‘สัปปายะสภาสถาน’ รัฐสภาไทยเจ้าของฉายา ‘รัฐสภาหมื่นล้าน’ เตรียมรีโนเวทครั้งใหญ่ทุ่มงบ 150 ล้านบาท หลังเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว ท่ามกลางการตั้งคำถามว่า “การรีโนเวทมันคุ้มค่าหรือ?” “สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุหรือเปล่า?”
ใครจะไปรู้ว่าพื้นที่ทางการเมืองอย่างรัฐสภาจะถูกจัดระเบียบผ่าน ‘สถาปัตยกรรม’ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการทำกิจกรรมทางการเมืองระหว่าง สส. สว. ในสภา ไม่ว่าจะเป็นแปลนที่นั่งในสภา เช่น แบบครึ่งวงกลม แบบเกือกม้า แบบเก้าอี้ประชันหน้า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถสื่อถึงความเป็นประชาธิปไตยได้? หรือแม้แต่ตัวตึกสภาในบางประเทศก็โยงและแฝงถึงประชาธิปไตยด้วยเหมือนกัน
รัฐสภาที่แพงที่สุดและค่าบำรุงแพงสุดในโลก : อาคารรัฐสภาโรมาเนีย, เมืองบูคาเรสต์

‘อาคารรัฐสภาโรมาเนีย’ หรือพระราชวังรัฐสภาแห่งโรมาเนียตั้งอยู่บนเนินเขาดาลุล สปิริ (Dealul Spirii) ในบูคาเรสต์ เมืองหลวงของประเทศ อาคารแห่งนี้มีความสูง 84 เมตร พร้อมด้วยพื้นที่ 365,000 ตารางเมตร และมีทั้งหมด 1,100 ห้อง ใช้เวลาก่อสร้าง 13 ปีตั้งแต่ปี 1984–1997 สถาปัตยกรรมเป็นแบบนีโอคลาสสิกโมเดิร์นนิสต์
รัฐสภาแห่งนี้มีชื่อเสียงในเรื่องการตกแต่งภายในที่วิจิตรงดงาม ภายในอาคารเป็นที่ตั้งของรัฐสภาโรมาเนีย 2 สภาได้แก่ วุฒิสภา (Senat ) และสภาผู้แทนราษฎร (Camera Deputaților ) พร้อมด้วยพิพิธภัณฑ์ 3 แห่งและศูนย์การประชุมนานาชาติ
นอกจากนี้ อาคารดังกล่าวยังเป็นสถานที่ที่เป็นหน้าเป็นตาของโรมาเนีย จึงมักถูกจัดให้เป็นที่ประชุมของสถาบันรัฐและหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น การประชุมและการสัมมนาต่างๆ แต่ก็มีรายงานว่าพื้นที่ 70% ของตัวอาคารนั้นยังคงว่างเปล่า
งบก่อสร้าง : อยู่ที่ 4 พันล้านยูโร (ราว 1.46 แสนล้านบาท) ส่วนค่าใช้จ่ายทั่วไป และค่าบำรุงรักษานั้นคาดว่าเกิน 200 ล้านบาท
รัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก : ‘สัปปายะสภาสถาน’ รัฐสภาไทย, กรุงเทพฯ

‘สัปปายะสภาสถาน’ รัฐสภาหมื่นล้านของไทยได้ชื่อว่าเป็น ‘รัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ใช้สอย 424,000 ตารางเมตร ทำให้สัปปายะสภาสถานแซงหน้าเป็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่พระราชวังรัฐสภาโรมาเนีย
อาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แห่งนี้เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2013 โดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก เดิมจะต้องเปิดใช้งานเมื่อปี 2015 แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงมีการขยายสัญญาการก่อสร้างจำนวน 4 ครั้ง จนต้องเลื่อนมาเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2021
นอกจากนี้ยังมีแนวคิด ‘สถาปัตยกรรมสีเขียว’ (Green Architecture) ด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบอาคาร ปัจจุบันใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
งบก่อสร้าง : 22,987 ล้านบาท แต่หลังจากเปิดใช้งานสภาเต็มรูปแบบเข้าสู่ปีที่ 4 รัฐบาลก็เตรียมรีโนเวทใหม่ทุ่มงบ 150 ล้านบาท
รัฐสภาที่สวยที่สุดในโลก : รัฐสภาฮังการี, เมืองบูดาเปสต์

