สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ตอนนี้ไม่รู้ว่าจะลงเอยกันแบบไหน ต่างฝ่ายต่างก็เล่นเกมวัดใจหยั่งเชิงดูว่าฝั่งนั้นจะเข้ามาเจรจาก่อนหรือไม่ เพราะทั้งสหรัฐฯ และจีนก็ไม่อยากถูกมองว่าเป็นฝ่ายอ่อนแอ แม้ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะบอกว่า “ยินดีลดภาษีให้จีน ด้วยความกังวลว่าภาษีที่สูงมากเกินไป จะทำให้พวกเขาทำธุรกิจร่วมกันไม่ได้”
ขณะนี้เศรษฐกิจทั้งสองประเทศกำลังเผชิญความตึงเครียดด้านการค้าอย่างรุนแรง และจีนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมแพ้ซะด้วย ดูเหมือนว่าเกมวัดใจครั้งนี้ ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกอย่างจีนจะเป็นฝ่ายกุมความได้เปรียบถือไพ่เหนือกว่าสหรัฐฯ เสียแล้ว...
‘แร่แรร์เอิร์ธ’ หนึ่งในตัวแปรสำคัญของสมการนี้...
ความจริงข้อหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ หวั่นวิตก และดิ้นรนที่จะลงนามกับยูเครนให้ได้นั้นก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก ‘แร่แรร์เอิร์ธ’ (แร่ธาตุหายาก) ที่จีนได้เปรียบไปเต็มๆ โดยเฉพาะด้าน ‘การผูกขาดการสกัดและกลั่นแร่หายาก’ ซึ่งเป็นธาตุต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง
อย่างที่ทราบกันดีว่าจีนครองห่วงโซ่อุปทานแร่หายากอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ดิสโพรเซียม ใช้ในแม่เหล็กของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงในกังหันลม และอิตเทรียม ใช้เคลือบผิวทนความร้อนสำหรับเครื่องยนต์เจ็ต ขณะเดียวกัน จีนก็ตอบสนองต่อภาษีทรัมป์ด้วยการจำกัดการส่งออกแร่หายาก 7 ชนิด รวมถึงแร่ธาตุบางชนิดที่จำเป็นสำหรับการผลิตชิป AI
ตามการประเมินของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) พบว่าจีนมีสัดส่วนการผลิตแร่หายากประมาณ 61% ของโลก และควบคุมกระบวนการกลั่นถึง 92% แม้ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเวียดนามจะเริ่มทำเหมืองแร่หายากแล้ว แต่คงต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะสามารถตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานนี้ได้
ในปี 2024 จีนยังได้สั่งห้ามส่งออกแร่แอนติโมนี ซึ่งเป็นแร่สำคัญต่อกระบวนการผลิตต่างๆ ทำให้ราคาของแร่ชนิดนี้พุ่งขึ้นมากกว่าสองเท่าท่ามกลางกระแสตื่นตระหนกและการแสวงหาซัพพลายเออร์รายใหม่
ความกังวลก็คือสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับตลาดแร่หายากเช่นกัน ซึ่งจะสร้างความปั่นป่วนอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงการป้องกันประเทศ “ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐฯ นั้นจะรุนแรงมาก” โทมัส ครูมเมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของบริษัท ‘Ginger’ บอกกับ BBC
มุ่งลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ

จีนมักเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘โรงงานของโลก’ แถมในช่วงหลังมานี้ยังได้ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อยกระดับตัวเองให้เป็น ‘โรงงานที่ล้ำหน้า’ กว่าเดิมมาก และเป็นที่รู้ดีว่าจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงนั้นเร่งแข่งขันกับสหรัฐฯ เพื่อชิงความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี ด้วยการลงทุนอย่างหนักในเทคโนโลยีภายในประเทศที่พัฒนาเอง ตั้งแต่พลังงานหมุนเวียน ชิป ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ตัวอย่างเช่น DeepSeek แชทบอตที่ใครๆ ก็ยกให้เป็นคู่แข่งสำคัญของ ChatGPT หรือแม้แต่ในวงการรถยนต์อย่าง BYD ก็แซงหน้า Tesla เมื่อปีที่แล้วกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ขณะเดียวกันก็พบว่า Apple ของอเมริกานั้นกลับสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีนให้กับคู่แข่งท้องถิ่นอย่าง Huawei และ Vivo ด้วย
