โลกนี้มันโหด! โลกนี้มันโหด! มันคงจะจริงอย่างที่หนัง ‘The Maze Runner : ไข้มรณะ’ สร้างสถานการณ์ในอนาคตให้เราได้เห็น แต่ใครจะไปเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีต่อไปจะเกิดโรคระบาดใหญ่แม้ไม่ได้เป็นซอมบี้ แต่เพราะมันมาแบบที่โลกไม่ทันได้ตั้งตัวนี่แหละ และนั่นคือ ‘ความร้ายกาจ’ ของมัน
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งโลกจะเจอโรคระบาดใหญ่ร้ายแรงอีกครั้งเหมือนช่วงศตวรรษที่ 14 ที่ ‘กาฬโรค’ (The Black Death) เคยคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปหลายล้านคน ไม่มีใครคิดว่ามันจะมา และแน่นอน ‘โควิด-19’ มันมาแบบที่คนทั้งโลกไม่ทันได้ตั้งตัวและตั้งรับ กว่าจะเจอสาเหตุ ผลิตวัคซีน หรือวิธีป้องกัน คนทั่วโลกก็ตายนับล้าน ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลภายในเวลาไม่กี่เดือน จนหลายๆ ประเทศต้องล็อคพรหมแดนตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดในประเทศหนักกว่าเดิม
‘โควิด-19’ เป็นเหมือนบทเรียนให้โลกได้ตระหนักว่า ‘อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา!’ และ ‘การระบาดครั้งต่อไปยังไงก็มีอีกแน่ๆ แต่เมื่อไหร่ล่ะ’’ การระบาดของโควิดครั้งนี้จึงทำให้หลายภาคส่วนต่างเตรียมตัวตั้งรับและเตรียมความพร้อมหากว่ามีการระบาดครั้งต่อไป
ว่าแต่ว่าโรคระบาดครั้งต่อไปหน้าค่าตาจะเป็นอย่างไร?
-การระบาดครั้งต่อไปจะมาจากไหน?-
ประเด็นสำคัญคือ หากเรารู้ว่าโรคระบาดครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร และจะเกิดขึ้นเมื่อใด เราก็จะทำอะไรสักอย่างกับมัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้คือ ‘หวังว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุด และเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่เลวร้ายที่สุด’
“แน่นอนว่า จะมีบางคนที่พูดว่า ‘โอ้ นี่อาจทำให้เกิดความตื่นตระหนกได้’ ” เตโวโดรส อัดฮาโนม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวในการอภิปรายหัวข้อ ‘โรคระบาด X’ (โรคที่ยังไม่ทราบแน่ชัดซึ่งคาดว่าจะแพร่กระจายไปทั่วโลก)
แต่เกเบรเยซุสแย้งว่า
“จริงๆ แล้วมันดีกว่าที่จะคาดการณ์ถึงบางสิ่งที่อาจเกิดขึ้น เพราะมันเคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเราหลายครั้ง เราควรเตรียมพร้อมสำหรับมัน เราไม่ควรเผชิญกับสิ่งที่ไม่ได้เตรียมตัวไว้”
ว่าแต่ว่า ‘โรค X’ จะมีหน้าค่าตาแบบไหน?
“มีโรคที่เข้าข่าย 2-3 โรคแบบผสมปนกัน…เราแสดงรายการโรคอุบัติใหม่ทุกปี และโรคเมอร์ส (MERS) อาจเป็นอันดับ 1 ตามด้วยไวรัสซิกา (Zika) และอีโบลา (Ebola) แต่คุณอาจจะเรียก ‘โควิด’ ว่าเป็นโรค X อันดับแรกก็ได้” เกเบรเยซุสอธิบาย
สถานการณ์ที่เป็นไปได้สำหรับการเกิดของโรคระบาดครั้งต่อไปมีตั้งแต่ภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้ไวรัสที่ไม่รู้จักก่อนหน้านี้ถูกปล่อยออกมาจากน้ำแข็งอาร์กติกไปจนถึงโรคที่แพร่กระจายจากสัตว์อย่างน่ากังวล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนและแอฟริกา และการอยู่อาศัยของมนุษย์ที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติ
เป็นไปได้ว่าครั้งต่อไปอาจเป็นโรคติดต่อจาก ‘สัตว์’ สู่ ‘คน’…
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่า ‘การระบาดใหญ่ครั้งต่อไปจะเป็นโรคที่ติดจาก ‘สัตว์’ สู่ ‘คน’ ’ “เรากำลังสร้างสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยการระบาด อาจเป็น 2 ปี หรือ 20 ปี หรืออาจนานกว่านั้น เราต้องระมัดระวัง เตรียมพร้อม และพร้อมที่จะเสียสละอีกครั้ง” นาธาลี แมคเดอร์มอตต์ อาจารย์ด้านโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอนบอกกับสำนักข่าว Sky News
ด้วยอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นจึงส่งผลให้พาหะนำโรคบางชนิด เช่น ยุงที่เป็นพาหะของไวรัสอย่างไข้เลือดออกและมาลาเรีย แพร่กระจายไปยังพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยได้รับผลกระทบมาก่อน หรือแม้กระทั่งการทำลายป่าไม้และการล่าสัตว์ป่า ก็เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสจากสัตว์ป่าสู่มนุษย์ได้ด้วย
-แล้วเราจะใช้ชีวิตผ่านโรคระบาดครั้งต่อไปได้อย่างไร?-
ถ้าเราไม่รู้ว่าโรคระบาดครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร? หรือแม้กระทั่งเมื่อไร? เราจะเตรียมตัวรับมือได้อย่างไร? ในความเป็นจริง มันง่ายกว่าที่คุณคิด
“เราสามารถเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่ไม่รู้บางอย่างได้ มีสิ่งพื้นฐานที่คุณสามารถทำได้ นั่นอาจเป็นการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า หรือดำเนินการวางแผนเตรียมความพร้อม…บทเรียนจากสถานการณ์โควิด โรงพยาบาลของเราถูกขยายเกินขีดความสามารถ ทั้งในแง่ของพื้นที่และบุคลากร…มันอาจจะกระชับช่องโหว่ในห่วงโซ่อุปทานทางการแพทย์ และยอมรับเถอะว่าการระบาดใหญ่ของโควิดเผยให้เห็นข้อบกพร่องบางอย่างในระบบเหล่านั้นอย่างแน่นอน”
