่ายข้อมูล (bandwidth) ด้วย 

ฮาสตันบอกอีกว่า ความรู้สึกที่เลวร้ายที่สุดก็คือ “ตอนที่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนๆ กำลังประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่คุณไม่สามารถอยู่เคียงข้างพวกเขาได้แบบเรียลไทม์” 

การติดต่อโดยตรงกับมนุษย์มีเพียงเพื่อนร่วมทีมอีก 3 คนและเจ้าหน้าที่ที่ร่วมดูแลภารกิจเท่านั้น แต่เธอยืนกรานว่าทีมของเธอไม่เคยตกอยู่ในภาวะกระวนกระวายเลย “แน่นอนว่ามีช่วงเวลาที่คุณหงุดหงิด หรือมีอะไรบางอย่างที่คอยกวนใจเรา แต่การสื่อสารในทีมนี้ดีมาก” ฮาสตัน อธิบาย 

“มีหลายวันที่คุณอยากจะออกไปข้างนอกจริงๆ ฉันโกหกไม่ได้ แต่ที่น่าประหลาดใจคือความเจ็บปวดนี้กลับรุนแรงขึ้นในช่วงท้าย” ลูกทีมชาวแคนาดาอีกคน เล่า 

ช่วงเวลาของความเบื่อหน่ายนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเดินทางสำรวจอวกาศระยะไกล และการตัดขาดจากโลกภายนอกเป็นเวลานานนี้เองที่ทำให้ ‘CHAPEA’ แตกต่างจากภารกิจแอนาล็อก (analog missions) ส่วนใหญ่ในอดีต 

สำหรับข้อมูลการรับประทานอาหารของสมาชิกแต่ละคนในทีมก็ได้รับการบันทึกอย่างละเอียด อีกทั้งยังมีการเก็บตัวอย่างเลือด น้ำลาย และปัสสาวะ รวมถึงมีการวิเคราะห์นิสัยการนอนหลับ สมรรถภาพทางกาย และทางสติปัญญาด้วย 

เกรซ ดักลาส นักวิทยาศาสตร์ของ NASA เผยว่า “ระบบอาหารถือเป็นตัวขับเคลื่อนมวลสารที่สำคัญที่สุดในภารกิจของมนุษย์ และเราจะต้องมีทรัพยากรอย่างจำกัดในภารกิจเหล่านี้” 

สำหรับภารกิจ CHAPEA ครั้งที่ 2 ของ NASA ซึ่งเพิ่งปิดรับสมัครไปเมื่อต้นเดือนเมษายน 2024 จะมีกำหนดจัดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 2025 และภารกิจที่ 3 มีกำหนดจะเริ่มขึ้นในปี 2026

Photo by Jose ROMERO / NASA TV / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์