‘อาคารรัฐสภาฮังการี’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘รัฐสภาแห่งบูดาเปสต์’ ตั้งอยู่บนจัตุรัสคอสซูธ (Kossuth) บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดานูบ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอโกธิก ออกแบบโดย อิมแร ชไตนด์ สถาปนิกชาวฮังการี เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 1885–1904 และเปิดใช้งานในปี 1902 ถือเป็นอาคารที่ใหญ่ที่สุดในฮังการีนับตั้งแต่สร้างเสร็จ มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 18,000 ตารางเมตร พร้อมอาคาร 4 ชั้น 691 ห้อง
รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารรัฐสภาฮังการีได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบโกธิกของศาลาว่าการกรุงเวียนนา เช่น โดม ได้รับอิทธิพลจากโบสถ์ ‘Maria vom Siege’ ในเวียนนา ปัจจุบันยังคงใช้เป็นที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติฮังการี และใช้สำหรับงานพิธีการ รวมถึงการประชุมอื่นๆ
สำหรับงบก่อสร้าง และค่าบำรุงรักษาไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการประมาณว่างบก่อสร้างอยู่ที่ราว 83 ล้านยูโร (ราว 3 พันล้านบาท)
รัฐสภาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก : รัฐสภาไอซ์แลนด์, เมืองธิงเวลลีร์

‘รัฐสภาไอซ์แลนด์’ หรืออัลทิงกิ (Alþingi) เป็น ‘รัฐสภาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก’ ก่อตั้งเมื่อปี 930 ที่เมืองธิงเวลลีร์ (Þingvellir) ห่างจากเรคยาวิก (ซึ่งต่อมากลายเป็นเมืองหลวงของไอซ์แลนด์) ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 45 กิโลเมตร
ภายหลังจากการรวมประเทศกับนอร์เวย์ในปี 1262 ยังคงมีการประชุมที่รัฐสภาอัลทิงกิ เมืองธิงเวลลีร์ อยู่จนถึงปี 1800 และยกเลิกไป ต่อมาในปี 1844 มีพระราชบัญญัติให้นำสภากลับมาทำหน้าที่อีกครั้งหนึ่งแต่ย้ายที่ประชุมไปอยู่ที่เรคยาวิก จากนั้นในปี 1845 สภานิติบัญญัติที่เป็นระบบสภาเดี่ยวก็ถูกนำกลับมาใช้ และหลังจากปี 1874 ไอซ์แลนด์ก็ดำเนินการในสองสภาโดยมีสภาที่สามซึ่งมีบทบาทบทบาทสำคัญจนกระทั่งในปี 1991 สภาอัลทิงกิได้กลับมาเป็นสภาเดี่ยวอีกครั้ง
ส่วน ‘อัลธิงกิชูซิด’ (Alþingishús) อาคารรัฐสภาปัจจุบันที่ใช้อยู่นั้นสร้างขึ้นในปี 1881 เป็นหนึ่งในอาคารหินที่เก่าแก่ที่สุดในไอซ์แลนด์ ตัวอาคารเป็นอาคารคลาสสิกสมัยศตวรรษที่ 19 ออกแบบโดยเฟอร์ดินานด์ เมลดาล สร้างขึ้นโดยใช้หินโดเลอไรต์
ปัจจุบัน อาคารรัฐสภาใช้เป็นห้องประชุม นอกจากนี้ยังใช้เป็นสำนักงานของเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐสภาบางส่วน ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ และสำนักงานของรัฐสภา เป็นต้น
งบการสร้าง และค่าบำรุงรักษา : ไม่ทราบแน่ชัด
รัฐสภาที่แปลกที่สุดในโลก : รัฐสภาแห่งชาติบังกลาเทศ, เมืองธากา

‘ชาตียสังสัทภพัน’ หรืออาคารรัฐสภาแห่งชาติบังกลาเทศ ตั้งอยู่ในเขตเชเรบังลานอกอร์ เมืองธากา สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยบังกลาเทศยังเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน ออกแบบโดย หลุยส์ คาห์น สถาปนิกระดับโลก อาคารดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลุ่มอาคารนิติบัญญัติที่กินพื้นที่มากที่สุดในโลก ด้วยขนาดพื้นที่ 810,000 ตารางเมตร ก่อสร้างขึ้นในปี 1961 และดำเนินเรื่อยมาถึงปี 1971 ก็หยุดชะงักไปชั่วคราว เนื่องจากติดสงครามปลดปล่อยบังกลาเทศ ก่อนจะกลับมาก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปี 1982
อาคารรัฐสภาแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมในศตวรรษที่ 20 ที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตัวอาคารเป็นสไตล์โมเดิร์นที่ผสมผสานลวดลายแบบดั้งเดิม ด้านหน้าอาคารหลายด้านออกแบบเป็นรูปทรงเรขาคณิตซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเบงกอล
งบก่อสร้าง : 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 พันล้านบาท) แต่ค่าบำรุงรักษาไม่ทราบแน่ชัด