แถมเมื่อไม่นานมานี้ จีนยังประกาศแผนใช้เงินมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในทศวรรษหน้าเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมด้าน AI
แม้บริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ จะพยายามย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน แต่กลับประสบปัญหาในการหาทรัพยากรพื้นฐานและแรงงานฝีมือในระดับเดียวกันจากที่อื่นได้ยาก
ผู้ผลิตของจีนในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานได้สร้างความได้เปรียบให้กับประเทศมาเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าประเทศอื่นจะสามารถลอกเลียนแบบได้ ความเชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานที่ไร้คู่แข่ง และการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้จีนได้เปรียบในสงครามการค้า หากมองอีกแง่หนึ่งก็อาจพูดได้ว่าจีนเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์นี้มาตั้งแต่สมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งในวาระแรกแล้ว
สหรัฐฯ ยืนอยู่บนเส้นทางการค้าที่ ‘เสี่ยงกว่า’ จีน

ในปีงบประมาณ 2024 จีนมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ เกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.8 ล้านล้านบาท) โดยประมาณ 15% ของการส่งออกทั้งหมดของจีนมุ่งหน้าสู่สหรัฐฯ แน่นอนว่าประเทศที่ขาดดุลการค้าจำนวนมากอย่างสหรัฐฯ จะมีอำนาจต่อรองในสงครามการค้ามากกว่าประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าอย่างอินเดียและจีน ซึ่งการส่งออกของพวกเขาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลนี้
แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประเทศที่ขาดดุลการค้าเป็นฝ่ายต้องการสินค้าจากประเทศที่ได้เปรียบดุลส่งออก และการหยุดซื้อสินค้านั้นกลับยิ่งส่งผลเสียต่อประเทศที่ขาดดุลมากกว่า? รายงานของสำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า กรณีนี้เกิดขึ้นกับจีน ซึ่งสหรัฐฯ พึ่งพาจีนในหลายด้าน เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และแร่ธาตุแปรรูปบางชนิด
บริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ หลายแห่ง เช่น Apple และ Tesla ต่างก็พึ่งพาการผลิตในจีนอย่างมาก บริษัทเหล่านี้เผชิญวิกฤตครั้งใหญ่จากการที่ทรัมป์เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนสูงถึง 145%
ในทางกลับกัน การนำเข้าของจีนจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ฝ้าย เนื้อวัว และเนื้อสัตว์ปีก จึงมีมูลค่าเพิ่มที่ต่ำ
“ความเสี่ยงในความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอยู่ที่ฝั่งสหรัฐฯ มากกว่า...สหรัฐฯ พึ่งพาจีนมากกว่า เพราะจีนสามารถหาสินค้าเกษตรจากที่อื่นได้ง่ายกว่าการที่สหรัฐฯ จะหาทางทดแทนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรจากที่อื่นได้...จีนกำลังซื้อถั่วเหลืองจากบราซิล ดังนั้นในท้ายที่สุด จีนจึงมีอำนาจต่อรองมากกว่า”
— ศาสตราจารย์มาร์ตา เบงโกอา แห่งมหาวิทยาลัยซิตี้นิวยอร์ก อธิบาย
บทเรียนที่จีนได้จากทรัมป์ 1.0

นับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีแผงโซลาร์เซลล์จากจีนในปี 2018 จีนก็เร่งเดินหน้าวางแผนสำหรับอนาคตที่อยู่เหนือระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐฯ
จีนได้ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่รู้จักกันในชื่อ ‘โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative) เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มที่เรียกว่า ‘กลุ่มประเทศโลกใต้’ (Global South)