เกเบรเยซุสกล่าว
“น่าเสียดายที่ตอนนี้ดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ แม้เราได้เรียนรู้ทุกสิ่งจากบทเรียนโควิดครั้งสำคัญ แต่เรายังไม่พร้อมสำหรับการแพร่ระบาดครั้งต่อไป โรคระบาดครั้งต่อไปอาจเลวร้ายยิ่งกว่าครั้งก่อนๆ เราต้องเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่องสำหรับวิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่ครั้งต่อไป หากเราไม่ดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ เราจะไม่ได้รับการอภัย” จอห์น เบลล์ นักภูมิคุ้มกันวิทยาชั้นนำและหนึ่งในสมาชิกของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านวัคซีนป้องกันโควิดของสหราชอาณาจักรในช่วงที่มีการระบาดใหญ่เขียนบทความลงในสำนักข่าว The Independent เมื่อปีที่แล้ว
ในสหรัฐฯ การสร้างหน่วยงานรัฐบาลใหม่ที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพระดับโลกและการป้องกันโรคระบาดโดยตรงอาจดูเหมือนเป็นก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ผู้แสดงความเห็นหลายคนชี้ให้เห็นว่า ‘โครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่สำหรับการเอาชีวิตรอดจากการระบาดใหญ่แทบไม่เคยได้ยินมาก่อนในประเทศนี้ ดังที่กล่าวไปแล้วว่าไม่มีระบบการรักษาพยาบาลแบบสากล เป็นต้น หรือสิทธิลาป่วยควรได้รับค่าจ้างหรือไม่? อันที่จริง แม้จะอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด ชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 4 ยังถูกบังคับให้เลือกระหว่างลาป่วยหรือจะยอมลดค่าจ้าง 1 วัน
และถึงแม้ว่าจะต้องทนทุกข์ทรมานกับหนึ่งในผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด แต่สหรัฐฯ ในฐานะสถาบันหนึ่งดูเหมือนจะไม่เต็มใจที่จะเรียนรู้อะไรมากมายจากโรคระบาดนี้ โดยการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่ามาตรการต่างๆ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม และการสวมหน้ากากอนามัย ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดการแพร่กระจายของโรคระบาด อีกทั้งมีวัคซีนที่สามารถช่วยชีวิตคนได้เกือบ 20 ล้านคนในปีแรก
-การล็อคดาวน์ครั้งต่อไป!-
โควิด-19 มาแบบที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว และไม่ทันได้ระวังตัวอีกด้วย แล้วโรค X มันจะมีหน้าตาอย่างไรล่ะ? จะซ้ำรอยปี 2020? หรือมันจะมีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมหรือเปล่า?
ในบางแง่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ปี 2019 ก่อนที่พวกเราจะได้ยินคำว่า ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ หรือ ‘โควิด-19’ แต่ไม่ว่ามันจะระบาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม เป็นเรื่องจริงที่หลายประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแพร่ระบาดที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น แอปฯ ติดตามผู้สัมผัสเชื้อไวรัส หรือแม้แต่ตัวเลือกสำหรับการทำงานที่บ้านที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
“สำหรับการล็อคดาวน์ในสหรัฐฯ กรอบเวลาที่แนะนำคือ 130 วันนับจากการตรวจจับเชื้อโรคจนกว่าประชากรสหรัฐฯ ทั้งหมดจะได้รับวัคซีน และ 200 วันจนกว่าจะมีเพียงพอสำหรับทั้งโลก” เดวี่ ศรีดาร์ ประธานฝ่ายสาธารณสุขระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ เขียนในบทความลง The Guardian
ทั้งนี้ การล็อกดาวน์ในอนาคตอาจแตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่คุณอาศัยอยู่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและภาคเอกชน หรือบางทีอาจไม่มีการล็อกดาวน์เลย “การล็อคดาวน์เป็นการตอบสนองเชิงนโยบายที่รุนแรง และเป็นกลไกที่รัฐบาลหลายประเทศใช้เมื่อปี 2020 หลังเผชิญกับการล่มสลายด้านสุขภาพอนามัย แต่ตอนนี้เรามีเวลาในการพัฒนาวิธีการกักตัวที่ดีขึ้น และการเปิดโรงเรียนและธุรกิจอย่างปลอดภัย ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข รวมถึงความรู้เกี่ยวกับการแพร่เชื้อ (เช่น การระบายอากาศที่มากขึ้น) การวินิจฉัย (การทดสอบการติดเชื้อ) และอาศัยข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังการระบาดชุกชุมในชุมชน)” ศรีดาร์กล่าว
สุดท้ายนี้ก็ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้อยู่ดีว่า ‘โรค X’ มันจะมาเมื่อไหร่? แล้วมันจะร้ายแรงกว่าเดิมไหม? หรือบางทีมันอาจมาเร็วกว่าที่เราคิดก็ได้! แต่ทุกๆ อย่างเป็นเรื่องของอนาคต และถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ บทเรียนจากโควิด-19 ครั้งนี้น่าจะทำให้เราตั้งรับกับ ‘โรคระบาด’ ที่อาจกำลังจะมาถึงได้ทัน