มะเร็งปอดยังคงครองแชมป์เป็นมากที่สุด และเสียชีวิตมากที่สุดทั่วโลก แต่สายก้อยดิบ หรือชอบกินปลาน้ำจืดดิบๆก็ต้องระวังพยาธิใบไม้ตับ ที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งตับได้ และน่าตกใจที่โรคนี้มีอัตราผู้เสียชีวิตติดอันดับสามของโรคมะเร็งทั้งหมดเลยทีเดียว
โรคมะเร็งยังคงเป็นภาระทั่วโลก ทำให้จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ โดยมี ‘องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ’ (International Agency for Research on Cancer; IARC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การอนามัยโลก (WHO) รวบรวมข้อมูลภาระโรคมะเร็งทั่วโลก และเผยแพร่ใบแสดงความคิดเห็นและข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับภาระโรคมะเร็งทั่วโลกในปี 2022
มะเร็งเพิ่มขึ้น แต่ชนิดไหนและที่ไหน
การเกิดโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น และบางส่วนนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกสูงขึ้น องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ รวบรวมข้อมูลจากพื้นที่มากมายทั่วโลก เพื่อช่วยสร้างภาพผลกระทบของมะเร็งที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น และนำมาใช้ในการระคมความคิดหากลยุทธ์ในการจัดการปัญหานี้
จากหนึ่งในรายงานขององค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติจากทั่วโลก มะเร็งที่เป็นมากที่สุดสามอันดับแรก ในปี 2022 คือ มะเร็งปอด เต้านม และลำไส้ใหญ่ โดยมะเร็งปอดมีผู้ป่วยใหม่มากที่สุดทั่วโลก 2.5 ล้านคน คิดเป็น 12.4% จากผู้ป่วยมะเร็งใหม่ทั้งหมดทั้งชายและหญิง รองลงมาคือมะเร็งเต้านมในผู้หญิง (2.3 ล้านคน หรือ 11.6%) ตามมาด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ (1.9 ล้านคน หรือ 9.6%) มะเร็งต่อมลูกหมาก (1.5 ล้านคน หรือ 7.3%) และมะเร็งกระเพาะอาหาร (970,000 คน หรือ 4.9%)
ส่วนอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด ก็คือมะเร็งปอด (1.8 ล้านราย หรือ 18.7% ของผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทั้งหมด) ตามมาด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ (900,000 ราย หรือ 9.3%) มะเร็งตับ (760,000 ราย หรือ 7.8%) มะเร็งเต้านม (670,000 ราย หรือ 6.9%) และมะเร็งกระเพาะอาหาร (660,000 ราย หรือ 6.8%)
สำหรับมะเร็งปอด การเกิดโรค การเสียชีวิต และความชุกของโรคสูงสุดอยู่ในทวีปเอเชีย รองลงมาคือยุโรป
ในกลุ่มผู้ชาย มะเร็งที่เป็นมากที่สุดสามอันดับแรก คือ มะเร็งปอด ต่อมลูกหมาก และลำไส้ใหญ่
ส่วนผู้หญิง มะเร็งที่เป็นมากที่สุดสามอันดับแรก คือ มะเร็งเต้านม ปอด และลำไส้ใหญ่

ผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 77% ภายในปี 2050
การเสียชีวิตจากมะเร็งผันแปรอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลก โดยมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่สูงมากกับประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำ
ในประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำ พบผู้ป่วยมะเร็งใหม่ 811,014 คน และเสียชีวิต 543,337 คน ในทางกลับกัน ในประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่สูงมาก พบผู้ป่วยมะเร็งใหม่ 9,296,171 คน และเสียชีวิตเพียง 3,643,502 คน
องค์การอนามัยโลก คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยมะเร็งใหม่ในปี 2050 จะเพิ่มขึ้น 77% รวมทั้งหมด 35 ล้านคน
ขณะที่ประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงจะมีแนวโน้มที่ยังคงประสบกับระดับการเกิดโรคที่สูงที่สุด ส่วนประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำและปานกลางจะพบการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากก่อนหน้านี้
องค์การอนามัยโลกยังประเมินด้วยว่านี่จะนำไปสู่การเสียชีวิตที่สูงขึ้นในประเทศที่มีอัตราการพัฒนามนุษย์ต่ำและปานกลาง ภายในปี 2050 ประเมินว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศเหล่านี้อาจเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น
ภาระโรคมะเร็งเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลากหลาย ซึ่งแถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลกรายงานว่าผู้คนในประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำ อาจได้รับการวินิจฉัยล่าช้าและมีโอกาสน้อยกว่าในการเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ อีกปัญหาหนึ่งคือความสามารถของผู้คนที่จะได้รับการดูแลช่วยเหลือเกี่ยวกับโรคมะเร็งจากภาครัฐ
ในแถลงการณ์นี้ องค์การอนามัยโลกได้อ้างอิงข้อมูลสำรวจจาก 115 ประเทศ เกี่ยวกับความคุ้มครองประกันสุขภาพทั่วโลก ข้อมูลสำรวจนี้พบว่าเพียง 39% ของประเทศเหล่านี้ที่มีบริการสุขภาพที่ครอบคลุมการจัดการมะเร็งขั้นพื้นฐานสำหรับประชากร ที่เรียกว่า แพ็คเกจผลประโยชน์ด้านสุขภาพ
แพ็คเกจผลประโยชน์ด้านสุขภาพ ยังผันแปรอย่างมากระหว่างแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะมีการบริการเกี่ยวกับมะเร็งปอด บริการฉายรังสี และการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจผลประโยชน์ด้านสุขภาพมากกว่าประเทศที่มีรายได้น้อย
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและตัวเลือกในการใช้ชีวิต ยังคงนำไปสู่ผลกระทบต่อการเกิดโรคมะเร็ง เช่น แถลงการณ์องค์การอนามัยโลก ชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของมะเร็งปอดสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องในเอเชีย พวกเขายังตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลนี้สะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุและการเติบโตของประชากร
การใช้แอลกอฮอล์ บุหรี่ และโรคอ้วน มีส่วนทำให้อัตราโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเกิดมลพิษทางอากาศยังมีแนวโน้มที่กลายเป็นปัจจัยหนึ่งด้วย