การขยายการค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และแอฟริกา เกิดขึ้นในขณะที่จีนพยายามลดการพึ่งพาสหรัฐฯ
เกษตรกรอเมริกันเคยเป็นซัพพลายเออร์ถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของจีนถึง 40% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 20% โดยหลังสงครามการค้าครั้งล่าสุด จีนก็เร่งปลูกถั่วเหลืองในประเทศและนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลในปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของจีน
สหรัฐฯ ไม่ใช่ตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของจีนอีกต่อไปแล้ว!!! และตำแหน่งนี้ตกไปเป็นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2023 จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศต่างๆ ถึง 60 ประเทศ ซึ่งมากเป็นสองเท่าของสหรัฐฯ
แม้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกจะยังคงเป็นคู่ค้าสำคัญของจีน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สหรัฐฯ จะกดดันจีนให้จนมุม
จากรายงานที่ระบุว่าทำเนียบขาวจะใช้การเจรจาการค้าทวิภาคีเพื่อแยกจีนออกไป จีนก็เตือนประเทศต่างๆ ว่า ‘ไม่ควรบรรลุข้อตกลงโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของจีน’ ซึ่งสำหรับหลายประเทศในโลกแล้ว นั่นเป็น ‘ทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้’
“เราเลือกไม่ได้ และเราจะไม่มีวันเลือก (ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ)” เตงกู ซาฟรูล อาซิซ รัฐมนตรีการค้าของมาเลเซีย กล่าวกับสำนักข่าว BBC
อย่างน้อย ‘จีน’ ก็มีขีดความอดทนรับความเจ็บปวดได้ดีกว่าในระดับหนึ่ง
จีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก นั่นหมายความว่า ‘จีนสามารถรับมือกับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีได้ดีกว่าประเทศเล็กๆ อื่น ๆ’ ด้วยจำนวนประชากรมากกว่าพันล้านคน จีนยังมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ที่ช่วยลดแรงกดดันให้กับผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาษี
ทว่าจีนยังคงประสบปัญหา เพราะชาวจีนยังใช้จ่ายไม่มากพอ แต่ด้วยมาตรการจูงใจที่หลากหลาย ตั้งแต่เงินอุดหนุนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ไปจนถึงรถไฟสีเงิน (สร้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อความสะดวกสบายของผู้สูงอายุ) สถานการณ์นี้ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ มาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์ยังทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีแรงจูงใจมากขึ้นในการปลดล็อกศักยภาพการบริโภคภายในประเทศ
“ผู้นำจีนอาจยินดีที่จะทนกับความเจ็บปวดเพื่อหลีกเลี่ยงการยอมจำนนต่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นการรุกรานจากสหรัฐฯ” แมรี่ เลิฟลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าสหรัฐฯ-จีน จากสถาบันวิจัยปีเตอร์สันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว
จีนยังมีขีดความอดทนต่อความเจ็บปวดที่สูงกว่าจากระบอบการปกครองแบบเผด็จการ เพราะไม่ต้องกังวลกับความคิดเห็นของประชาชนในระยะสั้น แต่ถึงกระนั้น ความไม่สงบก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ในเวลานี้ชาวจีนมีความไม่พอใจอยู่แล้วจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาคนตกงาน อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากมาตรการขึ้นภาษีถือเป็นอีกหนึ่งแรงกระแทกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับจีนที่รุ่งเรืองมาโดยตลอด
ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ได้ใช้กระแสชาตินิยมสร้างความชอบธรรมให้กับมาตรการตอบโต้ทางภาษี ขณะเดียวกัน สื่อของรัฐก็เรียกร้องให้ประชาชน ‘ร่วมฝ่าฟันพายุไปด้วยกัน’